MGR Online - สำนักงาน ปปง. ดำเนินการกับทรัพย์สิน 21 รายคดี มูลค่า 5,548 ล้านบาท มอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบทรัพย์สิน 28 รายคดี
วันนี้ (21 ธ.ค.) นายเทพสุ บวรโชติดารา รองเลขาธิการ ปปง. รักษาราชการแทน เลขาธิการ ปปง. กล่าวว่า สำนักงาน ปปง. ได้ดำเนินการจัดการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 13/2565 เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.65 โดยคณะกรรมการธุรกรรมได้พิจารณาเห็นชอบให้ดำเนินการกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด สรุปดังนี้
1. ยึดและอายัดทรัพย์สิน จำนวน 12 รายคดี ทรัพย์สิน 111 รายการ พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 44,800,000 บาท โดยส่วนใหญ่เป็นทรัพย์สินเกี่ยวกับความผิดมูลฐานยาเสพติดและฉ้อโกงประชาชน
2. ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 6 รายคดี ทรัพย์สิน 592 รายการ พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 74,300,000 บาท โดยเป็นทรัพย์สินเกี่ยวกับความผิดมูลฐานยาเสพติด ฉ้อโกงประชาชน และการพนัน
3. ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปคืนหรือชดใช้คืนให้แก่ผู้เสียหายแทนการสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน (คุ้มครองสิทธิของผู้เสียหาย) จำนวน 3 รายคดี ทรัพย์สิน 44 รายการ พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 33,250,000 บาท โดยเป็นทรัพย์สินเกี่ยวกับความผิดมูลฐานฉ้อโกงประชาชน
4. มอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จำนวน 28 รายคดี โดยส่วนใหญ่เป็นคดีความผิดมูลฐานยาเสพติด ค้ามนุษย์ และฉ้อโกงประชาชน ทั้งนี้ มีรายคดีสำคัญที่อยู่ในความสนใจของสื่อมวลชนและประชาชนรวมอยู่ด้วย
นอกจากนี้ คณะกรรมการธุรกรรมมีมติรับทราบกรณีที่เลขาธิการ ปปง. ได้มีคำสั่งอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราวในกรณีจำเป็นเร่งด่วนตามมาตรา 48 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 รายคดี นายอภิมุข กับพวก ทรัพย์สิน 36 รายการ พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 5,396,000,000 บาท
รักษาราชการแทนเลขาธิการ ปปง. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงาน ปปง. อยู่ระหว่างการตรวจสอบอีกหลายคดี โดยมุ่งเน้นการสืบสวนขยายผลเพื่อนำไปสู่การยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด อันเป็นการตัดวงจรอาชญากรรมเกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานและตัดเส้นทางการเงิน ของผู้กระทำความผิด ในขณะเดียวกัน ถ้าปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีผู้เสียหายในความผิดมูลฐาน สำนักงาน ปปง. ก็จะพิจารณาดำเนินการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับมาตรฐานสากลด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย