xs
xsm
sm
md
lg

ครูสาวกำพร้าแม่ ร้องสภาทนายความฯ ขอให้ยื่นศาลสั่งบิดารับรองบุตรตามกฎหมาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



ครูสาวกำพร้าแม่ ร้องสภาทนายความฯ ขอให้ยื่นศาลสั่งบิดารับรองบุตรโดยชอบตามกฎหมาย เพื่อให้ได้รับสิทธิรักษาพยาบาล พร้อมทั้งขอให้สื่อช่วยตามหาแม่ชาวบุรีรัมย์ ที่ทิ้งไปตั้งแต่เด็ก ด้านนายกสภาทนายความฯ ระบุ จะประสานสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ช่วยตรวจดีเอ็นเอ หาหลักฐานความสัมพันธ์ทางสายเลือด

เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (18 ต.ค.) นายวิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความฯ นายสมพร ดำพริก อุปนายกฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย นายสัญญาภัชระ สามารถ อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ และ นายวีรศักดิ์ โชติวานิช รองเลขาสภาทนายความฯ ร่วมกันแถลงข่าวช่วยเหลือประชาชนด้านกฎหมาย

นายวิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความฯ
นายวิเชียร กล่าวว่า ทางสภาทนายความฯได้รับคำขอความช่วยเหลือจาก น.ส.สุพัตรา ประพฤทธิ์ตระกูล อายุ 35 ปี เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2565 เพื่อขอให้สภาทนายความฯ จัดทนายความดำเนินการยื่นคำร้องขอต่อศาล เพื่อให้มีคำสั่งให้ผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย ปัจจุบัน น.ส.สุพัตรา ประกอบอาชีพครูผู้ช่วย (เพิ่งได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการครูผู้ช่วย เมื่อเดือน ก.ค. 2565) และบิดาชื่อ นายสุนันท์ ประพฤทธิ์ตระกูล อายุ 56 ปี อาชีพขายปาท่องโก๋ ส่วนมารดาชื่อ นางนิตยา ถะเกิ้งผล แต่ตอนนี้ไม่สามารถติดต่อได้ เพราะมารดาได้ทิ้ง น.ส.สุพัตรา ไปตั้งแต่เด็ก จึงใช้ชีวิตอยู่กับบิดามาโดยตลอด ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบแล้วไม่พบข้อมูลนางนิตยา จากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร

อีกทั้งบิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ทำให้ นายสุนันท์ บิดา ไม่สามารถรับสิทธิต่างๆ ของข้าราชการ จาก น.ส.สุพัตรา ได้ เพราะความเป็นบิดายังไม่สมบูรณ์ ดังนั้น น.ส.สุพัตรา และนายสุนันท์ บิดา จึงมาขอความช่วยเหลือกับสภาทนายความฯ เพื่อต้องการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้นายสุนันท์ รับ น.ส.สุพัตรา เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อจะได้นำคำสั่งศาลไปแสดงต่อสำนักงานเขต เพื่อขอจดทะเบียนรับรองบุตร และใช้สิทธิข้าราชการเพื่อดูแลบิดาต่อไป ทั้งนี้ ขั้นตอนการยื่นต่อศาลนั้น เราจะต้องดำเนินการพิสูจน์ดีเอ็นเอ ระหว่าง น.ส.สุพัตรา กับบิดา เพื่อนำไปเป็นหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์และให้ศาลเห็นว่าทั้งสองคนมีความสัมพันธ์เป็นพ่อลูกกันจริง

นายสมพร อุปนายกฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย กล่าวว่า ทางนายกสภาทนายความฯและคณะกรรมการลงความเห็นกันว่าจะต้องให้การช่วยเหลือ น.ส.สุพัตรา เพราะเห็นว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของสังคม น้องเป็นครูผู้ช่วยได้ก็คิดถึงแม่ผู้ให้กำเนิด แม้ว่าจะทิ้งไปตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก ซึ่งเราจะดำเนินการยื่นคำฟ้องต่อศาลภายในเดือนนี้

