MGR Online - อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิฯ เผย พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มีผลใช้บังคับแล้ว 22 ก.พ.66 ยกเว้นมาตรา 22-25 เริ่ม 1 ต.ค.นี้
วันนี้ (23 ก.พ.) นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เปิดเผยว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มีผลใช้บังคับอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 22 ก.พ.66 ยกเว้นเพียงมาตรา 22 – 25 จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.66 เป็นต้นไป ทั้งนี้ พระราชบัญญัติฯ ประกอบด้วย 5 หมวด 1 บทเฉพาะกาล รวม 43 มาตรา ซึ่งครอบคลุมฐานความผิดที่สำคัญ 3 ฐาน ได้แก่ การกระทำทรมาน การกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการกระทำให้บุคคลสูญหาย รวมถึงบทกำหนดโทษ มาตรการดำเนินคดี มาตรการป้องกัน มาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำความผิดดังกล่าว นอกจากนั้น พระราชบัญญัติฯ ยังกำหนดให้มีกลไกคณะกรรมการซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน และมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม แพทย์ ทนายความ และสื่อมวลชนเข้ามามีส่วนร่วมกำกับดูแลการขับเคลื่อนพระราชบัญญัติฯ
อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เน้นย้ำว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ฉบับนี้มีความสำคัญมาก ซึ่งทุกหน่วยงานจะต้องมีการปรับขั้นตอนการดำเนินงานให้สอดรับกับพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว โดยที่ผ่านมากรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่มีหน้าที่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติฯ อย่างต่อเนื่อง จัดทำระเบียบกลางเพื่อวางแนวปฏิบัติ รวมถึงอบรมให้ความรู้แก่หน่วยปฏิบัติทุกหน่วยผ่านทางช่องทางต่างๆ ทั้งในรูปแบบ Online และ Onsite ตลอดจนเผยแพร่ความรู้ผ่านทางสื่อ Social Media
“นอกจากนั้น ในส่วนของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้มีการปรับโครงสร้างภายในองค์กร โดยมีการจัดตั้งสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายขึ้น เพื่อดูแลการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติฯ โดยเฉพาะ และเป็นที่น่ายินดีว่าหลายหน่วยงานได้มีการปรับโครงสร้างภายในองค์กร ปรับระเบียบและแนวปฏิบัติ รวมถึงอบรมเจ้าหน้าที่ภายในหน่วยงานให้มีความรู้ความเข้าใจพร้อมปฏิบัติตามพระราชบัญญัติฯ ด้วย และต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมกันผลักดันให้พระราชบัญญัติฯ มีผลใช้บังคับ และมีความเชื่อมั่นว่าความร่วมมือร่วมใจอย่างเข้มแข็งจากทุกภาคส่วน จะเป็นพลังในการขับเคลื่อนให้การดำเนินงานตามพระราชบัญญัติฯ เกิดผลอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นรูปธรรม และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนต่อไป”