xs
xsm
sm
md
lg

ฝนตกน้ำท่วม กทม. ลีลาผู้ว่าฯ กรุงเทพ ชัชชาติ-ดร.โจ ลอกกันเป๊ะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



รายการ “ถอนหมุดข่าว” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APP และสถานีโทรทัศน์ NEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันศุกร์ที่ 8 กันยายน 2565 นำเสนอรายงานพิเศษ ฝนตกน้ำท่วม กทม. ลีลาผู้ว่าฯ กรุงเทพ ชัชชาติ-ดร.โจ ลอกกันเป๊ะ



ผู้ว่าผู้แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ดูจะ “ไปไม่เป็น” เมื่อต้องบริหารจัดการกับสถานการณ์ฝนตกน้ำท่วม

อย่างเหตุการณ์น้ำท่วมย่านบางเขน-หลักสี่ เมื่อค่ำคืนวันที่ 6 ก.ย. นายชัชชาติก็รุดมาอำนวยการถึงที่ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้มาก นอกจากกล่าว “ขอโทษ” แล้วก็เข้าไปช่วยเข็นรถที่จอดตายกลางถนน

กลายเป็นภาพโดนใจชาวเนต แห่กันติดแฮชแท็ก #ชัชชาติ อย่างปลื้มใจในความทุ่มเท

อย่างไรก็ตาม คนกรุงเทพฯ รุ่นเก๋าซักหน่อย จะรู้สึกว่า ลีลาของนายชัชชาติ ในสถานการณ์น้ำท่วมกรุง ไม่ใช่ของใหม่อะไรเลย คล้ายของทำเทียมเลียนแบบด้วยซ้ำ

“ดร.โจ” นายพิจิตต รัตตกุล ผู้ว่าฯ กทม. ช่วงระหว่างปี 2539-2543 เป็นเจ้าตำรับการตะลุยน้ำท่วมแบบฉับไว ถือเป็นผู้มาก่อนกาลนานหลายปี

เวลามีฝนตกหนักน้ำท่วม ไม่ว่าดึกดื่นแค่ไหน จะมีข่าว ดร.โจ รีบรุดไปปรากฎตัวยังพื้นที่ปัญหา ด้วยสีหน้าหนักใจ

ภาพข่าวที่ฮือฮาตราตรึง ก็คือ ผู้ว่าฯ กทม.คนนี้ ลงทุนลงไปล้วงท่อระบายน้ำเลยทีเดียว เรียกว่าทำงานแบบถึงลูกถึงคน ไม่ถือเนื้อถือตัวว่าเป็นงานระดับนักโทษ

การลงทุนซิ่งมอไซค์รับจ้างไปตรวจน้ำท่วม หรือล่าสุด ร่วมลุยน้ำเข็นรถ ดีกรียังตามหลัง การเอามือล้วงท่อกลางฝนของนายพิจิตต

อย่างไรก็ตาม ภาพอย่างที่นายพิจิตต และนายชัชชาติ สื่อออกสู่ประชาชนนั้น ในแง่การประชาสัมพันธ์ ก็นับว่าดีอยู่ จะไม่ดีก็แค่ว่า สุ่มเสี่ยงจะถูกวิจารณ์ได้ ว่าเน้นการสร้างภาพเอาตัวรอด

สมัย “ดร.โจ ล้วงท่อ” ก็มีคำถามเช่นกันว่า นั่นมันงานของผู้ว่าฯ เหรอ ต้องทำอะไรถึงขนาดนั้น มันก็ไม่มีอะไรแตกต่างกับปัจจุบันของ “ชัชชาติ เข็นรถ”

สิ่งที่เหมือนกันคือ ทั้งสองต่างกระทำสิ่งเหล่านั้น ต่อหน้ากล้องสื่อมวลชน แสงฉายเจิดจ้า ไม่ได้ไปแอบทำเงียบๆ ตามมุมมืด แบบจิตอาสา

แม้จะทำสิ่งที่ไม่ใช่หน้าที่ของผู้ว่าฯ หรือเน้นพีอาร์ประชาสัมพันธ์ ในสไตล์นักการเมือง

แต่การไปเข็นรถของนายชัชชาติ ก็อาจยังดีกว่าผู้ว่าฯ ที่ไม่สนใจจะโผล่หน้าไปดูความทุกข์ร้อนชาวบ้าน อย่างน้อยก็ในแง่ขวัญกำลังใจของชาวบ้านเอง และเจ้าหน้าที่หน้างาน

ผู้ว่าฯ ที่ชัดเจน ไม่ลงพื้นที่ยามฝนหนัก ก็คือ นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าฯ กทม. คนต่อจากนายพิจิตต รัตตกุล ระหว่างปี 2543-2547

