xs
xsm
sm
md
lg

อสส.วาง 4 นโยบายหลัก อำนวยความยุติธรรมให้ประชาชน ด้านโฆษกอัยการยัน สั่งฟ้องคดีอาวุธปืน-ยาเสพติดอย่างเคร่งครัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


น.ส.นารี ตัณฑเสถียร อัยการสูงสุด
"นารี"อัยการสูงสุด วางนโยบายการบริหารงาน 4 หลัก คือ ยกระดับ , ปรับเปลี่ยน , วางรากฐาน และสานต่ออนาคต เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้ประชาชน ด้านโฆษกอัยการยันให้ความสำคัญสั่งฟ้องคดีอาวุธปืนและยาเสพติดอย่างเคร่งครัด ป้องกันอันตรายให้สังคม


วันนี้ (12 ต.ค.) ที่ห้องประชุม 120 ปี สำนักงานอัยการสูงสุด อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ อาคาร A น.ส.นารี ตัณฑเสถียร อัยการสูงสุด แถลงนโยบายการบริหารงานของสำนักงานอัยการสูงสุด โดยมีรองอัยการสูงสุด ผู้ตรวจการอัยการ อธิบดีอัยการสำนักงานในส่วนกลาง อธิบดีอัยการภาค ทั้ง 9 ภาค เลขาธิการสำนักงานอัยการสูงสุด เข้าร่วมรับฟัง

น.ส.นารี อัยการสูงสุด เปิดเผยว่า องค์กรอัยการเป็นหนึ่งในกระบวนการยุติธรรมด้วยการบริหารงานภายใต้แนวคิด "ปรับฐานราก เปลี่ยนทันโลก สู่สังคมยุติธรรมที่ดีขึ้น”ใน4 นโยบายหลักคือ

1.ยกระดับการเข้าถึง กระบวนการยุติธรรมของประชาชนที่สะดวกรวดเร็วผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต โดยใช้ (Application) ที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

2.ปรับเปลี่ยน และพัฒนางานองค์กรอัยการ ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยการลดขั้นตอน และลดระยะเวลาในการดำเนินการ บนพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่มาใช้ในในการทำงานเพื่อตอบสนองการสื่อสารทั้งภาครัฐและเอกชน
3.วางรากฐาน พัฒนาความพร้อมของบุคลากร และกลไกเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อใช้ในการทำงานและบูรณาการเชื่อมต่อข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเป็นระบบ

4.สานต่ออนาคต โดยสร้างกลไก เครื่องมือ ผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กับการอำนวยความยุติธรรม ส่งเสริมระบบการสอบสวนคดีอาญาที่มีการตรวจสอบและถ่วงดุล เพื่ออำนวยความยุติธรรมแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่น ศรัทธา ความไว้วางใจให้กับประซาชน สังคม และประเทศชาติ ในการอำนวยความยุติธรรมอย่างมีประสิทธิภาพ ตามนโยบายของสำนักงานอัยการสูงสุด

ทีมงานโฆษกสำนักงานอัยการ 5 คน ประกอบด้วย นายธรัมพ์ ชาลีจันทร์  ผู้ตรวจการอัยการ เป็น "โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด" , นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองอธิบดีอัยการสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.) เป็น "รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด" , นายคถา สถลสุด อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานที่ปรึกษากฎหมาย เป็น "รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด" , นายทรงพล สุวรรณพงศ์ ผู้ช่วยเลขานุการอัยการสูงสุด เป็น "รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด" และ นายจิตภัทร พุ่มหิรัญ อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคดีแพ่งกรุงเทพใต้ เป็น "รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด" ได้แถลงข่าวชี้แจงต่อสื่อมวลชน เกี่ยวกับการ ปฏิบัติงาน ตามนโยบายของอัยการสูงสุด ใน 4 นโยบายหลัก คือ ยกระดับ , ปรับเปลี่ยน , วางรากฐาน และสานต่ออนาคต

 นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง และ นายธรัมพ์  ชาลีจันทร์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด
นายโกศลวัฒน์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า นโยบายอัยการสูงสุดให้ความสำคัญกับการให้ความรู้ทางกฎหมายกับประชาชน โดยให้สำนักงานอัยการแต่ละพื้นที่ เปิดทำการเพื่อให้บริการวันเสาร์แล้ว 110 สาขา ทั่วประเทศ เพื่อให้บริการประชาชนในวันเสาร์ ซึ่งเป็นวันหยุดราชการที่ประชาชนอาจสะดวกกว่าวันธรรมดา

นอกจากนี้ยังมีนโยบายในเชิงรุก โดยการใช้รถโมบายไปจอดตามสถานที่ หรืองานต่างๆ เพื่อตอบคำถามปัญหากฎหมายแก่ประชาชน โดยอัยการคุ้มครองสิทธิ์ พร้อมช่วยเหลือประชาชนทุกระดับ เพื่อให้รู้แนวทางการต่อสู้คดีของตนเอง

