รายการ “ถอนหมุดข่าว” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APP และสถานีโทรทัศน์ NEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันพุธที่ 5 ตุลาคม 2565 นำเสนอรายงานพิเศษ วิทยุทรานซิสเตอร์ อย่าดูถูกเชย ตกยุค ของต้องมี ยามภัยพิบัติ
จากดราม่าด่าแรงวันแรก กระแสก็เริ่มตีกลับ เสียงด่าค่อยๆ จางไป ในเรื่องของวิทยุทรานซิสเตอร์สู้น้ำท่วม จากปากของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
เมื่อมีการยกตัวอย่างวิธีรับมือภัยพิบัติจากประเทศที่รวยกว่าไทย อย่างอเมริกา ญี่ปุ่น และอื่นๆ ซึ่งภัยธรรมชาติของเขา ไม่ว่าจะพายุ น้ำท่วม หรือแผ่นดินไหว ดีกรีความรุนแรง หนักกว่าของไทย แบบเทียบกันไม่ได้
สูตรสำเร็จมาตรฐานสากล จากประเทศเจริญแล้วเหล่านี้ ก็ยังต้องพึ่งวิทยุทรานซิสเตอร์ สำหรับใช้สื่อสารในพื้นที่ประสบภัยเช่นกัน
ถึงขนาดชุดอุปกรณ์ช่วยชีวิต ยังต้องมีวิทยุทรานซิสเตอร์ พร้อมถ่าน ปรากฏในรายการ “ของมันต้องมี”
และมีการอ้างถึงยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็พึ่งพาการสื่อสารผ่านวิทยุทรานซิสเตอร์เช่นกัน ตอนเกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่
อย่างไรก็ตาม ไม่แปลกที่บิ๊กตู่จะโดนเยาะเย้ยถากถางเละ เพราะภาพลักษณ์ของนายกรัฐมนตรี ในสายตาของหลายๆ คน มองว่าเป็น “ลุงเชย”
พอมาบวกกับวิทยุทรานซิสเตอร์ ที่ภาพลักษณ์ดูเป็นของเชย ของตกยุค เลยกลายเป็นสองสิ่งดับเบิ้ลเชย โคจรมาเจอกัน
แต่คำถามก็คือ พ.ศ.นี้ หมดยุคของวิทยุทรานซิสเตอร์ไปแล้วจริงหรือไม่?
จากการตรวจสอบของทีมงาน “ถอนหมุดข่าว” ก็พบว่าในเว็บขายของออนไลน์ ยังมีวิทยุทรานซิสเตอร์ขายกัน แถมราคาถูกมาก เครื่องราคาไม่ถึงร้อยบาท ก็มี
แถมวิทยุทรานซิสเตอร์ปัจจุบัน มีการพัฒนาให้แตกต่างจากสมัยก่อนหลายอย่าง ที่สำคัญก็เช่น สามารถชาร์จไฟฟ้าได้ ไม่ต้องสิ้นเปลืองค่าถ่าน
แต่วิทยุพวกนี้ ก็ยังมีช่องสำหรับใส่ถ่านไว้ให้อยู่ดี เพื่อให้เป็นทางเลือกในการใช้พลังงานแบบทูอินวัน
นอกจากนี้ ยังมีช่องเสียบ USB และช่องต่างๆ เพื่อให้สามารถเล่นไฟล์เพลงที่ชื่นชอบได้เลย ไม่จำเป็นต้องรอฟังเพลงจากสถานี
ขณะที่สมาร์ทโฟน ซึ่งใช้ฟังวิทยุได้ในตัว ถือว่าเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้วิทยุทรานซิสเตอร์ ค่อยๆ ถอยร่นไปสู่การสูญพันธุ์
แต่ ณ เวลานี้ ก็เป็นแค่รอยต่อของยุควิทยุทรานซิสเตอร์ มันทำท่าเหมือนจะตกยุค แต่ก็ยังมีอยู่ เป็นของที่ชาวบ้านยังซื้อหามาใช้งานอยู่จริงๆ ไม่ได้จบสิ้นไปกับกาลเวลาอย่างของหลายๆ อย่างแต่อย่างใด
โดยเฉพาะ ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน คนแก่ในชนบท ยังมีวิทยุทรานซิสเตอร์ เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
ร้านสะดวกซื้อทุกวันนี้ ยังจำหน่ายถ่านวิทยุถ่านไฟฉายกันโครมๆ ก็เป็นดัชนีชี้ว่า เครื่องใช้ไฟฟ้าเชยๆ ทั้งหลาย ยังไม่ตาย
สถานีวิทยุเอเอ็ม ก็ยังเปิดเพลงและข่าวสารกันคึกคัก คุณภาพเสียงอาจไม่ดีเท่าเอฟเอ็ม แต่ก็กระจายคลื่นไปได้ไกลกว่า ถือเป็นจุดแข็งของ “เอเอ็ม” และ “ทรานซิสเตอร์”
แม้แต่แบรนด์วิทยุเก่าแก่อย่าง “ธานินทร์” ผู้ปฏิวัติสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไทย ผลิตวิทยุ “เมด อิน ไทยแลนด์” ออกมาสู้และเอาชนะวิทยุต่างประเทศ ตั้งแต่เมื่อ 50 กว่าปีก่อน
ทุกวันนี้ ก็ยังมีวิทยุธานินทร์ จำหน่ายอยู่เลย ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ โฆษณาให้ฟรี
ในยามปกติ มีกระแสไฟฟ้า สำหรับหลายๆ คน ย่อมมองข้ามความไม่สะดวกสบาย และดูล้าสมัยของวิทยุทรานซิสเตอร์
แต่ลองจินตนาการถึงพื้นที่ภัยพิบัติ ไฟฟ้าดับสิ้น อินเทอร์เน็ตล่ม ทุกสิ่งทุกอย่างมืดมิดสิ้นหวัง โทรศัพท์มือถือที่เคยพึ่งพามันตลอด 24 ชั่วโมง พอแบตฯ หมด ก็มีสภาพที่ไม่ต่างจากไม้ตีพริก
ประโยชน์ของวิทยุทรานซิสเตอร์ ในสถานการณ์ภัยพิบัติเช่นนี้ อาจเลอค่าราวกับ “อัศวินขี่ม้าขาว” โผล่มาช่วยให้การสื่อสารจากโลกภายนอก ไม่ขาดตอนไปอย่างสิ้นเชิง
ว่ากันว่า ระบบการสื่อสารทางวิทยุ คือกระดูกสันหลังของงานบรรเทาสาธารณภัย
บิ๊กตู่ เมื่อตอนปฏิวัติยึดอำนาจเมื่อ 8 ปีก่อน การสื่อสารทุกช่องทาง รวมถึงคลื่นเอเอ็มของวิทยุทรานซิสเตอร์ ก็โดนลุงเชยคนนี้ ยึดเรียบ เพื่อใช้สื่อสารทางเดียว
ใครว่าวิทยุทรานซิสเตอร์ไม่สำคัญ อาจต้องลองคิดใหม่
--------------------------------
**หมายเหตุ
ดาวโหลดแอป Sondhi App ได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore : https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play : https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android
สมัครสมาชิกได้แล้ววันนี้
รายเดือนเพียง เดือนละ 99 บาท
รายปี 990 บาท (10 เดือน แถม 2 เดือน )
ถ้ามีปัญหาการใช้งาน app หรือการสมัครสมาชิกใน app ติดต่อสอบถามได้ที่ Line id : @sondhitalk หรือ https://lin.ee/Skns1k1