คำชี้แจงแบจากนายสมัครก็คือ “น้ำท่วมทำไมผู้ว่าฯ ต้องลงมาดู ถ้ามาดูแล้วฝนจะหยุดตก และน้ำจะลดหรือ”

คำพูดสไตล์นี้ ถือเป็นเครื่องหมายการค้าของนายสมัคร ถ้าเป็นสมัยนี้ คงโดน “ทัวร์ลง” เละ ดูแล้ว เจ้าตัวก็คงหมั่นไส้วิถีทางของ ดร.โจ ผู้ว่าฯ คนก่อนตัวเองนั่นแหละ เลยทำแบบตรงข้าม

ยังมีอีกประเด็น ในคืนฝนตกหนัก 6 ก.ย. นายชัชชาติโพล่งออกมาว่า นี่เป็นปริมาณน้ำฝนหนักสุดในรอบ 130-140 ปี ท่านเลย “เอาไม่อยู่”

คู่กัดตลอดกาลอย่าง นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้ไม่เคยครั่นคร้านทัวร์ลง ก็เลยงัดกราฟมาโต้ บอกว่าปี 2564 ฝนยังตกหนักกว่านี้ด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้น มันไม่มีทางเป็นฝนหนักรอบ 130 ปี ไปได้

“ฝน 130 ปี” ก็ไม่ใช่ของใหม่ เจ้าของวาทกรรมแนวนี้คนแรกคือ มหาจำลอง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ผู้ว่าราชการกทม. ช่วงระหว่างวันที่ 8-10 พฤษภาคม 2529 ได้เกิดฝนตกหนักมาราธอนในพื้นที่กทม. ชนิด 3 วัน 3 คืน น้ำท่วมเจิ่งไปทั่วกรุง

พล.ต.จำลอง ผู้ว่าฯ กทม.ขณะนั้น ชี้แจงว่า น้ำท่วมกรุง เพราะฝนตกหนักในรอบ 1,000 ปี จนกลายเป็นคำพาดหัวข่าวตัวโต “ฝนพันปี”

หากเมื่อปี 2529 ฝนหนักที่สุดในรอบพันปี ฝนปี 2565 ในยุคชัชชาติ อย่างมากก็เป็นได้แค่ “ฝน 36 ปี”

นายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ อดีตเจ้าพ่ออ่าง เคยให้คำแนะนำนายชัชชาติเมื่อหลายเดือนไปก่อน จะเรียกว่า “ติเพื่อก่อ” หรือ “หลอกด่าเนียนๆ” ก็แล้วแต่มุมมอง

ประเด็นเรียกร้องจากนายชูวิทย์คือ การซ้อนมอไซค์ไปดูน้ำท่วม มันไม่ใช่ นายชัชชาติมาทำหน้าที่แบบซีอีโอกรุงเทพฯ จะดีกว่าไหม รวมถึงต้องหาทางแจ้งเตือน “ก่อนฝนตก” ไม่ใช่ “หลังฝนตก”

ซึ่งผลที่ออกมา ก็คือ นายชัชชาติดูจะเมินเฉยต่อการติเพื่อก่อของนายชูวิทย์ และยังเดินหน้าทำงานทำงานทำงาน “หลังฝนตก”

ในยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้า การพยากรณ์อากาศมีความแม่นยำมากพอสมควร แม้แต่ในระดับแอพมือถือ กรมอุตุนิยมวิทยาเอง ก็มีแอพดีให้โหลดใช้ฟรี คือแอพ thai weather

เพียงแต่การแปรคำพยากรณ์ฝนตก ให้เป็นประกาศเตือนล่วงหน้าจากผู้บริหารกทม. เพื่อชาวบ้านจะได้วางแผนชีวิต จะรีบหาที่หลบ หรือจะรีบเผ่นกลับบ้าน มันไม่เคยมีใครทำสำเร็จเป็นรูปธรรม

กรุงเทพฯ ในสถานการณ์ฝนตกน้ำท่วม จึงไม่ได้มีมิติใหม่การแก้ปัญหา ไม่ว่าจะยุคผู้ว่าฯ คนไหน

--------------------------------
**หมายเหตุ
ดาวโหลดแอป Sondhi App ได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore : https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play : https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android

สมัครสมาชิกได้แล้ววันนี้
รายเดือนเพียง เดือนละ 99 บาท
รายปี 990 บาท (10 เดือน แถม 2 เดือน )

ถ้ามีปัญหาการใช้งาน app หรือการสมัครสมาชิกใน app ติดต่อสอบถามได้ที่ Line id : @sondhitalk หรือ https://lin.ee/Skns1k1


กำลังโหลดความคิดเห็น