xs
xsm
sm
md
lg

แก๊งคอลเซ็นเตอร์สุดแสบอ้างเป็นสรรพากร หลอกชาวสวนโหลดแอป สุดท้ายดูดเงินใน บช.กว่าล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



สาวชาวไร่เก็บเงินมา 20 ปี เสียรู้แก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกเป็นสรรพากร ให้ลงแอปก่อนเงินหายในพริบตา 1,090,000 บาท ซ้ำแจ้งความกว่า 1 เดือน คดีไม่คืบ

เมื่อเวลา 18.00 น. วันที่ 10 มกราคม 66 ที่สำนักงานทนายความคู่ใจ ถนนแจ้งวัฒนะ ตำบลบางตลาด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี นางสาวโชติวรรณ หรือ กานต์ มุมเมือง อายุ 46 ปี พร้อมด้วย สามี คือ นายอนันต์ เกิดสีทอง อายุ 43 ปี และ น้องแอร์พอร์ต ลูกสาววัย 5 ขวบ เดินทางเข้าร้องเรียนขอความเป็นธรรมจาก นายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม เพื่อให้ช่วยติดตามคดีหลังตนเองถูกแก๊งมิจฉาชีพหลอกลวงว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากกรมสรรพากร สามารถช่วยเหลือไม่ให้เสียภาษีย้อนหลังได้ ก่อนถูกแฮกข้อมูลสูญเงินในบัญชี 1,090,000 บาท จนแทบสิ้นเนื้อประดาตัว

คุณกานต์ เล่าด้วยเสียงเศร้าว่า ตนเองมาเป็นสาวโรงงานนานกว่า 20 ปี ตนและสามี ใช้จ่ายอย่างประหยัด เก็บหอมรอมริบจนซื้อบ้านทาวน์เฮาส์แห่งหนึ่งในย่านจังหวัดสมุทรปราการ เมื่อลาออกจากสาวโรงงานมา ก็มาเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยวอยู่หน้าบ้าน แต่ขายได้ไม่ถึง 1 ปี มาเจอสถานการณ์โควิด ทำให้ค้าขายขาดทุน เลยตัดสินใจขายบ้านที่มีอยู่ไปในราคา 1,500,000 บาท และย้ายครอบครัวกับภูมิลำเนาเดิมที่จังหวัดเชียงราย ยึดอาชีพเกษตรกรปลูกพริกขาย ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ตามประสาคนบ้านนอก

ต่อมาเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 65 เวลา 17.00 น. มีโทรศัพท์ปลายทางเป็นเสียงผู้ชาย อ้างว่า เป็นเจ้าหน้าที่จากกรมสรรพากร พร้อมบอกตนเองว่าระหว่างเป็นแม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยว มีการใช้ App คนละครึ่ง ให้กับลูกค้า ทำให้ต้องเสียภาษีย้อนหลังเป็นจำนวนมาก หากไม่อยากเสียภาษีเขาสามารถช่วยเหลือได้

จากนั้นเขาก็ทักไลน์มาพูดคุยและส่งลิงก์เป็น App ให้ตนกดเข้าไปดู พร้อมพูดคุยสอบถามให้คำปรึกษาถึงแนวทางที่ไม่ต้องเสียภาษีย้อนหลัง ตนเองซึ่งระวังตัวอยู่แล้ว ก็ไม่ได้ให้ข้อมูลทั้งเลขบัตรประชาชนและเลขบัญชีธนาคาร แต่อย่างใด จนกระทั่งชายดังกล่าววางสายไป ช่วงนั้นโทรศัพท์ของตนรู้สึกว่ารวนทำธุรกรรมไม่ได้อยู่พักใหญ่ พอตนกดเช็กยอดบัญชีในโทรศัพท์พบว่าเงินสดถูกถอนออกไป 2 ครั้ง ครั้งแรก 1 ล้านบาท ครั้งที่ 2 เป็นเงิน 90,000 บาท เหลืออยู่เพียง 700 บาท ติดบัญชี ตอนนั้นตกใจมากเล่าให้สามีฟัง และเชื่อว่า น่าจะถูกมิจฉาชีพแฮกเงินในบัญชีออกไป แต่ก็ไม่เข้าใจจริงๆ ว่า เงินถูกแฮกออกไปได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ตนไม่ได้ให้หมายเลขบัตรประชาชนหรือเลขบัญชีไปเลย

ต่อมาตนจึงนำเอกสารหลักฐานทั้งหมดที่พูดคุยเข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน สภ.เทิง จังหวัดเชียงราย จากนั้นจึงรีบติดต่อธนาคาร เพื่ออธิบายและชี้แจงว่าตนถูกถอนเงินออกไปได้อย่างไร เพราะตอนที่ตนฝากเงินตนได้ทำข้อตกลงไว้ว่าสามารถเบิกถอนเงินในบัญชีได้ครั้งละเพียง 30,000 บาทต่อวันเท่านั้น แต่ทำไมคนร้ายหรือมิจฉาชีพถึงสามารถดูดเงินหรือถอนเงินจากบัญชีตนได้ครั้งละ 1 ล้าน และ 90,000 บาท ในเวลาเพียงแค่ไม่ถึง 10 นาที แต่ได้รับการปฏิเสธความรับผิดชอบจากทางธนาคารออมสิน ส่วนคดีที่แจ้งความไว้กับพนักงานสอบสวนผ่านมาแล้วกว่า 1 เดือน ก็ไม่เคยได้รับการติดต่อหรือความคืบหน้าของคดีจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเลย จึงต้องมาร้องทุกข์กับทนายรณรงค์เพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรมและช่วยเหลือครอบครัวตนเองด้วย

ขณะที่ ทนายรณณรงค์ กล่าวว่า คดีนี้ผู้เสียหายทำการเปิดบัญชีกับธนาคารแห่งหนึ่งเอาไว้ และมีการแจ้งกับธนาคารว่าให้ถอนเงินได้วันละไม่เกิน 30,000 บาทต่อวัน แต่ทำไมมิจฉาชีพถึงสามารถโอนเงินถอนเงินได้เป็นล้าน เรื่องนี้ธนาคารไม่รับผิดชอบ ในมุมของกฎหมายมุมนะครับ อันนี้การถอนเงินเจ้าของบัญชีไม่ได้ถอนเอง เป็นมิจฉาชีพสวมลอยการเบิกเงินธนาคาร ตนมองว่าตามสัญญาการฝากทรัพย์นั้น ธนาคารเป็นผู้ได้รับความเสียหาย ธนาคารต้องไปแจ้งความเอง และธนาคารต้องคืนเงินให้ลูกค้า นี่คือ ในทางกฎหมาย แต่ว่าธนาคารไม่คืนอยู่แล้ว ขั้นตอนต่อจากนี้ จะให้เขาไปยื่นเรื่องและไปร้องที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อให้ สคบ. ฟ้องธนาคาแทนเอกชนอย่างพวกเรา คือ การแก้ปัญหาที่ดีที่สุด อีกมุมหนึ่งอยากจะฝากเตือนพี่น้องประชาชน ว่า ถ้าเห็นลิงก์อะไรแปลกๆ อ้างว่า เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ บอกเลยว่า ทางโทรศัพท์ไม่คุย มาเจอมาคุยกันต่อหน้าเท่านั้น ไม่รู้ว่าจะ ป้องกันยังไงเอาเป็นว่าเจอหน้ากันแล้วพูดคุยดีที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น