MGR Online - ผบช.สตม.แจงกรณี“ชูวิทย์” แฉตำรวจ ตม.คอยอำนวยความสะดวกให้กลุ่มทุนจีนสีเทา ชี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงประเภทการตรวจลงตรา หรือวีซ่าที่เกิดในพื้นที่หนึ่งเท่านั้น จ่อทบทวนหลักเกณฑ์
วันนี้ (8 ธ.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ท.ภาคภูมิภิภัทฒ์ สัจจพันธุ์ ผบช.สตม.กล่าวถึงกรณี นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมืองชื่อดัง แถลงข่าวปฏิบัติการทลายภูเขาน้ำแข็งใต้น้ำ กรณีมีตำรวจสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) คอยอำนวยความสะดวกให้กลุ่มทุนจีนสีเทา พร้อมเปิดหลักฐานการจัดตั้งมูลนิธิรับจดทะเบียนให้คนจีนพักอาศัยในไทยโดยผิดกฎหมาย ว่า กรณี นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ แถลงตั้งแต่วันที่ 2 ธ.ค. 65 จนถึงเมื่อวานนี้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับภาพลักษณ์ของ สตม. ซึ่ง พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ได้ตระหนักดี จึงอยู่ระหว่างสั่งให้จเรตำรวจลงไปตรวจสอบ เพราะเป็นหน่วยงานกลางในการตรวจสอบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่วนระยะเวลาในการตรวจสอบจะต้องมีการลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน ซึ่งต้องแยกประเด็นกัน คือ กรณีที่ บช.น.ไปจับผับก็เป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งอยู่ในการดูแลเรื่องการสืบสวนของ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ที่มีการเรียก 26 ด่าน ตม.จังหวัดเข้ามาให้ข้อมูล แม้เป็นกรณีต่อเนื่องกันแต่เป็นคนละส่วน ส่วนกรณีที่นายชูวิทย์ได้แถลงไปล่าสุด เป็นกรณีของการเปลี่ยนแปลงประเภทการตรวจลงตรา หรือ วีซ่า ที่เกิดในพื้นที่หนึ่ง
พล.ต.ท.ภาคภูมิภิภัทฒ์ กล่าวว่า ในเรื่องของการอยู่ต่อเป็นบริบทส่วนหนึ่งในเรื่องการอำนวยความสะดวกให้กับคนต่างด้าวที่มีความประสงค์ที่จะอยู่ในประเทศไทย ซึ่งมีหลักเกณฑ์ อย่างเช่นกรณีที่พูดถึง Thailand Elite มีมานานแล้ว บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เป็นผู้ออกบัตร ทาง สตม.มีหน้าที่กรณีที่คนต่างด้าวได้รับบัตรนี้มา สตม.มีหน้าที่ตรวจสอบว่าเป็นคนที่ได้รับบัตรมาถูกต้องหรือไม่ และจะตรวจสอบว่าเป็นบุคคลต้องห้ามหรือไม่ ถ้าได้รับบัตรมาอย่างถูกต้อง เป็นไปตามประกาศของกระทรวงมหาดไทยตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด และไม่เป็นบุคคลต้องห้าม ไม่อยู่ในบัญชีของ สตม.ที่ห้ามเดินทางเข้าประเทศหรือกรณีมีหมายจับ สตม.ต้องให้เขาอยู่ต่อ ฉะนั้น การพิจารณาการเดินทางเข้ามาของคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักร ทาง ตม. จะพิจารณา 2 อย่าง คือ 1. คุณสมบัติครบหรือไม่ เป็นตัวตนคนเดียวกันตามพาสปอร์ตหรือไม่ ลายนิ้วมือไม่มีการปลอมแปลง 2. เป็นบุคคลต้องห้ามหรือไม่ ถ้า 2 กรณีนี้ครบ ทางสตม.ต้องอนุญาตให้เขาเข้าประเทศ
