ศาลฎีกานักการเมืองจำคุก 16 เดือน "นริศร ทองธิราช" อดีตส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย กรณีเสียบบัตรลงคะแนนเสียงแทนกันในสภา เมื่อปี 2556 ศาลชี้พฤติการณ์เป็นเรื่องร้ายแรง
วันนี้ (22 ก.ย.)เมื่อเวลา 14.00 น. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อม.36/2562 ระหว่าง อัยการสูงสุด โจทก์กับ นายนริศร ทองธิราช อดีต ส.ส. จังหวัดสกลนคร พรรคเพื่อไทย จำเลย
คดีนี้อัยการโจทก์ฟ้องว่า ขณะเกิดเหตุนายนริศรจำเลยดำรงตำแหน่งสมาชิกสถาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2556 เวลากลางวัน มีการประชุมร่วมกันของ รัฐสภ าวาระที่สอง เพื่อพิจ ารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เวลา 17.33 น. จำเลยนำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นบัตรจริงของจำเลยและของสมาชิกรัฐสถารายอื่นหลายใบเสียบเข้าไปในเครื่องออกเสียงลงคะแนนและกดปุ่มเพื่อแสดงตนและลงมติ ต่อมาวันที่ 11
ก.ย.2556 เวลา 16.43 น.จำเลยนำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นบัตรจริงของจำเลยและของสมาชิกรัฐสภารายอื่นจำนวนหลายใบเสียบเข้าไปในเครื่องออกเสียงลงคะแนนและกดปุ่มเพื่อแสดงตนแล้วลงคะแนน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ.2543 มาตรา 123/1 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 9 นับโทษจำเลยต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อม.8/2565 ของศาลนี้ จำเลยให้การปฏิเสธ
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยข้อแรกว่า โจทก์มีอำนาจยื่นฟ้องหรือไม่ องค์คณะผู้พิพากษาเห็นว่า
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 15-18/2556 ไม่มีประเด็นเรื่องความรับผิดทางอาญา การที่บุคคลใดจะต้องรับโทษอย่างไรหรือไม่ จึงเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการเป็นคดีอาญาต่อไป คณะกรรมการ ป.ป.ช.ย่อมมีอำนาจหน้าที่ไต่สวนข้อเท็จจริง ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. มิได้ขี้มูลความผิดไปโดยอาศัยเหตุที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังที่จำเลยต่อสู้ แม้รัฐธรรมนูญบัญญัติให้รัฐสภามีอำนาจหน้าที่ในการเสนอญัตติและพิจารณาญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แต่ในส่วนการกระทำของสมาชิกรัฐสภาในฐานะเจ้าพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หากปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติใดที่อาจมีความรับผิดทางอาญาก็ต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาพิพากษาคดีโดยศาล คณะกรรมการ ป.ป.ช. มิได้เร่งรีบรวบรัดโดยมุ่งจะเอาผิดดังที่จำเลยอ้าง บันทึกแจ้งข้อกล่าวหาระบุวันเดือนปี ที่เกิดเหตุโดยละเอียดแล้ว จำเลยมิได้แถลงต่อศาลว่าไม่เข้าใจคำฟ้องและฟ้องของโจทก์บรรยายชอบแล้ว โจทก์มีอำนาจฟ้อง
ประเด็นมีปัญหาต้องพิจารณาข้อต่อไปว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จำเลยเบิกความรับว่า บุคคลที่ปรากฏในคลิปวีดิทัศน์ คือจำเลย เจือสมกับคำเบิกความของพยาน ศาลส่งคลิปวัดิทัศน์ไปตรวจพิสูจน์แล้วไม่พบร่องรอยการตัดต่อ ฟังได้ว่าจำเลยนำบัตรหลายใบเสียบเข้าไปในเครื่องลงคะแนนตามที่ปรากฏภาพในคลิปวีดิทัศน์ทั้ง 3 คลิปจริง
