“ศาลจังหวัดมหาสารคาม” จัดอบรมให้ความรู้ “สมาชิกสภาเด็กและเยาวชน จ.มหาสารคาม” ด้านการคุ้มครองสิทธิทางแพ่ง-อาญาของผู้เสียหาย ผู้ต้องหา หรือ จำเลย ในกระบวนการยุติธรรม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลจังหวัดมหาสารคามจัด “โครงการเผยแพร่ความรู้และสร้างทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับศาลยุติธรรม” ให้แก่สมาชิกสภาเด็กและเยาวชน จ.มหาสารคาม เพื่อนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน และนำไปเผยแพร่แก่ประชาชนในชุมชน ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและลดความเหลื่อมล้ำของประชาชน ให้การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของทุกคนเป็นไปอย่างทั่วถึงและเสมอภาค และเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในด้านต่างๆ ของเด็กและเยาวชนกับศาลยุติธรรม รวมทั้งการแก้ปัญหาที่มีผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนในพื้นที่
การอบรมครั้งนี้มีสมาชิกสภาเด็กและเยาวชน จ.มหาสารคาม อายุ 17-23 ปี ซึ่งเป็นนักเรียนระดับมัธยมปลายและระดับปริญญาตรี เป็นตัวแทนจากอำเภอต่างๆ กว่า 60 คนเข้าร่วมรับการอบรม โดยมี นายอัครพันธ์ สัปปพันธ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดมหาสารคาม
นายสุริยา ปานแป้น ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดมหาสารคาม รวมไปถึงผู้พิพากษาในศาลจังหวัดมหาสารคาม รวม 14 ท่าน เป็นวิทยากรให้ความรู้ตลอดทั้งวัน ก่อนเริ่มการอบรมมีการจัดกิจกรรมแนะนำตัวทำความรู้จักกันระหว่างสมาชิกสภาเด็กและเยาวชน จ.มหาสารคาม และผู้พิพากษารวมไปถึงเจ้าหน้าที่ศาลจังหวัดมหาสารคามเพื่อสร้างความคุ้นเคยกัน โดยมี น.ส.สลิลทิพย์ อักษรนิตย์ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดมหาสารคาม และ น.ส.ปุณยวีร์ ปุณยสิริวิทย์ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดมหาสารคาม เป็นวิทยากรนำทำกิจกรรม แต่ละกิจกรรมสร้างรอยยิ้มและความสนุกสนานเรียกเสียงหัวเราะให้กับเด็กและเยาวชนที่มาร่วมอบรมได้อย่างมากมาย อาทิ กิจกรรมแนะนำตัวประกอบจังหวะ ทำให้เด็กได้มีโอกาสพูดคุยทำความรู้จักกันได้เป็นอย่างดี
จากนั้นเป็นการพูดคุยและบรรยายให้ความรู้ในหัวข้อ “ศาลยุติธรรมกับสังคม” โดย นายอัครพันธ์ สัปปพันธ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดมหาสารคาม ต่อด้วยหัวข้อ “กฎหมายเบื้องต้นสำหรับเยาวชน” โดย น.ส.เปรมยุดา อัศวโกวิทวัฒน์ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดมหาสารคาม และ นายอภิณัฐ เอี่ยมปรัชญา ผู้พิพากษาศาลจังหวัดมหาสารคาม เป็นวิทยากร จากนั้นเป็น
การเสวนาเพื่อสร้างแรงบรรดาลใจและบันไดสู่ความสำเร็จให้กับเด็กและเยาวชน โดยมีผู้พิพากษาที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในพื้นที่ มาบอกเล่าประสบการณ์ทั้งการเรียนการเตรียมตัวสอบผู้พิพากษาจนกระทั่งสามารถก้าวขึ้นมาเป็น “ท่านเปาบุ้นจิ้น” ได้
โดยมี นายวิชญา ตียะไพบูลย์สิน ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดมหาสารคาม นายกฤษณ์ ภูมิพัฒนศักดิ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดมหาสารคาม นางธมน แสนจันทร์ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดมหาสารคาม และ น.ส.สุดหทัย ศรีสุข ผู้พิพากษาศาลจังหวัดมหาสารภาม บอกเล่าเทคนิคถ่ายทอดประสบการณ์
