MGR Online - “รมว.ยุติธรรม-ดีเอสไอ” แถลงปราบโกงสายฟ้าฟาด จับแก๊งขโมยไฟฟ้าขุดบิตคอยน์เสียหายกว่า 500 ล้าน ชี้ เพียง 1% จากความเสียหาย 5 หมื่นล้าน ขยายผลนายทุน หวั่นเป็นสาเหตุปรับขึ้นค่าไฟฟ้าประชาชน
วันนี้ (7 ธ.ค.) เวลา 09.00 น. ณ บริเวณหน้าอาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม พร้อมด้วย นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีดีเอสไอ และ ผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม ร่วมแถลงผลการเปิดยุทธการปราบโกงสายฟ้าฟาด (ปฏิบัติการ Electrical Shock) ตรวจค้นอาคารพาณิชย์ต้องสงสัยลักลอบใช้กระแสไฟฟ้า ทำเหมืองขุดบิตคอยน์รายใหญ่ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และ จ.นนทบุรี รวมทั้งสิ้น 41 จุด รัฐสูญรายได้กว่า 500 ล้านบาท
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากดีเอสไอได้รับคำร้องเรียนจากพลเมืองดี ตั้งแต่เดือน ก.พ. 2564 ใช้เวลาสอบสวน 1 ปีเศษ จนทราบว่า มีการลักลอบตั้งเหมืองขุดเงินดิจิทัลโดยเฉพาะบิตคอยน์ผิดกฎหมาย และนำเครื่องเข้ามาจากสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมทั้งมีการต่อกระแสไฟตรงโดยไม่ผ่านมิเตอร์ ทำให้ประเทศได้รับความเสียหาย จึงประสานร่วมกับ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กรมศุลกากร การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เข้าตรวจค้นสถานที่ต้องสงสัยดังกล่าว พร้อมตรวจยึด อุปกรณ์ที่ใช้ขุดเหรียญคริปโตเคอเรนซี่ จำนวน 3,500 เครื่อง และเครื่อง Power Supply กำลัง 1,800-2,000 วัตต์ มาตรวจสอบ พร้อมควบคุมผู้ดูแลอาคารหรือแอดมิน 1 ราย อายุ 30 ปี ในซอยสามัคคี 38 จ.นนทบุรี มาสอบสวน
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า จากการสอบสวนพบว่า มีกลุ่มนายทุนให้การสนับสนุนการกระทำความผิด ระยะเวลากว่า 2 ปี ทั้งจัดหาเครื่องขุดเหรียญคริปโตเคอเรนซี่ที่ลักลอบหนีการสำแดงภาษีนำเข้าในราชอาณาจักรไทย สนับสนุนเงินทุนเพื่อจัดการอุปกรณ์ สถานที่ รวมถึงติดต่อคนมาดำเนินการต่อไฟฟ้าตรงไม่ผ่านมอนิเตอร์ ทำให้เสียค่าไฟฟ้าต่ำกว่าความเป็นจริง นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มลูกน้องอีกกว่า 20 ราย คอยทำหน้าที่ดูแลระบบและซ่อมบำรุงเครื่องอุปกรณ์เหล่านี้ ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการสอบปากคำขยายผล
“ทั้งนี้ แต่ละอาคารจะวางเครื่องขุดเงินสกุลดิจิทัล จุดละประมาณ 100 เครื่อง ใช้งานตลอด 24 ชั่วโมง จากที่ต้องเสียค่าไฟฟ้า ตกเดือนละ 300,000-500,000 บาทต่อแห่ง แต่จ่ายค่าไฟฟ้าจริงเพียงแห่งละ 300-2,000 บาท ทำให้การไฟฟ้านครหลวงเสียหายกว่า 20 ล้านบาทต่อเดือน หรือปีละเกือบ 200-300 ล้านบาท และตลอด 2 ปี รัฐเสียรายได้กว่า 500 ล้านบาท หรือเป็นเพียงแค่ 1% ของความเสียหายทั้งหมด 50,000 ล้านบาท เพราะการตรวจค้นอาคาร 41 แห่ง เป็นเพียงเครือข่ายเดียวของขบวนการที่มีอยู่ทั้งประเทศ จึงเชื่อว่า ยังมีอีกหลายสถานที่ในประเทศที่มีการลักลอบต่อไฟหลวงขุดเหมืองบิตคอยน์เช่นกัน”
นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนผู้กระทำความผิดมีรายได้จากการขุดเงินดิจิทัล 35 บาท ต่อเครื่องต่อวัน ทั้งหมด 3,500 เครื่อง ทำให้มีรายได้ถึง 4.2 ล้านบาทต่อเดือนรวม 2 ปี มีรายได้กว่า 100 ล้านบาท โดยไม่เสียค่าไฟฟ้าแต่รัฐกลับสูญเสียรายได้หลายร้อยล้านบาท สำหรับการลักลอบใช้กระแสไฟฟ้าดังกล่าวอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุทำให้ค่าไฟราคาแพงขึ้นและเป็นภาระแก่ประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ เชื่อว่า เจ้าหน้าที่การไฟฟ้านครหลวงหรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกำลังสืบสวนสอบสวนเพิ่มเติม
ด้าน นายไตรยฤทธิ์ กล่าวว่า ดีเอสไอทำการขยายผลพบว่าการต่อกระแสไฟฟ้าโดยตรง เพื่อรับรายได้จากการขุดเหรียญคริปโตเคอเรนซี่แล้วนั้น ยังเป็นช่องทางในการฟอกเงินของกลุ่มองค์กรอาชญากรรมที่กระทำความผิดจากพนันออนไลน์และยาเสพติด จะทำการสืบสวนหาผู้กระทำผิดต่อไป นอกจากนี้ ยังได้รับรายงานว่ามีอาคาร 3-4 แห่งที่เกี่ยวข้องใช้กระแสไฟสูงมาก ทำให้เกิดความร้อน จนเกิดไฟไหม้มาแล้ว