xs
xsm
sm
md
lg

สุดยอดตำรวจไทย “ทำนุรัฐ คงมั่น” มือปราบเฟกนิวส์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



(Police Focus)

สัปดาห์ก่อนสมาคมนักข่าวอาชญากรรมแห่งประเทศไทย จัดพิธีมอบรางวัล “สุดยอดเกียรติยศตำรวจไทย” ประจำปี 2564-2565 โดยมี “บิ๊กเด่น” พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ว่าที่ ผบ.ตร.เป็นประธาน ที่อาคารพุทธวิชชาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร บางเขน มีหลายสาขาด้วยกันเป็นสิ่งการันตีถึงการตั้งใจทำงาน ทำความดี ความขยัน เป็นที่ประจักษ์ในสังคม แม้บางคนไม่เป็นที่รู้จักของผู้บังคับบัญชาก็ตาม น่าสนใจสาขาสืบสวนสอบสวนมีผู้ได้รับรางวัล 2 นาย ได้แก่ พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ ผบก.สส.บช.น.นักสืบระดับอาจารย์ จากคดีดังแห่งบ้านกกกอก จ.มุกดาหาร และ พ.ต.อ.ทำนุรัฐ คงมั่น รอง ผบก.สอท.1 บช.สอท.นักสืบไซเบอร์ เป็นที่รู้จักจากปราบปรามคดี “Fake News” นอกจากนี้ ยังมีภาคเอกชน ประชาชน ผู้สนับสนุนงานตำรวจ จิตอาสา องค์กรจิตสาธารณะ และองค์กรในกระบวนการยุติธรรมขึ้นรับรางวัลด้วย

พ.ต.อ.ทำนุรัฐ กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายรับผิดชอบคดี “Fake News” หรือข่าวปลอม ภายใต้ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมและความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศตปค.ตร.) ที่มี พล.ต.อ.ดำรงค์ศักดิ์ เป็น ผอ.ศูนย์ฯ พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผบช.สอท.เลขาฯ ศูนย์ฯ เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อส่วนรวมและประชาชน ก่อนหน้านี้ช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก มีข่าววัคซีนปลอมฉีด 2 เข็มแล้วตายอยู่บ่อยครั้ง หรือคดีความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 นำข้อมูลอันเป็นเท็จ ปลอม บิดเบือนเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ในส่วนงานหลัก สอท.ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการเช่นกัน ปฏิบัติงานร่วมกับศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย (AFNC) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) มีมาตั้งแต่ปี 2561 มอนิเตอร์ข่าวที่เกิดความเสียหาย 4 เรื่อง 1. ภัยพิบัติ 2. ผลิตภัณฑ์และสุขภาพ 3. นโยบายรัฐบาล 4. เศรษฐกิจ

ตนทำหน้าที่สืบสวนปราบปรามเมื่อรับเรื่องจาก AFNC พิจารณาว่าเข้าข้อกฎหมายหรือไม่ มาตราหลัก คือ 14 จากนั้นประสานกระทรวงดีอีเอสให้แจ้งหน่วยงานผู้เสียหาย เพื่อแจ้งความดำเนินคดีแล้วทำการพิสูจน์ตัวตนว่า เจ้าของบัญชีตัวจริงโพสต์ลงในสื่อโซเชียล อาทิ Facebook Twitter Instagram TikTok คือใคร ทราบตัวก็สืบสวนติดตามจับกุมดำเนินคดี พร้อมตรวจยึดคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ ใช้ในการกระทำผิดเพื่อประกอบสำนวนสั่งฟ้องคดี ข่าวปลอมเป็น 1 ใน 5 หน้างานที่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร.กำหนดไว้ตั้งแต่ก่อตั้งหน่วย บช.ไซเบอร์ เมื่อปี 2563 ซึ่งข่าวปลอมได้ตามมาด้วย ก่อนหน้านี้ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) หรือ PCT เป็นผู้รับผิดชอบก่อนที่เรารับมาช่วงต่อ

“เป็นขวัญกำลังใจ จริงๆ เป็นไปได้อยากให้ทุกคนรับรางวัล ผมไม่ใช่คนเก่งที่สุด แต่เขามองว่า ไฮไลต์ของผมคือรับผิดชอบข่าวปลอม ผู้บังคับบัญชาหลายคนอาจพูดถึงถ้าข่าวปลอมก็ต้อง รองสิงห์ เวลาประชุมกับ บช.ในสังกัด ตร.ที่ไซเบอร์เป็นแม่งาน ได้รับมอบหมายทำหน้าที่เหมือนเลขาฯ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ตร.เป็นผู้รับผิดชอบหลัก ได้รับความไว้วางใจพูดปากต่อปาก จึงอาจทำให้ผมเป็นที่รู้จักจากเรื่องนี้ แต่สุดท้ายการทำงานมันยังมีคดีอื่น ให้เราต้องทำอีกมากมายบนโลกออนไลน์” รองสิงห์ กล่าว