ต่อมาในช่วงบ่ายมีการบรรยายหัวข้อ “สิทธิของผู้ต้องหา จำเลย และผู้เสียหายในคดีอาญา” โดย น.ส.นภสร สุขพันธรัชต์ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดมหาสารคาม และ น.ส.สลิลทิพย์ อักษรนิตย์ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดมหาสารคาม เป็นวิทยากรให้ความรู้เพื่อให้เด็กและเยาวชน นำไปถ่ายทอดความรู้ให้กับเพื่อนฝูงครอบครัวคนใกล้ตัวรวมไปถึงคนในชุมชนได้ทราบถึงสิทธิของตนเองเมื่อมีคดีความควรทำอย่างไรบ้าง อาทิ ในการเรียกร้องค่าเสียหายและการฟ้องคดีของผู้เสียหาย และสิทธิการประกันตัวของผู้ต้องหาและจำเลย
จากนั้นเป็นการศึกษาดูงาน “ศาลจำลอง” ครั้งนี้เด็กและเยาวชนจากสภาเด็กและเยาวชน จ.มหาสารคาม ได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัสบรรยากาศในห้องพิจารณาคดีของจริงว่าเป็นอย่างไร อัยการ-โจทก์ นั่งฝั่งไหน จำเลยนั่งฝั่งไหน พยานที่ไปเบิกความนั่งตรงไหน ผู้พิพากษาออกนั่งบัลลังก์สวมชุดครุยแบบไหน โดยมีสาธิตการพิจารณาคดีออนไลน์และขั้นตอนการปล่อยชั่วคราว รวมไปถึงการจำลองการพิจารณาคดี “ลักทรัพย์ในเวลากลางคืน” โดย น.ส.นภสร สุขพันธรัชต์ และคณะเจ้าหน้าที่งานบริการประชาชนและประชาสัมพันธ์เป็นผู้อธิบายขั้นตอนการปฏิบัติ มี นายอภิณัฐ และ นางสาวอรณภัทร ลุยวิกกัย ผู้พิพากษาศาลจังหวัดมหาสารคาม รับบทบาทเป็นผู้พิพากษา ส่วน นางสาวเปรมยุดา ซึ่งบรรยายกฎหมายในช่วงเช้ามารับบทบาทเป็นผู้เสียหายในคดี มีเจ้าหน้าที่ศาลอีกหลายคนสวมบทบาทเป็นพนักงานอัยการ ทนายความ และจำเลย กับให้ผู้แทนเยาวชนมีส่วนร่วมในศาลจำลองโดยให้เป็นจำเลยและพยานในคดี เพื่อให้เด็กและเยาวชนที่มาอบรมได้ชมศึกษาเข้าใจขั้นตอนและกระบวนการพิจารณาคดี และการตัดสินคดีของศาลยุติธรรม และยังเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนซักถามเกี่ยวกับข้อสงสัยต่างๆ โดยผู้พิพากษาศาลจังหวัดมหาสารคาม ทุกท่านตอบแบบหมดเปลือกแต่เข้าใจได้ง่าย เพื่อให้เด็กและเยาวชนนำความรู้ไปถ่ายทอดให้คำแนะนำและคุ้มครองสิทธิคนในชุมชนได้จริงๆ และในช่วงท้ายของกิจกรรม ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเปิดห้องทำงานให้เยาวชนทดลองนั่งโต๊ะทำงานของผู้พิพากษาหัวหน้าศาลพร้อมถ่ายภาพเป็นที่ระลึกและสร้างแรงบันดาลใจ
นายอัครพันธ์ สัปปพันธ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า การจัดอบรมความรู้ให้กับสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดมหาสารคาม น่าจะเป็นศาลแรกของประเทศที่จัดกิจกรรมนี้เพื่อให้เด็กและเยาวชนที่ผ่านการอบรม ซึ่งกระจายอยู่ทุกตำบล นำความรู้ที่ได้ไปคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหาย ผู้ต้องหา และจำเลย รวมไปถึงขั้นตอนการดำเนินกระบวนการพิจารณาในทางอาญาและทางแพ่งไปเผยแพร่ให้คนในชุมชนที่ตัวเองอยู่ได้ทราบ เชื่อว่าเยาวชนเหล่านี้มีศักยภาพในการช่วยศาลยุติธรรมเผยแพร่ความรู้คุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย ผู้ต้องหาและจำเลยได้ และเป็นที่น่ายินดีว่าเมื่ออบรมเสร็จเยาวชนเกิดความรู้สึกว่าศาลไม่ใช่สถานที่ที่น่ากลัวอย่างที่เคยคิด เยาวชนเหล่านี้น่าจะเป็นเครือข่ายของศาลในการนำความยุติธรรมสู่ชุมชนได้ หากชุมชนเกิดข้อพิพาทไม่ว่าทางแพ่งหรือทางอาญา ศาลจังหวัดมหาสารคามไม่อยากเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน แม้จะยังเป็นที่พึ่งแรกไม่ได้ แต่กฎหมายก็ให้หน้าที่และอำนาจแก่ศาลหลายประการให้ประชาชนนึกถึงเป็นหน่วยงานแรกๆ ได้