ศาลอาญาคดีทุจริตฯเลื่อนฟังคำสั่งชั้นตรวจฟ้อง คดีฟ้อง 5 กสทช. มีมติรับทราบให้ควบรวม ‘ทรู-ดีแทค”ไม่ชอบ ไป 6 ก.พ.ปีหน้า เหตุฟ้องโจทก์ยังไม่ถูกต้อง พร้อมเรียกข้อเท็จจริงจากผู้ถูกฟ้องเพิ่มเติม
วันนี้ (6 ธ.ค.) ศาลอาญาคดีทุจริตเเละประพฤติมิชอบกลาง นัดฟังคำสั่งชั้นตรวจฟ้องในคดี อท 199/2565 ที่น.ส.ธิกานต์ บำรุงศรี เป็นโจทก์ฟ้อง ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ,พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ, ศาสตราจารย์พิรงรอง รามสูต, นายต่อพงศ์ เสลานนท์ และรองศาสตราจารย์ ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย ทั้งหมดเป็นกรรมการ กสทช.เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฎิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 กรณีการลงมติรับทราบการควบรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรู และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค
ศาลตรวจฟ้องของโจทก์แล้ว เห็นว่า ฟ้องของโจทก์ยังไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 ประกอบพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 15 จึงเห็นสมควรให้โจทก์ดำเนินการแก้ไขฟ้องให้ถูกต้องและชัดแจ้งพร้อมทั้งชี้ช่อง พยานหลักฐานตามประเด็นดังต่อไปนี้ โดยให้ทำคำฟ้องฉบับใหม่ยื่นต่อศาลภายใน 15 วัน
1.ให้โจทก์บรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยทั้ง 5 อย่างไร
2.ให้โจทก์บรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่า การลงมติของจำเลยทั้งห้าฝ่าฝืนกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับใด มาตราใด อย่างไร
3.ให้โจทก์บรรยายการกระทำของจำเลยทั้ง5ให้ชัดเจนว่าการที่จำเลยทั้ง 5 รับฟัง ความเห็นของบริษัทที่ปรึกษา (บริษัทฟินันฟ่า จำกัด) และไม่รับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและ ประชาชนทั่วไปและไม่ได้นำรายงานของที่ปรึกษาต่างประเทศก่อนการประชุมและลงมติวาระเรื่อง ควบกิจการระหว่างบริษัททรูกับบริษัทดีแทค เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ประกาศระเบียบ กฎ ข้อบังคับใด และมาตราใด
4.เนื่องจากโจทก์ชี้ช่องพยานหลักฐานโดยมิได้แนบเอกสารที่เกี่ยวข้อง ให้โจทก์ดำเนินการส่งเอกสารตามที่โจทก์ชี้ช่องพยานหลักฐานแนบท้ายคำฟ้อง เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงชัดแจ้งในประเด็นแห่งคดี
เห็นควรมีหนังสือไปถึงสำนักงาน กสทช. ชี้แจงข้อเท็จจริงในประเด็นตามคำฟ้อง
ดังนี้ 1.ในการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปมีหลักเกณฑ์และขั้นตอนอย่างไร และการประชุมเพื่อลงมติของ กสทช. มีเรื่องใดบ้างที่ต้องรับฟังความคิดเห็น ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาชนทั่วไป
2.ให้จำเลยที่ 2 ชี้แจงเรื่องที่ถูกกล่าวหาว่าไม่มีความเป็นกลางและมีผลประโยชน์เกี่ยวกับ บริษัททรู เพราะจำเลยที่ 2 เคยดำรงตำแหน่งกรรมการที่ปรึกษาให้กับบริษัทที่มีกลุ่มบริษัททรูเป็นผู้ถือหุ้น และยังดำรงตำแหน่งนายกสมาคมคนตาบอดซึ่งมีความสัมพันธ์และได้รับเงินบริจาคจากกลุ่มบริษัททรู จะถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับกลุ่มบริษัททรู ทำให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ ที่มีอำนาจพิจารณาทางปกครองมีเหตุอันเป็นสภาพร้ายแรงที่ทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง ตามมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 จำเลยที่ 2 มีอำนาจ พิจารณาและมีมติเกี่ยวกับการควบรวมกิจการกลุ่มบริษัททรูและบริษัทดีแทคโดยที่ตนมีส่วนได้เสียหรือ มีประโยชน์เกี่ยวข้องดังนั้นจะถือว่าจำเลยที่ 2 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่
3.การที่จำเลยที่ 3 งดออกเสียงในที่ประชุมเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือไม่อย่างไร
4.การที่จำเลยที่ 1 ลงมติในระเบียบวาระ เรื่องการรายงานการรวมกิจการระหว่างบริษัททรู และบริษัทดีแทค ในฐานะกรรมการ และมีการลงมติรับทราบในฐานะประธานกรรมการ เป็นการปฏิบัติหรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ อย่างไร
5.การที่จำเลยที่ 1,2 ลงมติรับทราบในเรื่องการควบรวมกิจการระหว่างบริษัททรู และบริษัทดีแทค อาศัยกฎหมาย ประกาศ ระเบียบ กฎ หรือข้อบังคับใด
6.การที่จำเลยที่ 4,5 ลงมติไม่เห็นชอบเรื่องการควบรวมกิจการระหว่างบริษัททรู และบริษัทดีแทค อาศัยกฎหมาย ประกาศ ระเบียบ กฎ หรือข้อบังคับใด
7.ที่ผ่านมาเคยมีการควบรวมกิจการของผู้ประกอบธุรกิจด้านโทรคมนาคมหรือไม่ ถ้าเคยมี มีกี่ราย และมีขั้นตอนในการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ กสทช. อย่างไรบ้างและ กสทช. เคยมีมติ เกี่ยวกับเรื่องการควบรวมที่ผ่านมาอย่างไร
โดยให้สำนักงาน กสทช. มีหนังสือชี้แจงกลับมายังศาลนี้ภายในวันที่ 6 ม.ค.2566 ให้ถ่ายสำเนาคำฟ้องจัดส่งให้สำนักงาน กสทช. แนบท้ายหนังสือด้วย และให้โจทก์มาดำเนินการตรวจสอบ หนังสือชี้แจงดังกล่าว หากประสงค์คัดค้านให้ยื่นคำแถลงคัดค้านภายในวันที่ ๒๐ ม.ค.2566 ให้เลื่อนไปนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาในวันที่ 6 ก.พ.2566 เวลา 09.30 น.