ย้อนดูเส้นทางของ พ.ต.อ.ทำนุรัฐ พื้นเพเป็นชาว จ.พัทลุง จบวิศวคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา สอบเข้านายร้อยหลักสูตร กอส.รุ่น 15 เทียบเท่า นรต.รุ่น 48 เริ่มรับราชการที่ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ ตร.มีโอกาสย้ายไปอยู่หน่วยท่องเที่ยว ค้ามนุษย์ กองปราบปราม จเรตำรวจ เป็นนายเวรผู้บังคับบัญชาระดับ ตร.และมา บก.สอท.1 ยุคบุกเบิก รับผิดชอบพื้นที่กรุงเทพฯ ทำคดีเกี่ยวกับความเสียหายต่อประชาชนเป็นหลัก ในขณะที่ บก.ปอท.จะเป็นด้านความมั่นคง หน้างานหลัก ผบ.ตร.กำหนดไว้ 5 ประเภท คือ 1. หลอกลวงทางการเงินและลงทุน 2. หลอกลวงขายสินค้าผิดกฎหมาย 3. ความผิดคอมพิวเตอร์ (ข่าวปลอม โรแมนซ์สแกม แฮกเกอร์ ส่งไวรัสยึดระบบ) 4. เพศ ละเมิดต่อเด็ก เยาวชน สตรี สื่อลามก 5. การพนันออนไลน์

นามขานไซเบอร์ 16 กล่าวต่อว่า เราให้ความสำคัญทุกคดีโดยเฉพาะหลอกลวงลงทุน ซึ่งกลายมาจากหลอกให้โอนเงินก่อนหน้านี้ที่ปรากฏ คดีฟาร์มเห็ด Turtle Farm ของเฮียเต่า ที่ จ.สกลนคร มีผู้เสียหาย 2,700 กว่าราย มูลค่าความเสียหาย 2,000 ล้านบาท ชักชวนโดยอ้างว่าได้ค่าตอบแทนร้อยละ 30 ต่อเดือน ใครก็อยากลงทุน ช่วงแรกได้จริงต่อมาหมุนเงินไม่ทันสุดท้ายล่ม จับได้แล้ว 7 ราย หนีไปอังกฤษ 2 ราย คดีเป้ Pminer หลอกลงทุนคริปโต ที่ จ.เชียงใหม่ ผู้เสียหาย 415 ราย เสียหาย 589 ล้านบาท พาครอบครัวหนีไปกัมพูชา คดีเหล่านี้ลักษณะเหมือนแชร์ลูกโซ่เข้าข่ายความผิด พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินฯ ยังมีคดีหลอกขายสินค้าแต่ไม่ได้ของ สินค้าไม่ตรงปก อีกทั้งจับตาคดีเกี่ยวกับเทคโนโลยีชั้นสูง “แฮกเกอร์” ที่ในอนาคตมีความรุนแรงมากขึ้น ก่อนหน้านี้แฮกเว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญ

อาชญากรรมไซเบอร์พัฒนาเร็วมาก ทุกอย่างบนโลกออนไลน์เป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย ผู้เสียหายถูกหลอกง่ายความเสียหายเกิดขึ้นไว เมื่อก่อนจะโอนเงินต้องไปธนาคารยังมีเวลาให้ตักเตือน ปัจจุบันทุกอย่างมันเร็วไปหมด คุยเร็ว โอนเร็ว และไม่มีพรมแดนโพสต์เดียวดึงคนเป็นร้อยเป็นพัน เกิดจากประชาชนไม่มีภูมิต้านทาน ตร.จึงจัดให้มีวัคซีนด้วยการประชาสัมพันธ์อย่าหลงเชื่อ พร้อมเปิดรับแจ้งความออนไลน์ เมื่อผู้เสียหายถูกหลอกแล้วอยากได้เงิน ทรัพย์สิน สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่เสียไปคืน แต่ความเป็นจริงนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะต้องอาศัยเครือข่ายจากหลายหน่วยงาน มีกฎหมายที่ทันสมัย หรือ MOU เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาจริงๆ เช่น เรื่องการประสานธนาคารในการอายัดบัญชี ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตในการเช็ค IP เป้าหมายสิ่งแรก คือ 1. ให้ประชาชนมีภูมิต้านทาน 2. เมื่อถูกหลอกแล้วได้ทรัพย์สินคืนให้มากและรวดเร็วที่สุด