มีปัญหาต้องพิจารณาข้อต่อไปว่า การที่จำเลยนำบัตรหลายใบใส่เข้าไปในเครื่องลงคะแนนตามที่ ปรากฎในคลิปวีดิทัศน์เป็นการลงคะแนนแทนสมาชิกรายอื่นหรือไม่ พยานโจทก์หลายปากเบิกความว่า บัตรในคลิปวีดิทัศน์เป็นบัตรจริง และมีจำนวนมากกว่า 1 ใบ เหตุที่ทราบว่าเป็นบัตรจริงเนื่องจากเป็นบัตรที่มีรูป การกระทำของจำเลยเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนอันส่งผลให้ปรากฎผลการลงคะแนนหลายครั้งสำหรับบัตรแต่ละใบได้ จึงฟังว่าจำเลยลงคะแนนแทนสมาชิกรายอื่น เมื่อไม่มีการออกบัตรใหม่แทนบัตรใบเดิมจึงไม่อยู่ในวิสัยที่จำเลยจะมีบัตรจริงหลายใบดังที่อ้าง บัตรเดิมไม่สามารถลงคะแนนได้จึงไม่มีประโยชน์ที่จำเลยจะต้องนำบัตรที่ถูกยกเลิกแล้วมาใช้บัตรจริงและบัตรสำรองจะแสดงผลการลงคะแนนเพียงครั้งเดียว จึงไม่มีเหตุที่จำเลยจะต้องใส่ทั้งบัตรจริงและบัตรสำรองลงในเครื่องอ่านบัตร ภาพตามคลิปวีดิทัศน์ปรากฎว่ามีสัญญาณไฟกะพริบ
ทุกครั้งที่ใช้บัตรแต่ละใบ แสดงว่าเป็นบัตรอิเล็กทรอนิกส์ลงคะแนนทั้งสิ้น พยานหลักฐานฟังได้ว่า จำเลยลงคะแนนแทนสมาชิกรายอื่นจริง
มีปัญหาต้องพิจารณาข้อต่อไปว่า การกระทำของจำเลยตามที่ปรากฏในคสิปวีดิทัศน์เป็นเหตุการณ์ตามฟ้องหรือไม่
เห็นว่า เสียงที่ปรากฏในคลิปวีดิทัศน์ตรงกับข้อความรายงานการประชุมรัฐสภาซึ่งได้บันทึกถ้อยคำของผู้เข้ารวมประชุมไว้แทบทุกถ้อยคำย่อมนำมาเปรียบเทียบกับเสียงที่ปรากฎในคลิปวีดิทัศน์ได้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า การกระทำของจำเลยตามที่ปรากฏในคลิปวีดิทัศน์เป็นเหตุการณ์ตามฟ้องแม้ต่อมาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลง ยกเว้นหมวด 2 แต่ก็หาได้มีผลเป็นการลบล้างว่าไม่มีการกระทำของจำเลยอันชอบด้วยกฎหมายเกิดขึ้น หรือมีผลกลับกลายเป็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดที่จำเลยอ้างเอกสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 130 วรรคหนึ่ง
เห็นว่า การใช้เอกสิทธิ์ดังกล่าวต้องชอบด้วยข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ตลอดจนอยู่ภายใต้คำปฏิญาณตน เอกสิทธิ์ดังกล่าวจึงมิได้เป็นข้อยกเว้นความรับผิดทางอาญาให้จำเลยสามารถลงมติแทนสมาชิกรัฐสภารายอื่นได้
การกระทำของจำเลยตามฟ้องเป็นการกระทำต่างวันเวลากัน ความผิดในแต่ละคราวอาศัยเจตนาในการกระทำความผิดแยกต่างหากจากกันได้ จึงเป็นความผิด 2 กรรม
พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 129/1 เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 องค์คณะผู้พิพากษาเสียงข้างมากให้ลงโทษจำคุกกระทงละ 1 ปี คำเบิกความของจำเลยเป็นประโยซน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ 1ใน 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกกระทงละ 8 เดือน รวม 2 กระทงเป็นจำคุก 16 เดือน พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง แม้ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยกระทำความผิดใดๆ มาก่อนก็ไม่มีเหตุเพียงพอที่จะรอการลงโทษแก่จำเลยได้ ส่วนที่โจทก์มีคำขอให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ อม.8/2565 ของศาลนี้ นั้น เนื่องจากคดีดังกล่าวศาลยังมิได้มีคำพิพากษา คำขอส่วนนี้จึงให้ยก