xs
xsm
sm
md
lg

“ดีเอสไอ” ยึดรถหรูเมืองผู้ดี 26 คัน ถูกโจรกรรมข้ามชาติ เร่งตามคืนอีก 9 คัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - "รมว.ยุติธรรม-ดีเอสไอ” ร่วมแถลงยึดรถหรูจากอังกฤษ หลังเครือข่ายโจรกรรมข้ามชาติลักลอบนำเข้ามาจำหน่ายในไทย 35 คัน ตามยึดได้ 26 คัน เหลือ 9 คันยังไม่คืน

วันนี้ (19 ก.ย.) เวลา 11.00 น. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม พร้อม นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีดีเอสไอ และ พ.ต.ท.พเยาว์ ทองเสน รองอธิบดีดีเอสไอ ร่วมแถลงผลการปฎิบัติการ “ไททาเนี่ยม” ตรวจยึดรถยนต์หรูที่ถูกโจรกรรมจากประเทศอังกฤษ พร้อมของกลางรถยนต์ จำนวน 26 คัน

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า สืบเนื่องจาก ดีเอสไอ ได้รับคำร้องขอความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา (MLAT) จาก หน่วยงานปราบปรามอาชญากรรมแห่งชาติของสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำกรุงเทพฯ ขอให้ดีเอสไอทำการสืบสวนสอบสวน กรณีขบวนการโจรกรรมรถยนต์ราคาสูงจากประเทศอังกฤษ จำนวน 35 คัน และนำเข้ามาในประเทศไทยโดยผิดกฎหมาย เพื่อส่งคืนผู้เสียหายที่แท้จริงในประเทศอังกฤษและดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด ก่อนรับเป็นคดีพิเศษ เลขที่ 78/2561

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนรถยนต์ทั้งหมด 35 คัน 13 ยี่ห้อ รวมมูลค่าราคารถยนต์ในประเทศอังกฤษ จำนวน 2,321,527 ปอนด์สเตอร์ลิง คิดเป็นเงินไทย 100,986,429 บาท และหากนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยโดยถูกต้องจะมีมูลค่าราคาประมาณ 300 ล้านบาทเศษ

ด้าน นายไตรยฤทธิ์ เผยว่า จากการสืบสวนติดตามพบว่ารถยนต์ทั้ง 35 คัน ที่ถูกโจรกรรมจากประเทศอังกฤษ ได้ทยอยขนส่ง โดยเครื่องบินมายังประเทศสิงคโปร์ จากนั้นได้นำขึ้นขนส่งเรือนำเข้ามายังประเทศไทย ตั้งแต่เดือน ก.ค.2559 - มี.ค.2560 โดยทำเป็นขบวนการมีกลุ่มคนไทยที่มีโชว์รูมจำหน่ายรถหรู ร่วมมือกับกลุ่มคนต่างชาติในอังกฤษ และเครือข่ายกลุ่มหนึ่งเป็นผู้ติดต่อทำสัญญาเช่าซื้อหรือเช่ารถยนต์ (ระยะสั้น) แล้วนำไปส่งมอบให้กับเครือข่ายอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่ในการจัดทำเอกสารเท็จหรือปลอม อาทิ ใบตราส่งสินค้า ใบแจ้งหนี้ (Invoice) เพื่อตบตาเจ้าหน้าที่ศุลกากร

“ต่อมา ดีเอสไอติดตามรถยนต์ยึดรถยนต์กลับมาได้ 26 คัน อยู่ในความครอบครองของเจ้าของที่ซื้อมา โดยไม่รู้ว่ารถตัวเองเป็นรถที่ถูกโจรกรรมมา และยินยอมมอบรถของกลางให้ตรวจสอบ ส่วนอีก 9 คัน เจ้าของยังไม่ยอมคืนรถให้ ซึ่งหากผู้ครอบครองให้ความร่วมมือคืนรถยนต์ก็จะไม่ถูกดำเนินคดี แต่ผู้ที่ไม่คืนจะถูกดำเนินคดี ม.357 ในฐานรับของโจร ซึ่งเจ้าของรถยนต์ในฐานะผู้เสียหายสามารถใช้สิทธิตามกฎหมาย (แพ่ง) ฟ้องร้องผู้ที่จำหน่ายรถยนต์ให้ท่านได้ ยินดีสนับสนุนพยานหลักฐานและเป็นพยานให้ท่าน ที่ท่านเป็นผู้ซื้อโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน" อธิบดีดีเอสไอ กล่าว

ส่วนทาง พ.ต.ท.พะเยา กล่าวว่า สำหรับการดำเนินการของดีเอสไอนั้น เมื่อวันที่ 18 พ.ค.2560 ได้นำหมายค้นไปตรวจค้นเป้าหมาย 9 จุด พบรถยนต์ที่มียี่ห้อ รุ่น สี และเลขตัวรถ ตรงตามบัญชีรถยนต์ของอังกฤษ จอดอยู่ที่โชว์รูม บจ.ส.ธรรมธัชช (STT. Auto Car) 2 แห่ง 7 คัน จึงได้ยึดและอายัดไว้  จากนั้นได้รับแจ้งจากกรมศุลกากรว่ามีบริษัทรถยนต์จากประเทศอังกฤษ ประสานมาว่าเป็นรถที่ถูกโจรกรรม อยู่ในเขตปลอดอากร (Free Trade Zone) จึงเข้าตรวจสอบและยึดอายัด 6 คัน และเมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2561 พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ขอให้ทางอังกฤษสืบสวนและส่งพยานเอกสารและหลักฐานต่างๆ เกี่ยวกับรถยนต์ 35 คัน ที่ถูกโจรกรรมมาให้เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดี จนกระทั่งวันที่ 13 ก.ย. 2564 คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้รับเอกสารและพยานหลักฐานต่างๆ ของรถยนต์ทั้ง 35 คันจากอังกฤษ นอกจากนี้ คดีดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับคดียึดรถหรู 854 คันแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ยังพบว่า รถทั้ง 35 คัน นำเข้าโดยบริษัทเพียงรายเดียว จากนั้นได้ขายรถทั้งหมดให้กับบริษัทขายรถนำเข้า ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ เพื่อนำไปจำหน่ายให้กับลูกค้า ซึ่งบริษัทนำเข้าดังกล่าวจะต้องถูกดำเนินคดีสำแดงภาษีนำเข้าอันเป็นเท็จ และนำเข้ารถที่ถูกโจรกรรม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากแถลงข่าวเสร็จสิ้น รมว.ยุติธรรม พร้อมคณะ ได้ลงมาเดินดูรถของกลางที่ยึดได้ บริเวณหน้าอาคาร โดยยี่ห้อรถยนต์และรุ่นรถ อาทิ แลมโบกีนี่ ฮูราแคน สไปเดอร์ , เฟอร์รารี , BMW-M4 , เบ็นซ์ AMG , นิสสัน GTR , ปอร์เช่ คาเยน , เรนโรเวอร์ สปอร์ต , มินิคูเปอร์ , ฟอร์ด มัสแตง , เล็กซัส ,อาวดี้ Q7 , โฟคสวาเก็น และ ฮอนด้า GT Type-R




กำลังโหลดความคิดเห็น