น.ส.สุพัตรา กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ เคยไปปรึกษาเจ้าหน้าที่ของศาลแล้ว แนะนำให้มาหาสภาทนายความฯ เพื่อขอความช่วยเหลือ เนื่องจากเอกสารทะเบียนราษฎรของมารดาไม่ครบถ้วน ไม่มีเลขบัตรประชาชน 13 หลัก ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถติดต่อและตรวจสอบแล้วไม่พบข้อมูลจากทะเบียนราษฎร ไม่มีรูปถ่าย ไม่มีบัตรประชาชน ทราบแต่เพียงว่ามารดาชื่อ นางนิตยา ถะเกิ้งผล อายุประมาณ 40 ปีกว่า ภูมิลำเนาเดิมอยู่ อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ ตอนนี้ตนเองสอบบรรจุและเป็นครูผู้ช่วยวิชาภาษาไทย โรงเรียนวัดบึงทองหลาง มาได้ 4 เดือนแล้ว เมื่อรับราชการก็อยากจะให้พ่อได้สิทธิการรักษาพยาบาล จึงมาขอให้สภาทนายความฯ ช่วยยื่นต่อศาลเพื่อมีคำสั่งให้บิดารับรองบุตร โดยทางสภาทนายความฯได้ให้การช่วยเหลือเป็นอย่างดี นอกจากนี้ ตนเองอยากจะพบหน้าและกราบไหว้มารดาผู้ให้กำเนิดสักครั้ง จึงอยากจะให้สื่อมวลชนช่วยเผยแพร่และติดตามหามารดาของตนด้วย

“ตอนเด็ก แม่ได้มีปัญหากับพ่อ จึงพาหนูกับน้องหนีไปด้วย แล้วไปทิ้งไว้ที่บ้านเด็กกำพร้า แต่ทางบ้านเด็กกำพร้าสงสารหนู จึงติดต่อให้พ่อมารับ จากนั้นก็ขาดการติดต่อกับแม่ไปเลย แต่ก็ยังอาศัยอยู่ที่บ้านหลังเดิมที่แม่เคยอยู่ ตอนนี้ก็ยังไม่สามารถติดต่อกับแม่ได้ไม่ว่าทางเฟซบุ๊กหรือทางไหน เพราะแม่ทิ้งไปตั้งแต่ตอนที่หนูยังเล็ก”

น.ส.สุพัตรา ประพฤทธิ์ตระกูล อายุ 35 ปี ครูผู้ช่วย ยื่นขอความช่วยเหลือจากสภาทนายความฯ
ขณะที่ นายสัญญาภัชระ อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ กล่าวว่า นอกจากการช่วยเหลือทางด้านคดีแล้ว เนื่องจากเรามีทนายความประจำจังหวัดต่างๆ ก็จะพยายามประสานไปทางสภาทนายความฯ  จ.บุรีรัมย์ เพื่อให้ช่วยติดตามหามารดาให้อีกทางหนึ่งด้วย

ด้าน นายวีรศักดิ์ รองเลขาสภาทนายความฯ กล่าวว่า การตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ เพื่อเปรียบเทียบพิสูจน์ความสัมพันธ์ของบุคคลนั้น ในอดีตเคยใช้มาแล้ว เช่น คดีการหายตัวไปของหมอพัสพร หรือ พญ.ผัสพร บุญเกษมสันติ ก็มีการพิสูจน์ดีเอ็นเอจากเส้นผมของผู้ตายที่เจอในห้องพัก กับดีเอ็นเอของบิดาหมอพัสพร มาเปรียบเทียบให้เห็นว่าดีเอ็นเอสามารถเข้ากันได้ จึงมีความสัมพันธ์เป็นพ่อลูกกัน ส่วนกรณีของ น.ส.สุพัตรา นั้น บิดายังมีชีวิตอยู่ ก็จะพาน้องกับบิดาไปตรวจดีเอ็นเอ โดยเราจะประสานไปยังสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม คาดว่าจะไม่มีปัญหาอะไร เพราะว่าสภาทนายความฯ กับ รมว.ยุติธรรม นั้น ท่านเป็นนายกสภาทนายฯ พิเศษ คือ ดูแลสภาทนายความฯโดยอ้อม หลังจากที่เรารับช่วยเหลือ น.ส.สุพัตรา แล้ว ขั้นตอนต่อไปก็จะนัดหมายเพื่อพาน้องกับพ่อไปที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และอาจจะขอความอนุเคราะห์ให้เสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุดระหว่างรอผลตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ เราก็จะยื่นคำฟ้องต่อศาล ดำเนินการขอรับรองบุตร คู่ขนานกันไปได้ เพราะทาง น.ส.สุพัตรา กับบิดา มั่นใจว่ามีสายสัมพันธ์กันจริง
กำลังโหลดความคิดเห็น