xs
xsm
sm
md
lg

ตำรวจไซเบอร์ ขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลในการป้องกันปราบปรามภัยออนไลน์ทุกรูปแบบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



โฆษก บช.สอท. แจงผลการดำเนินการขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.65 จนถึงปัจจุบัน  
วันนี้ (20 ม.ค.) พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (โฆษก บช.สอท.) ขอเรียนชี้แจงผลการดำเนินการขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ ดังต่อไปนี้

กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์  วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้เร่งรัดขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งรับผิดชอบงานป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ในการป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดอาชญากรรมออนไลน์ในทุกรูปแบบ ร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน แก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง ซึ่งที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนเป็นวงกว้าง โดยให้มีผลการปฏิบัติเป็นรูปธรรม รวมไปถึงการวางมาตรการการป้องกันสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ แบ่งออกเป็นหลายมิติที่สำคัญ เช่น

ด้านการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ นับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.65 จนถึงปัจจุบัน ได้ดำเนินการปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดอาชญากรรมออนไลน์ในทุกรูปแบบ มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปราบปรามมิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์ การรับจ้างการเปิดบัญชีธนาคาร หรือบัญชีม้า การลักลอบใช้อินเทอร์เน็ตข้ามประเทศผิดกฎหมาย และการใช้ซิมโทรศัพท์มือถืออย่างผิดกฎหมาย รวมไปถึงการตรวจยึดเครื่องตรวจยึดเครื่องส่งสัญญาณ IP-PBX, เครื่อง GSM Gateways (Simbox) ภายใต้ยุทธการซิม-สาย-เสา ซึ่งถือได้ว่าเป็นการตัดวงจรความเสียหายก่อนที่มิจฉาชีพจะไปก่อเหตุหลอกลวงประชาชน ส่งผลให้แนวโน้มการถูกหลอกลวงประเภทดังกล่าวลดลงกว่าร้อยละ 25 อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ยังมีคดีสำคัญอีกหลายคดี เช่น ยุทธการ Shutdown ตัดสายแก๊งคอลเซ็นเตอร์, ยุทธการเด็ดปีกมังกร, ปฏิบัติการ ล้มไม้ค้ำลิดกิ่งก้าน ทลายเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ชาวจีน ตรวจยึดของกลางกว่า 300 ล้านบาท, ยุทธการหักซิมม้า ตรวจยึดของกลางกว่า 21,000 ซิม, ทลายเครือข่ายบุหรี่ไฟฟ้าไทย - มาเลเซีย ตรวจยึดของกลางกว่า 80 ล้านบาท และปฏิบัติการตรวจค้น 13 จุด ทั่วประเทศ ทลายเครือข่ายเว็บไซต์พนันออนไลน์รายใหญ่ SCG9 พบเงินหมุนเวียนกว่า 3,000 ล้านบาท เป็นต้น ในส่วนด้านการป้องกันอาชญากรรมออนไลน์ บช.สอท. มุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนตามช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ให้ประชาชนทราบถึงภัยออนไลน์ประเภทต่างๆ เช่น การหลอกลวงซื้อขายสินค้า, การหลอกโอนเงินเพื่อหารายได้จากการทำกิจกรรม, การหลอกให้กู้เงิน, การหลอกให้ลงทุน และการหลอกลวงทางโทรศัพท์เป็นขบวนการ (Call Center) นอกจากนี้แล้วได้มีการจัดตั้ง โครงการวัคซีนไซเบอร์ สร้างเจ้าหน้าที่ตำรวจ ข้าราชการหน่วยงานต่างๆ และประชาชนในพื้นที่ เช่น อาจารย์ นักจัดรายการวิทยุ ผู้จัดทำคอนเทนต์ออนไลน์ ผู้นำชุมชน อาสาสมัครต่างๆ กว่า 4,500 นาย ทำหน้าที่เผยแพร่ประชาสัมพันธ์สื่อไซเบอร์วัคซีน หรือกลโกงของมิจฉาชีพที่นำมาใช้ในการหลอกลวงประชาชนบนโลกออนไลน์ ด้วยข้อมูลที่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และในส่วนด้านการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมออนไลน์ ได้เร่งรัดให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนตามขั้นตอนของกฎหมาย ตามกรอบระยะเวลา รวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง แล้วสรุปสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการด้วยความรวดเร็ว และรอบคอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีที่มีผู้เสียหายได้รับความเดือดร้อนเป็นวงกว้าง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน เช่น คดีหลอกลงทุนซื้อขายทรัพย์ดิจิทัล ซื้อขายทองคำ เงินตราต่างประเทศ (Northern Lawyer) มีผู้เสียหายกว่า 9,000 ราย ความเสียหายกว่า 1,400 ล้านบาท, คดีหลอกลงทุน P miner ผู้เสียหายกว่า 700 ราย ความเสียหายกว่า 950 ล้านบาท, คดีหลอกลงทุนฟาร์มเห็ดทิพย์ (Turtle Farm) ผู้เสียหาย กว่า 2,000 ราย ความเสียหายกว่า 1,900 ล้านบาท เป็นต้น

นอกจากนี้แล้ว บช.สอท. ได้มีการแสวงหาความร่วมมือกับหน่วยงานภาคต่างๆ ที่ผ่านมาได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) กับสมาคมธนาคารไทยและธนาคารกว่า 21 สถาบัน, ลงนามบันทึกตกลงความร่วมมือกับ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ซึ่งการจัดทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าว จะส่งผลให้การแก้ไขปัญหาของประชาชนที่ได้รับความเสียหายมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น เช่น การอายัดบัญชีในทันท่วงที และการตรวจสอบเส้นทางการเงินของมิจฉาชีพทำได้โดยสะดวก และรวดเร็ว รวมถึงการอายัดเงินกลับคืนให้ผู้เสียหาย เป็นต้น นอกจากนี้แล้วยังอยู่ระหว่างการดำเนินการทำบันทึกความร่วมมือกับอีกหลายๆ หน่วยงาน เช่น สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ และอินเทอร์เน็ต, และบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด เป็นต้น
โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนนั้น ในปัจจุบันนอกจากจะมีการรับแจ้งผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ Thaipoliceonline.com และสายด่วนตำรวจไซเบอร์ หมายเลข 1441, 081-866-3000 ซึ่งให้คำปรึกษาทางคดีออนไลน์ แนะนำการใช้ระบบการรับแจ้งความ และการให้ความรู้ภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี บช.สอท.ยังได้ดำเนินการจัดทำ แชตบอท (Chat Bot) ผ่านแอปพลิเคชัน Line@police1441 เพิ่มขึ้นอีกช่องทางหนึ่ง เพื่อคอยให้บริการตอบคำถามประชาชน ตลอด 24 ชั่วโมง อีกด้วย

ทั้งนี้ การดำเนินการของ บช.สอท. มุ่งเน้นที่จะสนองนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ในทุกรูปแบบ อย่างต่อเนื่อง และจริงจัง มีผลการปฏิบัติเป็นรูปธรรม คำนึงถึงความเดือดร้อน และการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเป็นสำคัญ


กำลังโหลดความคิดเห็น