"โชติวัฒน์"ปธ.ศาลฎีกาตรวจเยี่ยมศาลในจังหวัดน่าน เผยมีจุดเด่นเรื่องการท่องเที่ยว มีการเติบโตทางเศรษฐกิจทำให้ปริมาณข้อพิพาทและคดีสูงขึ้น พร้อมให้กำลังใจผู้พิพากษา ข้าราชการและบุลากรผู้ปฏิบัติงานและเร่งจัดตั้งศาลแขวงปัว
เมื่อวันที่ 3 ก.พ. นายโชติวัฒน์ เหลืองประเสริฐ ประธานศาลฎีกา พร้อมคณะ เดินทางตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายแก่ผู้พิพากษา ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ผู้พิพากษาสมทบ
และผู้ประนีประนอม ในศาลจังหวัดน่าน ศาลจังหวัดน่าน สาขาปัว และศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดน่าน โดยมีนายณัฐสิทธิ์ ม่วงวิโรจน์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดน่าน และนางสาววชิราพรรณ ณ กาฬสินธุ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดน่าน พร้อมคณะให้การต้อนรับ
ประธานศาลฎีกา กล่าวว่าน่านเป็นจังหวัดขนาดไม่ใหญ่นักแต่มีจุดเด่นเรื่องการท่องเที่ยว และมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมค่อนข้างสูง ส่งผลให้ปริมาณข้อพิพาทและคดีที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลมีมากขึ้น ศาลจังหวัดน่านและศาลจังหวัดน่าน สาขาปัว จึงต้องเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการคดีที่เพิ่มขึ้น โดยประธานศาลฎีกาให้ข้อสังเกตว่า จากสถิติคดีในปีงบประมาณที่ผ่านมาพบว่า ยังคงมีคดีค้างพิจารณาเกิน 1 ปี และเกิน 2 ปีอยู่บ้าง ซึ่งไม่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2565 ที่มีผลใช้บังคับแล้ว ดังนี้ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลพึงวางแผนในการบริหารจัดการคดีให้รัดกุมขึ้น โดยเห็นว่าคดีส่วนมากที่เข้าสู่การพิจารณาเป็นคดีจัดการพิเศษซึ่งไม่มีความยุ่งยาก จึงควรพิจารณาคดีให้แล้วเสร็จอย่างรวดเร็วที่สุดเพื่อที่จะมีเวลาในการบริหารจัดการคดีที่มีความยุ่งยากและสลับซับซ้อนเพิ่มขึ้น อีกทั้งพบว่าการหมุนเวียนผู้พิพากษาไปปฏิบัติงานที่ศาลจังหวัดน่าน สาขาปัว นั้น
ส่งผลให้ขาดความต่อเนื่องในการทำงานและการบริหารจัดการคดี ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลควรประชุมร่วมกับผู้พิพากษาเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว อย่างไรก็ดี สำนักงานศาลยุติธรรมอยู่ในระหว่างดำเนินการจัดตั้งศาลแขวงปัว ซึ่งขณะนี้ได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดินราชพัสดุจากสำนักงานธนารักษ์พื้นที่น่านสำหรับก่อสร้างอาคารที่ทำการแล้ว
ส่วนศาลเยาวชนและครอบครัวเป็นศาลชำนัญพิเศษมีภารกิจที่แตกต่างจากศาลจังหวัดและศาลแขวง ส่วนมากมักมีปริมาณคดีไม่มาก การบริหารจัดการคดีจึงควรแล้วเสร็จภายใน 6 เดือนและสำหรับคดีที่มีความยุ่งยากต้องแล้วเสร็จไม่เกิน 1 ปี
ตามกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด นอกจากภารกิจในการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชน
ที่กระทำความผิดให้กลับคืนสู่สังคมได้อย่างมีคุณภาพแล้ว ศาลเยาวชนและครอบครัวยังมีภารกิจหลักที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การทำโครงการและกิจกรรมสาธารณประโยชน์เพื่อประชาชน
ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจึงควรประชุมปรึกษาร่วมกับผู้พิพากษาสมทบซึ่งล้วนแต่เป็นบุคลากรผู้ทรงคุณวุฒิ มีประสบการณ์ ความรู้ ความเชี่ยวชาญในเรื่องเกี่ยวกับคดีเยาวชนและครอบครัวและสภาพเศรษฐกิจสังคมในท้องที่ เพื่อระดมความคิดเกี่ยวกับแนวทางและรูปแบบการทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ อันจะเป็นประโยชน์กับสังคม รวมทั้งส่งเสริมภาพลักษณ์และชื่อเสียงของศาลยุติธรรมอีกด้วย
ประธานศาลฎีกา ยังกล่าวให้กำลังใจผู้พิพากษาและข้าราชการเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานว่า ศาลจังหวัดน่าน สาขาปัวนั้น แม้จะมีข้อขัดข้องในเรื่องอาคารสถานที่และอัตรากำลังบุคลากรอยู่บ้าง แต่หากทุกคนร่วมมือร่วมใจกันปฏิบัติหน้าที่และมีการบริหารจัดการคดีที่ดีก็ย่อมสามารถปฏิบัติภารกิจให้สำเร็จลุล่วงและก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนสูงสุด
โดยการตรวจเยี่ยมศาลในวันนี้ประธานศาลฎีกาได้ประชุมมอบนโยบายแก่ผู้พิพากษา ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ตลอดจนคณะผู้พิพากษาสมทบ ผู้ประนีประนอม และหลังเสร็จการประชุมประธานศาลฎีกาได้พบปะและให้กำลังใจผู้พิพากษาที่ห้องพัก รวมทั้งทักทาย พูดคุย ให้กำลังใจ และรับฟังปัญหาข้อขัดข้องจากเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานตามส่วนงานต่าง ๆ และขอให้ทุกคนทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อให้บริการประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
หลังจากนั้นช่วงบ่าย เวลา 15.00 – 15.30 น. ประธานศาลฎีกา พร้อมคณะ ได้เดินทางไปสำรวจบริเวณพื้นที่ซึ่งจะดำเนินการก่อสร้างอาคารศาลแขวงปัว ซึ่งนายธีรศักดิ์ เงยวิจิตร เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม แจ้งว่าสำนักงานศาลยุติธรรมได้จัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 เพื่อก่อสร้างอาคารศาลแขวงปัวและสิ่งปลูกสร้างประกอบ บนที่ดินซึ่งได้รับอนุญาตให้ใช้จากสำนักงานธนารักษ์พื้นที่น่าน เนื้อที่ 13 ไร่ ตั้งอยู่ที่ตำบลไชยวัฒนา อำเภอปัว จังหวัดน่าน โดยอาคารศาลแขวงปัวเป็นอาคารขนาด 8 บัลลังก์ พร้อมบ้านพักผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่ คาดว่าจะใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 3 ปี