xs
xsm
sm
md
lg

ความสุขวัยเกษียณ!!! “รองกุ๊กไก่” ธวัชชัย ไทยเขียว อดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



              ระบบราชการไทยเกษียณอายุตอนวัย 60 ถึงเวลาต้องถอดหัวโขนกลับสู่สามัญ ทิ้งลาภทิ้งยศ เหลือไว้แต่เพียงคุณงามความดีสร้างให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม จารึกฝากบนแผ่นดิน หากทำเกียรติเสื่อมเสียประชาชนก็จะจดจำภาพลักษณ์นั้นๆ เช่นกัน

              “รองกุ๊กไก่” นายธวัชชัย ไทยเขียว อดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม เผยความภาคภูมิใจในชีวิตข้าราชการตลอด 30 กว่าปีที่ผ่านมา เพราะมองตัวเองเป็นเพียงคนเล็กๆ ไม่เคยเรียกร้อง ไม่เคยวิ่งเต้น ทำงานทุกอย่างเพื่อประชาชนมาตลอด หวังเป็นที่พึ่งให้ชาวบ้าน ไม่อยากเห็นน้ำตาคนจน คนด้อยโอกาสถูกเอารัดเอาเปรียบจากกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ยุติธรรม แล้วรู้สึกว่ารับไม่ได้

              อย่างคดี น้องบีม” ประสบอุบัติเหตุรถพ่วง 18 ล้อพุ่งชนรถกระบะของครอบครัวทำให้บิดาเสียชีวิต และน้องบาดเจ็บหนักจนขาพิการ เดินไม่ได้ เหตุเกิดที่ อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ทางบริษัทคู่กรณีจ่ายเงินค่าเสียหายผ่านทางทนายความ รวม 5 ล้านบาท แต่กลับถูกทนายเชิดเงินหนี โดย กระทรวงตราชั่ง” ยื่นมือเข้าช่วยเหลือ ร่วมกับสภาทนายความและเนติบัณฑิตยสภาเรียกค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดำเนินคดีเพื่อเรียกร้องเงินจำนวนดังกล่าวคืน

ยธ.ช่วยเหลือครอบครัวน้องบีมจากทนายเชิดเงินหนี 5 ล้านบาท
              กระทั่งศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมให้แก่ครอบครัวน้องบีม ทำบันทึกข้อตกลงชำระหนี้ 3.8 ล้านบาท โดยให้สั่งจ่ายเป็นเช็ค 29 ฉบับ เริ่มฉบับแรกวันที่ 31 ต.ค.2563 เป็นเช็ค 9 แสนบาท จากนั้นให้ทยอยชำระหนี้ ซึ่งจะครบจำนวนในปี 2566 หากชำระเสร็จครบถ้วนจึงจะมีการถอนบังคับคดี พร้อมกับตำรวจสามารถจับกุมตัวทนายตัวแสบเข้าคุกเรียบร้อย

              “ปัจจุบันก็มีความสุขหลังเกษียณ กลับบ้านมาทำโคกหนองนาตามแนวพระราชดำริขององค์ในหลวงรัชกาลที่ ๙ บนเนื้อที่ 9 ไร่ มาประมาณ 3 ปี แบ่งพื้นที่ทำนาปลูกข้าว ปลูกต้นยางนา ต้นหว้า ต้นประดู่ ต้นตะแบก ต้นกล้วยและปลูกส้มโอ ฯลฯ ให้ญาติพี่น้องลูกหลานมาช่วยกัน สร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว รวมถึง ยังเป็นศูนย์เรียนรู้ให้เด็กเยาวชน ชาวบ้าน เข้ามาศึกษาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”

โคกหนองนาตามแนวพระราชดำริขององค์ในหลวงรัชกาลที่ ๙
              ย้อนสมัยเด็ก “รองกุ๊กไก่” เติบโตจากครอบครัวชาวนาที่ ต.บางขุด อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท มีพี่น้องทั้งหมด 4 คน เป็นลูกชายคนโต คุณพ่อ นายสุเทพ กับคุณแม่ นางชิ้น ไทยเขียว เป็นเด็กไม่ชอบเรียนหนังสือเพราะโรงเรียนอยู่ไกลบ้าน เดินทางลำบากจึงไม่อยากเรียนและยังไม่มีเป้าหมายในอนาคต แต่คุณครูช่วยให้จนจบ ม.ศ.3 ต่อมา ปี 2518 เกิดน้ำท่วมใหญ่ต้องลงไปช่วยที่บ้านขนข้าวลอยน้ำขึ้นโคกทั้งวันจนเหนื่อย หมดแรงคิดว่าไม่อยากทำเช่นนี้แล้ว จึงเปลี่ยนความคิดใหม่ก่อนตัดสินใจเข้ามาเรียนต่อกรุงเทพฯ ในปีเดียวกัน

