xs
xsm
sm
md
lg

“สมศักดิ์” รับเป็นห่วงนักโทษกลับมาทำผิดซ้ำ เล็งใช้กำไล EM คุมผู้มีพฤติกรรมรุนแรง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - รมว.ยุติธรรม ประชุม คกก.ราชทัณฑ์ ยังห่วงนักโทษกระทำผิดซ้ำ แนะใช้นักจิตวิทยาบำบัดเตรียมพร้อมก่อนปล่อย เร่งเดินหน้านิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ สร้างโอกาสให้มีรายได้

วันนี้ (21 พ.ย.) ที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการราชทัณฑ์ ครั้งที่ 3/2565 โดยมี นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ คณะกรรมการ และผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมการประชุม

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับการดำเนินการของกรมราชทัณฑ์ ให้มีการปรับปรุงพัฒนาการทำงานให้มีความเหมาะสม ซึ่งตนขอให้คณะกรรมการทุกท่านช่วยกันทำงานอย่างหนัก ในการเดินหน้าทุกโครงการ ขอให้ยึดประโยชน์ของผู้ต้องขัง ตามหลักสิทธิมนุษยชน สิ่งสำคัญเราต้องมุ่งมั่นสร้างนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ให้สำเร็จ เพื่อให้ผู้ต้องขังมีงาน มีอาชีพรองรับ หลังพ้นโทษจะได้มีงานมีรายได้ ไม่กลับมากระทำผิดซ้ำอีก นอกจากนี้ จะยังเป็นการลดความแออัดของผู้ต้องขังภายในเรือนจำด้วย และตนขอให้ทางกรมราชทัณฑ์เดินหน้าเรื่องการลดความแออัดของผู้ต้องขังในเรือนจำ ซึ่งเมื่อตอนที่ตนมารับตำแหน่ง รมว.ยุติธรรม ผู้ต้องขังมีพื้นที่เรือนนอนเฉลี่ยคนละ 0.8 ตร.ม. โดยขณะนี้สามารถขยายได้เป็น 1.2 ตร.ม.แล้ว โดยเราวางเป้าหมายไว้ที่ 1.6 ตร.ม.ต่อคน

“คณะกรรมการในที่ประชุมมีการพูดคุยถึงนักโทษที่กระทำผิดซ้ำจะมีการป้องกันอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งที่ประชุมได้เสนอให้มีการใช้นักจิตวิทยา เพื่อทำการประเมินและบำบัด และอีกเรื่องที่สำคัญ คือ การใช้กำไล EM เพื่อควบคุมติดตามผู้ที่กระทำผิดร้ายแรงภายหลังการปล่อยตัว 10 ปีตามกฎหมาย JSOC ซึ่งแม้ว่ากรมราชทัณฑ์จะต้องดูแลนักโทษที่กระทำผิด แต่เราก็ต้องทำตามหลักสากลและมีความรับผิดชอบต่อสังคม เราต้องมีการประเมินและเตรียมความพร้อมก่อนที่จะปล่อยผู้พ้นโทษออกไปสู่ชุมชน และจากงานที่มากขึ้นหากบุคลากรขอกรมไม่พอ ก็ขอให้เร่งดำเนินการเสนอต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาจัดสรรกันต่อไป” นายสมศักดิ์ กล่าว

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า กรมราชทัณฑ์ได้กำหนด 6 เสาหลักสู่อนาคตราชทัณฑ์ คือ 1. การขับเคลื่อนโครงการพระราชทาน 2. การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังตามมาตรฐานสากล 3. การปรับปรุงระบบทัณฑปฏิบัติให้สอดคล้องกับหลักทัณฑวิทยา 4. การสร้างความโปร่งใสโดยยึดหลักคุณธรรมและธรรมาภิบาล 5. การสร้างขวัญกำลังใจบุคลากรเจ้าหน้าที่ และ 6. การส่งต่อผู้พ้นโทษและลดการกระทำผิดซ้ำ ซึ่งการวางเป้าหมายดังกล่าวไว้ถือเป็นเรื่องที่ดีและขอให้ดำเนินการให้เรียบร้อยตามเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งที่ผ่านมาการทำงานของกรมราชทัณฑ์ถือว่าทำได้ดี ทั้งในเรื่องการลดความแออัดในเรือนจำ การพัฒนาฝึกอาชีพให้กับผู้ต้องขัง ซึ่งตนขอให้รักษามาตรฐานและพัฒนาในส่วนที่ขาดเพิ่มขึ้นไปอีก




กำลังโหลดความคิดเห็น