xs
xsm
sm
md
lg

ฎีกาคดีโจรดูดเงิน แบงก์รับผิดครึ่งเดียว เหยื่อต้องไม่ทำสิ่งนี้!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



รายการ “ถอนหมุดข่าว” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APP สถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูป NEWS1 และเฟซบุ๊กแฟนเพจ NEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันพุธที่ 1 มีนาคม 2566 นำเสนอรายงานพิเศษ ฎีกาคดีโจรดูดเงิน แบงก์รับผิดครึ่งเดียว เหยื่อต้องไม่ทำสิ่งนี้!?



คำถามที่หลายๆ คน ต้องการคำตอบที่ชัดเจนที่สุด ก็คือ คนที่พลาดท่าถูกโจรออนไลน์ ดูดเงินจากบัญชีธนาคารไป

เขาจะได้รับการคืนเงินจากธนาคาร ครบทุกบาททุกสตางค์ หรือว่าได้รับคืนแค่บางส่วนจากธนาคาร หรือว่าธนาคารไม่ยอมชดใช้ให้เลยแม้แต่บาทเดียว

ก็เป็นข้อสงสัยที่คำตอบออกได้ 3 หน้า ซึ่งเชื่อว่าประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ ก็คงไม่มีใครรู้จริงในเรื่องนี้ ได้แต่คาดเดากันไปเอง

ทีมงาน “ถอนหมุดข่าว” ได้รับคำตอบที่แน่นอนในเรื่องนี้มาแล้ว เชื่อถือได้ 100% เพราะปรากฏเป็นคำพิพากษา ศาลฎีกาที่ 6233/2564 คดีที่มีผู้เสียหาย โดนโจรไซเบอร์หลอกดูดเงินไปจากบัญชีธนาคารรวม 12 ครั้ง เป็นเงิน 1,099,999 บาท

เหตุเกิด ระหว่างเวลา 23.41 น. ของวันที่ 7 กรกฎาคม 2560 ถึงเวลา 02.01 น. ของวันที่ 8 กรกฎาคม 2560

ผู้เสียหายดำเนินการฟ้องร้องธนาคาร เพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย มีการสู้คดีกันถึง 3 ศาล โดยศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ตัดสินให้ธนาคารชนะ ไม่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับลูกค้า เจ้าของบัญชี

แต่ศาลฎีกา มีคำพิพากษาสิ้นสุด ตัดสินให้ทั้งธนาคารและลูกค้า ต่างมีความผิดด้วยกันทั้งคู่ ซึ่งฎีกาของคดีนี้ที่ออกมาเมื่อปี 2564 จะเป็นบรรทัดฐานของคดีในลักษณะเดียวกันต่อไป

เมื่อต่างมีความผิดทั้งคู่ ศาลฎีกาจึงสั่งให้ธนาคารชดใช้เงินให้กับผู้เสียหายแค่ 550,000 บาท หรือจ่ายแค่ครึ่งเดียวของยอดเงินที่โดนโจรฉกไป

โดยศาลได้ชี้ถึงความบกพร่องของฝ่ายธนาคารว่า แม้ธนาคารจะส่งข้อความแจ้งเตือนไปยังลูกค้าทุกครั้ง ขณะถูกคนร้ายโอนเงินออกจากบัญชี ทั้ง 12 ครั้ง

รวมถึงพนักงานธนาคาร ยังโทรไปหาลูกค้าเองด้วย หลังจากการโอนเงินครั้งที่ 12 สำเร็จไปแล้ว

แต่ธนาคาร ในฐานะจำเลยคดีนี้ ก็ไม่ได้แสดงให้ศาลเห็นถึงมาตรการในการป้องกัน การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ชอบดังกล่าว

การส่งข้อความเตือน และมีพนักงานธนาคารโทร.ไปเตือนเองด้วย ถือว่าเป็นมาตรการที่ไม่เพียงพอ ในมุมมองของศาล

มากกว่านั้น โจทก์ในคดีนี้ ไม่ใช่ลูกค้าธนาคารรายแรก ที่โดนหลอกลวงในลักษณะเดียวกัน แต่ยังมีอีกจำนวนมาก อันแสดงว่าธนาคารก็ทราบถึงพฤติกรรมหลอกลวงแบบนี้มาก่อน