สำหรับเหตุการณ์อดีตตำรวจกราดยิงเด็ก ชาวบ้านบาดเจ็บและเสียชีวิต ที่จ.หนองบัวลำภู พนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิภาค 4 ได้ลงพื้นที่ตั้งแต่วันเกิดเหตุ เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบกว่า 30 ครอบครัว โดยการช่วยดูแลตั้งแต่เรื่องการกรอกเอกสารชี้แจง ให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย รวมถึงเรื่องการแจ้งสิทธิ์การช่วยเหลือเยียวยาที่ควรได้รับให้กับผู้บาดเจ็บและญาติผู้เสียชีวิต

นายธรัมพ์ ชาลีจันทร์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า ด้านคดีเกี่ยวกับยาเสพติดนั้น สำนักงานอัยการสูงสุดให้ความสำคัญมาตลอดอยู่แล้ว มีสำนักงานอัยการฝ่ายคดียาเสพติดที่อยู่ในส่วนกลาง ซึ่งรับผิดชอบคดียาเสพติดโดยเฉพาะ และสำนักงานย่อยพื้นที่ทั่วประเทศ ในส่วนของผู้ค้ายาเสพติดนั้น อัยการจะสั่งฟ้องและบรรยายฟ้องในข้อหาตามพฤติการณ์ที่กระทำผิด เพื่อให้ได้รับโทษสูงสุดอยู่แล้ว

ส่วนผู้เสพยาสเพติพ ที่มีพฤติกรรมหลอนยา หรือโรคจิต ก็จะเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาตามกฎหมาย หากไม่ต้องการให้ถูกดำเนินคดี ซึ่งอัยการจะพิจารณาแต่ละคดีไป ว่าผู้เสพรายนั้นว่ามีพฤติกรรมความรุนแรง ที่น่าเป็นห่วงอาจเป็นภัยสังคมหรือไม่ หากมีก็จะยื่นคำร้องต่อศาลให้พิจารณาให้เข้ารับการบำบัดต่อเนื่อง หรือให้ลงโทษ เพื่อป้องกันไม่ให้ออกไปก่อเหตุรุนแรงกับคนในครอบครัว และสังคมอีก

ขณะที่คดีอาวุธปืน นั้น มี พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ที่มีอัตราโทษสูงอยู่แล้ว สื่อมวลชนจึงต้องช่วยกันเผยแพร่เกี่ยวกับกฎหมายและบทลงโทษคดีอาวุธ ซึ่งคดีอาวุธปืนเถื่อนนั้น ศาลจะลงโทษโดยไม่รอลงอาญา เพื่อให้ผู้ที่ครอบครองอาวุธปืน เกิดความเกรงกลัว ไม่พกพาหรือครอบครองอาวุธปืนที่ไม่ถูกฎหมาย

นายทรงพล รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึง ประเด็นคดีการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือ คดีนักการเมืองว่า เรามีพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบการการทุจริตฯ ซึ่งกำหนดระยะเวลาให้พิจารณาสั่งฟ้องภายใน 120 หรือ 180 วัน แล้วแต่คดี อย่างไรก็ตามเมื่อป.ป.ช.ส่งสำนวนคดียังพนักงานอัยการ บางครั้งพยานหลักฐานไม่เพียงพอ หรือคดีหมดอายุความ อัยการก็จำเป็นต้องมีความเห็นว่า มีข้อไม่สมบูรณ์แล้วคืนสำนวนคดีกลับไปให้ป.ป.ช.เพื่อดำเนินการฟ้องเองได้

นอกจากนี้นายทรงพล ยังกล่าวถึง เรื่องการฟ้องคดีที่ไม่ยุ่งยาก ว่า ถือเป็นนโยบายของอัยการสูงสุด ที่มีประโยชน์ต่อประชาชนเป็นอย่างมาก โดยจะต้องมีหลักเกณฑ์คือ จำเลยให้การรับสารภาพ คดีต้องไม่มีข้อยุ่งยาก เป็นคดีที่ไม่อุกฉกรรจ์ ไม่อยู่ในความสนใจ ไม่ต้องพิจารณาเนื้อหาสาระพยานหลักที่เกี่ยวข้องกับคดี เเละคดีที่พนักงานสอบสวนต้องสรุปสำนวนเสร็จสิ้นเเละส่งพนักงานอัยการ 

"การจะขอฟ้องคดีในทันที ผู้ต้องหาเองต้องยื่นคำร้องต่อพนักงานอัยการประกอบกับเห็นผลความจำเป็นของผู้ต้องหาที่ต้องฟ้องด่วน เช่นคดีขาดหลักทรัพย์ประกันตัว ,เป็นคดีไม่ยุ่งยาก ,เป็นคดีที่ศาลมีอัตรากำหนดโทษ(ยี่ต๊อก) ,ผู้ต้องหาเดินทางไปต่างประเทศ โดยสามารถยื่น
เพื่อให้อัยการพิจารณาเป็นรายๆไปหากเข้าเงื่อนไขอัยการสามารถใช้ดุลพินิจได้ โดยเมื่ออัยการสูงสุดประกาศนโยบายนี้ก็สามารถเริ่มได้ทันที"
กำลังโหลดความคิดเห็น