“ประเด็นก็คือ สตม.อนุญาตคนที่มีคุณสมบัติครบและไม่เป็นบุคคลต้องห้ามเข้าประเทศ แต่เราไม่รู้ว่าเขาจะมาทำผิดหรือทำถูก หากเขาทำผิดก็ต้องใช้การบังคับกฎหมายไปจับกุมให้ได้เร็วที่สุด จะไปบอกว่าให้คนไม่ดีเข้าประเทศเป็นคนละนัยยะ เราให้คนที่มีคุณสมบัติและไม่เป็นบุคคลต้องห้ามเข้าประเทศ ในมติของ สตม.ถ้าไปบอกว่าคนไม่ดีก็คือคนที่เป็นบุคคลต้องห้าม คนที่เป็นบุคคลต้องห้ามก็คือคนที่กระทำผิดกฎหมาย หรือทางองค์กรระหว่างประเทศ หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายระหว่างประเทศได้ออกหมายจับและส่งให้เรา เราก็ไปดำเนินการสืบสวนจับกุม เพื่อเพิกถอน ดังนั้นจะต้องแยกระหว่างคนดีกับบุคคลต้องห้ามให้ขาดจากกัน” ผบช.สตม.ระบุ
พล.ต.ท.ภาคภูมิภิภัทฒ์ กล่าวต่อไปว่า การเปลี่ยนประเภทการตรวจลงตรา การอนุญาตให้อยู่ต่อในราชอาณาจักรเราเข้มงวดมาตลอด 1 ปี เพราะรู้ว่าเป็นความอ่อนไหวที่คนต่างด้าวอาจจะอาศัยหลักเกณฑ์ หรือกรณีเจ้าหน้าที่ ตม.ตรวจเอกสารไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ขณะนี้จะตั้งคณะทำงานในการทบทวนหลักเกณฑ์การขออยู่ต่อในราชอาณาจักรในแต่ละเหตุผล ทั้งเรื่อง มูลนิธิ การรักษาพยาบาล การศึกษาของสถานศึกษาเอกชนทั้งในระบบและนอกระบบ อย่างที่นายชูวิทย์บอกว่าโรงเรียนไม่กำหนดอายุ ถ้าเผื่อขออยู่บั้นปลายอายุ 50 ปีขึ้นไป ทำไมโรงเรียนไม่กำหนดอายุตรงนี้เราจะกลับไปทบทวน แต่ก็เคยมีการหารือกันมาอย่างต่อเนื่องในมิติสิ่งหนึ่งของการเรียนรู้ที่ยอมรับเป็นสากลโลก คือ การเรียนรู้เป็นเรื่องของการเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต บางครั้งจะใช้อายุไปจำกัด ถามว่าเหมาะสมหรือไม่จะต้องไปหารือกัน เพราะคนต่างด้าวที่จะเข้ามาอยู่ด้วยเหตุผลด้านการศึกษา จะต้องมีหนังสือรับรองจากสถาบันการศึกษา ฉะนั้น สถาบันการศึกษาจะต้องจัดตั้งให้ถูกต้อง ทุกสิ่งทุกอย่างในหลักเกณฑ์ของ สตม. เป็นเรื่องขององคาพยพของทุกหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง
ผบช.สตม.กล่าวด้วยว่า ต่อไปทุกหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องในมิติของการให้คนต่างด้าวอยู่ต่อในราชอาณาจักรต้องจับเอวกันให้แน่นๆ กอดกันให้แน่นๆ แนบแน่นยิ่งขึ้น ยกตัวอย่าง ตม.เชียงใหม่ ที่มีปัญหาตั้งแต่ 2 พ.ย. ผู้การ ตม.5 ได้ไปทำ MOU กับมูลนิธิ สถานศึกษา ว่า สถาบันการศึกษาต้องรายงานผลการเรียนของคนต่างด้าวที่ขออยู่ต่อในเรื่องของการศึกษาให้กับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ตม.5 ในพื้นที่ทราบทุก 3 เดือน เป็นต้น ถ้าไม่มีการรายงานผลการเรียนก็ถือว่าการอนุญาตสิ้นสุดจะต้องเดินทางออกนอกประเทศ ไปคุยกับมูลนิธิหากอนุญาตรับรองว่าคนต่างด้าวจะไปทำงานกับมูลนิธิไปตรวจสอบแล้ว มูลนิธิจัดตั้งจริง ทางมูลนิธิจะต้องรายงานการจัดกิจกรรมที่คนต่างด้าวคนนี้ไปอยู่ในมูลนิธินั้นเป็นวงรอบด้วย ส่วนนี้เราทำแล้ว ไม่ใช่เราพึ่งทำ ทำก่อนที่จะมีกระแสข่าวออกมา