              เมื่อมุ่งหน้าสู่เมืองหลวงครั้งแรกได้อาศัยพักกับน้าชายเป็นตำรวจสันติบาลที่กองรักษาการทำเนียบรัฐบาลเพียงชั่วคราว ก็ย้ายมาอยู่วัดสระเกศราชวรมหาวิหารกับน้าชายอีกคนซึ่งเป็นเด็กวัด ขออนุญาตให้เราเข้าไปอยู่ด้วย อาศัยกางมุ้งนอนศาลากลางคณะ 5 ทำหน้าที่เป็นเด็กวัดติดตามสมเด็จพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) พร้อมเริ่มมองหาที่เรียนต่ออีกครั้งแต่ก็สอบสมัครเรียนที่ไหนไม่ติด

              และเหมือนโชคเข้าข้าง วิทยาลัยครูเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ กิ่งเพชร ราชเทวี (ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์) โดยสมัยนั้นมีโครงการเปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นต้น (ป.กศ.ต้น) ภาคค่ำ คนสมัครน้อยกว่าจำนวนที่ต้องการจึงได้เข้าเรียน และส่งเสียตัวเองจนจบปริญญาโทสาขาอาชญาวิทยาและกระบวนการยุติธรรม เอกบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยมหิดล รุ่นที่ 4

สมัยเป็นเด็กวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร จนเรียนจบ ป.โท มหิดล
              กระทั่งวันที่ 1 ก.ค.2529 เข้ารับราชการในตำแหน่งพนักงานคุมประพฤติ 3 จ.ชลบุรี ด้วยเป็นคนที่มีประสบการณ์ทำงานหลากหลายมาก่อน ทั้ง อาสาสมัครสังคมสงเคราะห์ สภาสังคมสงเคราะห์ฯ หรือ เป็นผู้นำเยาวชนป้องกันและปราบปรามยาเสพ ของสำนักงาน ป.ป.ส. รุ่นแรก ฯลฯ จึงสร้างผลงานหลายด้านตั้งแต่ ปรับกระบวนการทำงานและปรับปรุงหลักสูตรอาสาสมัครคุมประพฤติ เป็นต้น ก่อนถูกดึงตัวเข้ามาส่วนกลางหลังจากบรรจุเพียง 2 ปี และเลื่อนระดับเป็นพนักงานคุมประพฤติ 4 เป็นฝ่ายเลขาในการจัดทำคู่มือคุมประพฤติเล่มแรก

              ระหว่างทำงานช่วงปี 2537-2538 มีความคิดอยากไปเป็นครูสอนหนังสือ ทำเรื่องขอย้ายไปกรมสามัญศึกษาเพื่ออยากเสนอโครงการช่วยเหลือเด็กยากจนและเด็กเกเร โดยที่ไม่ได้บอกทางผู้ใหญ่กระทรวงยุติธรรมให้รับทราบก่อน แต่ก็มารู้ภายหลังจึงไม่ยอมให้โอนย้าย ด้วยเหตุผลว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 กำลังมีผลบังคับใช้ อยากให้มาช่วยสานงานต่อเพราะเตรียมแยกหน่วยงานของ “ศาลยุติธรรม” และ “กระทรวงยุติธรรม”

              ห้วงเวลาชุดยูนิฟอร์มสีเสื้อกากี “รองกุ๊กไก่” จากวันแรกถึงวันสุดท้าย เปรียบเวลามันเดินเร็วยิ่งนักแต่ได้รับมอบหมายทำงานประสบความสำเร็จเจริญก้าวหน้าตามลำดับขั้น รับผิดชอบตำแหน่งสำคัญในกระทรวงอย่างไม่ตกบกพร่อง พ.ศ.2546 รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ , พ.ศ.2547 รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน , พ.ศ.2551 อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน , พ.ศ.2555 รองปลัดกระทรวงยุติธรรม จนเกษียณราชการเมื่อปี 2562

งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา รองกุ๊กไก่ วันเกษียณราชการ
              ชีวิตข้าแผ่นดินหากคิดจะเป็นแล้วก็ต้องรู้จักตัวเองว่ามีความอดทนมากน้อยแค่ไหนเพราะไม่ได้สะดวกสบายเหมือนอาชีพอื่น ต้องอุทิศตน เสียสละเพื่อประเทศชาติ ส่วนรวม ถ้าไม่ไหวอย่าเป็น ไปเลือกทำสายงานอื่นดีกว่า ขอยกท่อนเพลงเพื่อเตือนสติ ไม่ได้สอนให้จบออกมาเหยียดหยามประชาชน ไม่ได้ให้ปัญญาเอาไว้คดโกงสังคม มหา'ลัยสอนไว้ให้เรา เป็นข้าประชาชน”

"จิบชาตราชั่ง"
กำลังโหลดความคิดเห็น