ศาลฎีกาพิพากษา "กนกวรรณ วิลาวัลย์" อดีตรมช.ศึกษาธิการ ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง รุกป่าเขาใหญ่ จ.ปราจีนบุรี สั่งห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองตลอดชีวิต และตัดสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี
วันนี้ (22 ก.พ.) ที่ศาลฎีกา สนามหลวง ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ คมจ.2/2565 ระหว่าง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ผู้ร้อง นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้คัดค้าน เรื่อง การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
คดีนี้ ป.ป.ช.ผู้ร้องยื่นคำร้องสรุปว่า เมื่อวันที่ 14 ก.พ.2545 ผู้คัดค้านดำเนินการขอออกโฉนดที่ดินในพื้นที่หมู่ที่ 15 ต.เนินหอม อ.เมืองปราจีนบุรี จ.ปราจีนบุรี เนื้อที่ 30-2-80.5 ไร่ โดยอ้างว่าซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวมาจาก นายทิว มะลิซ้อน เมื่อปี 2533 แต่นายทิวไม่มีตัวตน ทั้งไม่เคยมีการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และแนวเขตป่าไม้ถาวรป่าเขาใหญ่ ทำให้รัฐสูญเสียที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติให้แก่ผู้คัดค้าน การออกโฉนดที่ดินเลขที่ 41158 ต.เนินหอม อ.เมืองปราจีนบุรี จ.ปราจีนบุรี จึงมิชอบด้วยกฎหมาย และเป็นความเสียหายร้ายแรง ผู้คัดค้านยังคงยึดถือครอบครองที่ดินต่อเนื่องตลอดมาจนกระทั่งเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ป.ป.ช.ผู้ร้องจึงขอให้ศาลฎีกา มีคำพิพากษาหรือคำสั่งว่า ผู้คัดค้านฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้ผู้คัดค้านหยุดปฏิบัติหน้าที่นับแต่วันที่ศาลฎีการับคำร้องจนกว่าจะมีคำพิพากษา ให้ผู้คัดค้านพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่ เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้าน และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาไม่เกินสิบปี ตาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 235 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 87 และมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ข้อ 8 และข้อ 11, 17 ประกอบข้อ 27
โดยเมื่อวันที่ 26 ส.ค.2565 ศาลฎีกามีคำสั่งให้รับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย และมีคำสั่งให้ นางกรกวรรณ ผู้คัดค้านหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำพิพากษา ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 81 ประกอบมาตรา 87 วรรคสาม และระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าด้วยการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง พ.ศ. 2561 ข้อ 12 วรรคสอง และมีการพิจารณาคดีครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 65 และมีการพิจารณาคดีเรื่อยมาจนเสร็จสิ้นกระบวนการ
วันนี้ทางปปช.ผู้ร้อง เดินทางมาศาล เเต่นางกนกวรรณ ไม่ได้เดินทางมาศาล
ศาลฎีกาพิจารณาเเล้วที่ ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านให้ข้อมูลในการสอบสวนสิทธิ์ผิดพลาดโดยแจ้งนามสกุลนายทิว เป็น มะลิซ้อน นายขอดและนางโม่งก่นสร้างท่าประโยชน์ในที่ดินก่อนปี 2496 แล้วโอนต่อนายมี นายมีขายให้นายทิว แล้วนายทิวขายให้นายสุนทร จากนั้นนายสุนทรให้ผู้คัดค้านเข้าทำประโยชน์ แนวเขตอุทยานแห่งชาติที่ขีดครั้งที่ 3โดยนายคณิต เพชรประดับ ทำไว้ถูกต้องแล้ว ผู้คัดค้านมีคุณสมบัติถูกต้องตามระเบียบและกฎหมาย ขอให้ยกคำร้อง
ต่อมาศาลฎีกาไต่สวนพยานผู้ร้องวันที่ 22,28 ธ.ค.65 กับไต่สวนพยานผู้คัดค้านวันที่ 10 ม.ค.2566