ต่างประเทศค่อนข้างมีระบบการป้องกันและตรวจสอบที่ดี ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องมีความรับผิดชอบต่อสาธารณะ มีจิตสาธารณะต่อสังคมส่วนรวม ไม่ใช่ให้ประชาชนมารับภาระเหล่านี้ ตนมองว่า ประเทศไทยยังน้อยไป ของเขาคดีหลอกโอนเงินเกิดขึ้นยากมาก ถ้ามีก็ประเภทหลอกให้รักแล้วโอนเงิน บางประเทศโอนเกิน 50,000 บาท มีการพิสูจน์ตัวตนใช่เจ้าของบัญชีหรือไม่ แน่นอนตำรวจสืบสวนติดตามจับกุมอยู่แล้วแต่ทำคนเดียวไม่ได้ คนร้ายก่อเหตุเสร็จหนีไปต่างประเทศ อย่างแก๊งคอลเซ็นเตอร์อยู่ชายแดนมีต่างชาติเป็นนายทุน ตั้งศูนย์เอาคนไทยไปหลอกคนไทยตามจับลำบาก เพราะเป็นอธิปไตยของเขายิ่งสมัยนี้คนร้ายใช้ช่องว่าง โอนเงินเข้าคลิปโตหมดเลยเช็กไม่ได้ติดตามยาก นี้คือปัญหาของอาชญากรรมที่พัฒนาอยู่ตลอด หรือพนันออนไลน์เป็นระบบ “โพยก๊วน” เงินไหลออกนอกประเทศเสียหายเป็นพันล้าน

ตำรวจไซเบอร์ทุกนายมีพื้นฐานจากตำรวจสืบสวนพื้นที่ พอมาอยู่ บช.ไซเบอร์ ต้องปรับพื้นฐานโดยการฝึกอบรมให้มีความรู้ความเข้าใจระบบเทคโนโลยี กฎหมาย พ.ร.บ.คอมพ์ กฎหมายไซเบอร์แห่งชาติเพิ่งออกมาเมื่อปีที่แล้ว “อาชญากร” มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ในขณะตำรวจบางครั้งมีความรู้ด้านสืบสวนคดีพื้นๆ อีกหนึ่งสิ่งสำคัญเครื่องมือมีความทันสมัย หลายหน่วยกำลังจัดหารวมถึง สอท.ที่ทาง ตร.อยากได้มาใช้ กระทรวงดีอีเอสเองให้การสนับสนุนอยู่ในขั้นตอนนำเข้า จึงอาศัย Manual ความชำนาญของตำรวจไปก่อน ผู้บังคับบัญชาทุกคนควรให้ความสำคัญ 3 เรื่อง คือ 1. พัฒนาบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญตลอดเวลา 2. เครื่องมือทันสมัย 3. บุคลากรที่มีความชำนาญพิเศษด้านเทคโนโลยี ตนมีพื้นฐานด้านวิศวคอมพิวเตอร์

“ผมไม่ได้ซีเรียสว่าจะต้องเด่นกว่าใคร ทำงานเหนือกว่าใคร หรือให้ใครรัก ให้ใครประทับใจ มันไม่ใช่สาระสำคัญ เมื่อเรามีบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ สิ่งแรกที่นึกถึงทำหน้าที่ตรงนี้ให้ดีที่สุด ที่เหลืออยู่ที่ว่าเราอยู่ในระดับไหน ผู้ปฏิบัติ หรือผู้บริหาร อย่างผมเป็นผู้บริหารควบคุมกำกับดูแลงานให้ดี สั่งการให้งานทุกงานมันเดินไปได้ อาชีพตำรวจเรามีประโยชน์ต่อส่วนรวม ด้วยบทบาทหน้าที่ทำเพื่อส่วนรวมอยู่แล้ว ทั้งนี้ ฝากถึงประชาชนทุกอย่างบนโลกออนไลน์เกิดขึ้นไว อย่ามองเป็นเรื่องสนุกเพราะตรงนั้นมีหลุมกับดักมากมาย ถ้าเดินไปไม่ระมัดระวังก็ตกเป็นเหยื่อได้” นักสืบไซเบอร์ ทิ้งท้าย










กำลังโหลดความคิดเห็น