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายลูกค้าเองก็ถือว่าผิดด้วย ไม่ใช่ไม่ผิด เพราะศาลฟันธงฉับ ทั้งลูกค้าและธนาคาร ต่างมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหาย ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

เหตุเพราะตัวลูกค้าเอง ซึ่งทำธุรกรรมทางการผ่านเงินผ่านอินเตอร์เน็ต มานานนับสิบปีแล้ว ย่อมต้องรู้ถึงคำเตือนให้ระวังมิจฉาชีพออนไลน์ทั้งหลายเป็นอย่างดี

แต่ในคดีนี้ ลูกค้าธนาคารกลับพลาดให้กับการหลอกลวง ยอมกรอกข้อมูลส่วนบุคคล ตลอดจนรหัสผ่าน หรือแม้แต่เลข OTP ให้ไปจนหมด จนโจรสามารถดูดเงินได้สำเร็จ

เพราะเหตุนี้ ศาลจึงสั่งให้ธนาคารชดใช้ความเสียหายให้ลูกค้ารายนี้ แค่ครึ่งเดียวเท่านั้น

คดีนี้จึงใช้เป็นบรรทัดฐานได้เลย สำหรับใครก็ตามที่พลาดท่ากรอกข้อมูลสำคัญให้โจร โดยไม่ระมัดระวัง ก็เลิกหวังว่าจะได้รับการชดเชยเยียวยาจากธนาคารแบบเต็มร้อย ธนาคารเองก็คงใช้คดีนี้เป็นคดีตัวอย่าง เพื่อชดใช้ให้แค่ครึ่งเดียว

ลูกค้าธนาคาร จะได้รับการชดใช้ค่าเสียหายเต็มเม็ดเต็มหน่วย ต้องเป็นกรณีที่เป็นความผิดพลาดของธนาคารเอง เช่น มีพนักงานฉ้อฉลแอบขโมยเงินไปจากบัญชี ธนาคารจะรีบคืนเงินให้ทันที แล้วไปเช็กบิลเรียกค่าเสียหายกับ “คนใน” ที่ก่อทุจริตแทน

วิธีการสร้างอีเมล์หรือเว็บไซต์มาล่อหลอกดูดเงิน ฝรั่งเรียกว่า “ฟิชชิ่ง” เพราะมันเหมือนการอ่อยเหยื่อตกปลา เหยื่อที่ใช้โดยทั่วไปก็คือ ความโลภ ด้วยข้อเสนอลดแลกแจกแถม มีของรางวัลจะมอบให้ อีกแบบก็คือ แจ้งข่าวร้าย ขู่ให้เหยื่อตื่นตระหนก
หน้าตาของอีเมล์หรือเว็บไซต์ปลอม จะสร้างมาอย่างแนบเนียน หากเหยื่อขาดสติเมื่อไรเป็นเสร็จโจร

ทั้งนี้ วิธีการฟิชชิ่งนี้ บรรดาแฮกเกอร์คิดค้นมานานมาร่วม 30 ปีแล้ว แต่จนถึงปัจจุบัน ก็ยังใช้การได้ดีอยู่

นาทีทองของการฟิชชิ่ง เกิดขึ้นช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด 19 ซึ่งคนทั่วโลก เน้นทำงานผ่านอินเตอร์เน็ต ปรากฏว่าช่วงนั้น กูเกิลต้องคอยบล็อกอีเมล์ฟิชชิ่งวันละกว่า 100 ล้านฉบับ

เพื่อแลกกับความสะดวกสบายทางการเงินผ่านมือถือ ประชาชนทุกคนก็ต้องเพิ่มสติให้มากขึ้น โลภให้น้อยลง ถ้าไม่อยากจนลงในพริบตา

--------------------------------
**หมายเหตุ
ดาวโหลดแอป Sondhi App ได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore : https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play : https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android

สมัครสมาชิกได้แล้ววันนี้
รายเดือนเพียง เดือนละ 99 บาท
รายปี 990 บาท (10 เดือน แถม 2 เดือน )

ถ้ามีปัญหาการใช้งาน app หรือการสมัครสมาชิกใน app ติดต่อสอบถามได้ที่ Line id : @sondhitalk หรือ https://lin.ee/Skns1k1


กำลังโหลดความคิดเห็น