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาแรกว่า ผู้คัดค้านซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กระทําการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ตามมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 11ประกอบข้อ 27 วรรคสอง หรือไม่ เห็นว่า การกระทำอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ ส่วนรวมนั้น ต้องมีสถานการณ์หรือการกระทำที่บุคคลในองค์กรหรือหน่วยงานนั้น ๆ มีประโยชน์ส่วนตน อันอาจ กระทบต่อการวินิจฉัยสั่งการหรือการใช้ดุลพินิจในการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ในตำแหน่งของบุคคลนั้น โดยอาจ เป็นอำนาจหน้าที่ในการกำกับ ดูแล ควบคุม หรือตรวจสอบในเรื่องที่ตนมีประโยชน์เกี่ยวข้อง เมื่อผู้คัดค้านไม่มี อำนาจหน้าที่โดยตรงในการกำกับ ดูแล ควบคุม หรือตรวจสอบการปฏิบัติงานของกรมที่ดิน กรมป่าไม้ และกรม อุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงฟังไม่ได้ว่าการกระทำของผู้คัดค้านเป็นกระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ตามมาตรฐานทางจริยธรรม ฯ ข้อ 13ประกอบข้อ 27 วรรค สอง
ปัญหาต่อไปว่า ผู้คัดค้านแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบเพื่อตนเองอันถือว่ามีลักษณะร้ายแรง ตามมาตรฐาน ทางจริยธรรมฯ ข้อ 8ประกอบข้อ27 วรรคหนึ่ง และผู้คัดค้านกระทำการที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ ของการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อันถือว่ามีลักษณะร้ายแรง ตามมาตรฐานทาง จริยธรรมฯ ข้อ 17ประกอบข้อ 27วรรคสอง หรือไม่
ผู้คัดค้านอ้างข้อความต่อเจ้าหน้าที่สอบสวนสิทธิว่า ผู้คัดค้าน ได้ที่ดินมาโดยการซื้อมาจากนายทิว มะลิซ้อน เมื่อปี 2533 และผู้คัดค้านทำประโยชน์ในที่ดินด้วยการทำสวน ปลูก มะม่วง กระท้อน และพืชตามฤดูกาลเต็มทั้งแปลง เห็นว่า ผู้คัดค้านให้การและเบิกความในชั้นไต่สวนว่า นายทิว มะลิทอง ขายที่ดินที่ครอบครองทำประโยชน์ให้นายสุนทร วิลาวัลย์ บิดาผู้คัดค้าน หลังจากนั้นนายสุนทรให้ผู้คัดค้านเข้าครอบครองทำประโยชน์ ซึ่งเท่ากับผู้คัดค้านยอมรับว่านายทิว มะลิซ้อน ไม่มีตัวตนอยู่จริง ผู้คัดค้านรู้อยู่แต่แรกแล้วว่า เจ้าของที่ดิน คือ นายทิว มะลิทอง และนายทิว มะลิทองขายที่ดินให้นายสุนทร มิใช่ผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านชอบที่ต้องแจ้ง ข้อมูลต่อเจ้าหน้าที่ให้ตรงต่อความจริงว่าผู้คัดค้านมิได้เป็นผู้ซื้อที่ดินมาด้วยตนเอง หากแต่นายสุนทรเป็นผู้ซื้อที่ดิน ที่ผู้คัดค้านเบิกความว่า ผู้คัดค้านครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินโดยปลูกต้นไผ่ตง ต้นกระพ้อ พืชผัก สวนครัว ต้นมะม่วง ต้นกระท้อน และพืชอื่นตามฤดูกาล เมื่อพิจารณาตามรายงานการวิเคราะห์ภาพถ่ายทาง อากาศบริเวณตำบลเนินหอม ที่ใช้ภาพถ่ายทางอากาศในปี 2496,2510 2516,2532,2546 เเละ2553
ประกอบสำรวจข้อมูลภาคสนามวันที่ 4 -6 เม.ย.2565 ปรากฏว่าไม่พบการ ทไประโยชน์ใด ๆ ในพื้นที่มีสภาพเป็นป่ารกทึบ และหินโผล่ ซึ่งการตรวจสอบดังกล่าวมีนายธวัชชัย ศรีสมบูรณ์ ตัวแทนของผู้คัดค้านเข้าร่วมตรวจสอบที่ดิน ทั้งนักวิชาการแผนที่ภาพถ่ายเชี่ยวชาญ สำนักสำรวจด้านวิศวกรรม และธรณีวิทยา กรมชลประทาน เบิกความว่า ไม่พบร่องรอยการทำสวน ปลูกไม้ผล ในช่วงปีใด ๆ ทั้งสิ้น บ่งชี้ให้เห็น ว่าในช่วงระยะเวลาที่ผู้คัดค้านอ้างว่านายขอด นายมี นายทิว และตัวผู้คัดค้านเองครอบครองที่ดินต่อเนื่องกันมานั้น ที่ดินยังมิได้มีการเข้าทำประโยชน์เป็นหลักฐานมั่นคงและมีผลผลิตอันเป็นประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ อันเป็นเงื่อนไขการ ออกโฉนดที่ดินตามข้อ 5 แห่งระเบียบของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ซึ่งสอดคล้องกับ คไเบิกความของนายหอมและนายทิวว่า สภาพที่ดินมีลักษณะเป็นหินกรวดผสมดินลูกรังบางส่วน และรายงานการ วิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศและแผนที่ ที่ผู้คัดค้านอ้างก็ไม่ได้ระบุถึงต้นไผ่ ต้นกระพ้อ ต้นมะม่วง หรือต้นกระท้อน และการวิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศกับการเดินสำารวจที่ดิน ฝ ไม่พบไม้แต่งล้อม ต้นไผ่ และต้นกระพ้อแต่อย่างใด ที่ผู้คัดค้านอ้างว่าได้ให้นายหอมทำประโยชน์ในที่ดิน
