รายการ “ถอนหมุดข่าว”เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APP และสถานีโทรทัศน์ NEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันพุธที่ 7 กันยายน 2565 นำเสนอรายงานพิเศษ ปมรื้อรีสอร์ทดอยม่อนแจ่ม ความจริงสองด้าน
เรื่องวุ่นๆ ที่ “ดอยม่อนแจ่ม” จ.เชียงใหม่ ระหว่างป่าไม้กับชาวม้ง เหมือนฉายหนังม้วนเดิมที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วที่ “ภูทับเบิก” จ.เพชรบูรณ์
ป่าไม้จะเข้ารื้อถอนรีสอร์ทผิดกฎหมาย ที่ผุดเป็นดอกเห็ดบนดอยม่อนแจ่ม แต่ก็ทำอะไรไม่ถนัด เพราะเพราะโดนชาวม้ง ซึ่งเป็นเจ้าถิ่นตรงนั้น เข้าสกัดขัดขวาง
อะไรจะเหมือนกันเป๊ะกับเหตุการณ์ที่ ภูทับเบิก เมื่อหลายปีก่อน ป่าไม้ที่จะรื้อถอนรีสอร์ทผิดกฎหมาย ก็โดนชาวม้งฮือต่อต้านเช่นกัน
ข้ออ้างของชาวม้ง คือ พวกเขาอยู่บนภูและดอยนั้นมานานแล้ว มีสิทธิทำอะไรก็ได้กับที่ดินในครอบครอง
สิทธิสำคัญที่พวกเขาต้องการมากที่สุด คือการทำตามอำเภอใจ เอาที่ดินไปขายให้นายทุนได้
ตรงนี้ถือว่ามีมุมที่น่าเห็นใจ เพราะชาวเขาจนๆ บนดงดอยห่างไกล เมื่อเจอนายทุนเอาเงินก้อนโตมาล่อใจ ก็เป็นเรื่องที่ยากจะปฏิเสธ ใครจะไม่อยากมีเงิน มีชีวิตที่ดีกว่าเดิม
นายทุนบางรายไม่ซื้อ แต่เสนอสัญญาเช่าที่ดิน ด้วยข้อตอบแทนสูงลิ่วที่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกัน แถมด้วยออปชั่นดีๆ เช่น จะยกสิ่งปลูกสร้างของรีสอร์ทให้ไปเลย เมื่อหมดสัญญาเช่า
สวนทางกับการให้สิทธิชาวม้งของทางราชการ กฎเหล็กของที่นั่น คือห้ามการซื้อขายเปลี่ยนมือ
โดยเฉพาะดอยม่อนแจ่ม จัดเป็นพื้นที่โครงการหลวงหนองหอย ต้องการให้ชาวม้งยึดวิถีชีวิตแบบเกษตรกร เช่นเดียวกับโครงการหลวงอื่นๆ
ทั้งนี้ ทางการไม่ได้เข้มงวดเอาเป็นเอาตายกับรีสอร์ททุกแห่ง อย่างในรายของที่พักแบบโฮมสเตย์ที่ชาวม้งบางรายลงทุนก่อสร้างเอง ก็ยังได้รับการผ่อนผันให้อยู่ต่อได้
เป้าหมายกวาดล้างของป่าไม้ ไม่ใช่ชาวม้ง แต่เป็นรีสอร์ทหรูของบรรดานายทุนคนต่างถิ่น ซึ่งเข้ามากว้านซื้อที่ดินจากชาวม้ง ทั้งที่พื้นที่ตรงนั้น กฎหมายระบุชัดเจน ห้ามการซื้อขายเปลี่ยนมือ
จากการตรวจสอบนานหลายปี ก็ได้รายชื่อรีสอร์ท 36 แห่ง จากจำนวน 122 แห่ง บนดอยม่อนแจ่ม ที่ต้องรื้อทิ้งสถานเดียว เนื่องจากมีการเปลี่ยนมือไปให้นายทุน และส่วนหนึ่งเป็นคนต่างด้าว รวมทั้งมีการทำผิดกฎหมายหลายเรื่อง แต่ที่สำคัญพื้นที่บริเวณนี้เป็นต้นน้ำที่สมบูรณ์ อีกทั้งเป็นพื้นที่ลาดชันมาก หากมีการเปิดบริการเป็นที่พักและท่องเที่ยวเกรงว่าจะเกิดอันตรายได้
งานนี้ ถือเป็นนโยบายเด็ดขาดมาจากนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยโพสต์เฟซบุ๊คว่า “ดอยม่อนแจ่มไม่ใช่พื้นที่เอกชน ซื้อ ขาย เปลี่ยนมือไม่ได้”
“สิ่งที่เราทำคือ การคัดแยกผู้ที่มีสิทธิกับไม่มีสิทธิ ผู้ที่มาอยู่โดยไม่ถูกต้อง จะต้องมีการดำเนินคดี-รื้อถอน”
ตีความจากคำของรัฐมนตรีท็อป ก็คือ “ชาวเขา” อยู่ต่อได้ แต่ “ชาวเรา” หรือพวกคนต่างถิ่น ที่หว่านเงินเข้าไปครอบครอง ห้ามมาอยู่
หลักการของราชการในเรื่องนี้ นับว่าถูกต้อง ภูทับเบิกที่เร่งพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวตามกระแส เป็นตัวอย่างการสร้างความบอบช้ำให้กับขุนเขา
ไม่ว่าจะการแย่งน้ำของชาวบ้าน เพื่อเอาไปใช้ในรีสอร์ท หรือปัญหาขยะ ที่รีสอร์ท ดันดอดเอามาทิ้งให้ชาวบ้านกำจัด
เมื่อป่าไม้เข้าดำเนินคดีและรื้อถอน ก็มีภาพการต่อต้านโดยชาวม้ง แถมนายทุนบางรายยัคงไม่วายดราม่าฟูมฟาย ว่าตัวเองต้องเจ๊งยับ เพราะการบังคับใช้กฎหมาย ซะอย่างนั้น
เพราะผลประโยชน์ไม่เข้าใครออกใคร ผู้คนจึงเอาแต่ได้ ไม่สนความผิดถูกใดๆ
การใช้กฎหมายเข้ามา “จัดระเบียบ” เป็นเรื่องจำเป็น เพราะมิฉะนั้น จะมี “ดอย” หรือ “ภู” อื่นๆ ที่จะโดนบุกเบิก เป็นสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ ตามมาไม่รู้จบ
กลายเป็นโมเดลเดิมๆ ที่เคยทำกับ “ภูทับเบิก” และ “ดอยม่อนแจ่ม”
คือนายทุนใช้ “พลังเงิน” เข้าไปยึดพื้นที่ภูเขาสวยๆ จากชาวเขา แล้วก็กอบโกยทำกำไรกันเพลิน
ส่วนชาวเขาที่รับเงินเขามาแล้ว ก็พร้อมจะเป็น “กันชน” ฮือปกป้องนายทุนนายเงินของพวกเขา เหมือนเป็น “บริการหลังการขาย”
--------------------------------
**หมายเหตุ
ดาวโหลดแอป Sondhi App ได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore : https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play : https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android
สมัครสมาชิกได้แล้ววันนี้
รายเดือนเพียง เดือนละ 99 บาท
รายปี 990 บาท (10 เดือน แถม 2 เดือน )
ถ้ามีปัญหาการใช้งาน app หรือการสมัครสมาชิกใน app ติดต่อสอบถามได้ที่ Line id : @sondhitalk หรือ https://lin.ee/Skns1k1