จึงรับฟังเป็นความจริงไม่ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ขณะที่ผู้คัดค้านขอออกโฉนดที่ดิน ผู้คัดค้านไม่ได้ครอบครองทำ ประโยชน์ในที่ดิน ผู้คัดค้านจึงไม่ได้สิทธิครอบครองในที่ดิน การที่ผู้คัดค้านให้ถ้อยคำต่อเจ้าหน้าที่สอบสวนสิทธิว่า เมื่อปี 2533 ผู้คัดค้านซื้อที่ดินมาจากนายทิว โดยนายทิว สร้างมาเมื่อ ประมาณปี 2500แล้วผู้คัดค้านครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตลอดมา จึงฟังได้ว่าเป็นการให้ถ้อยคำเท็จ ผู้คัดค้านจึงมิใช่เป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติที่ขอออกโฉนดที่ดินตามมาตรา 58ทวิ (3) แห่งประมวลกฎหมายที่ดินฯ การที่กรมที่ดินออกโฉนดที่ดินเลขที่ 43358ให้ผู้คัดค้านจึงเป็นการไม่ชอบ เมื่อผู้คัดค้านขอออกโฉนดที่ดินโดยไม่มีคุณสมบัติตามกฎหมาย แล้วได้โฉนดที่ดิน และ ยังคงถือครองโฉนดที่ดินดังกล่าวมาจนถึงวันที่ผู้คัดค้านดำรงรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการตลอดมาจนถึง ปัจจุบัน จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบเพื่อตนเองตามมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 8 แล้ว และถือว่ามี ลักษณะร้ายแรงตามมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 27 วรรคหนึ่ง ทั้งการกระทำดังกล่าวส่งผลกระทบต่อ ภาพลักษณ์และเกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงของผู้คัดค้านที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงศึกษาธิการ แม้มิได้เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ของตนโดยตรงก็ตามเพราะอาจทําให้สาธารณชนขาดความเชื่อถือศรัทธาต่อการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการของผู้คัดค้าน จึงเป็นการก่อให้เกิด ความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการด้วย เมื่อการกระทำดังกล่าวถือได้ว่าก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงในการบังคับใช้ กฎหมาย จึงเป็นกรณีมีลักษณะร้ายแรงตามมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 27วรรคสอง พิพากษาว่า ผู้คัดค้านฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 234วรรคหนึ่ง (1) วรรคสาม และวรรคสี่ ประกอบ พรป.ว่าก้วยการป้องกันปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561มาตรา 87 ประกอบมาตรา 81และ มาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 8ประกอบข้อ 27 วรรคหนึ่ง และข้อ 17 ประกอบข้อ 27วรรคสอง ให้ผู้คัดค้านพ้น จากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการนับแต่วันที่ 26 ส.ค.2565 อันเป็นวันที่ศาลฎีกามีคำสั่ง ให้ผู้คัดค้านหยุดปฏิบัติหน้าที่ ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้านตลอดไป รวมถึงไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่ง ทางการเมืองใด ๆ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๓๕ วรรคสาม วรรคสี่ และเพิกถอนสิทธิ เลือกตั้งของผู้คัดค้านมีกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษา คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก