xs
xsm
sm
md
lg

อสส.สั่งฟ้อง “ชัยวัฒน์” ข้อหาฆ่า “บิลลี่” โดยไตร่ตองไว้ก่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGROnline - อัยการสูงสุดลงนามสั่งฟ้อง “ชัยวัฒน์” ข้อหา “ร่วมกันฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน” ต่อ “บิลลี่” ชาวกะเหรี่ยงบางกลอย ที่หายตัวไปตั้งแต่ปี 2557
คดีการหายตัวไปของ “บิลลี่” หรือ นายพอละจี รักจงเจริญ ชาวกะเหรี่ยงในป่าแก่งกระจาน หรือที่ภานหลังรู้จักกันในชื่อ “บ้านบางกลอย” ตั้งแต่ 17 เมษายน 2557 ผ่านไปกว่า 8 ปีแล้ว และวันนี้ได้เปลี่ยนสถานะจากคดี “คนหาย” ไปเป็นคดี “ฆาตกรรม” อย่างเป็นทางการในที่สุด

ล่าสุด วันนี้ (15 ส.ค.) มีเอกสารจากสำนักงานอัยการสูงสุด ส่งถึง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ลงนามโดยนายกุลธนิต มงคลสวัสดิ์ อธิบดีอัยการ สำนักงานชี้ขาดคดีอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุด ยืนยันแล้วว่า อัยการการสูงสุด ได้ลงนามในความเห็นสั่งฟ้องนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร และพวกรวม 4 คน โดยหนึ่งในนั้นเป็นข้อหา “ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน” คือ นายพอละจี รักจงเจริญ หรือ “บิลลี่” แล้ว ในวันที่ 10 สิงหาคม 2565
 
โดยข้อหาที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องนายชัยวัฒน์ และพวกรวม 4 คน คือ

1. ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและเพื่อจะเอาหรือเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแก่ตามที่ตนได้กระทำความผิดอื่น เพื่อปกปิดความผิดอื่นของตนหรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดอื่นที่ตนกระทำไว้

2. ร่วมกันโดยมีอาวุธข่มขืนใจโดยให้ผู้อื่นกระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใดโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเอง

3. ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นหรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกายเป็นเหตุให้ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวถูกกักขังหรือต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกายนั้นถึงแก่ความตาย

4. ร่วมกันทุจริตหรืออำพรางคดี กระทำการใดๆ แก่ศพหรือสภาพแวดล้อมในบริเวณที่พบศพก่อนการชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้น ในประการที่น่าจะมำให้การชันสูตรพลิกศพหรือผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไป

นายพอละจี หายตัวไปตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2557 และมีคความคืบหน้าที่สำคัญเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2562 หรือ 5 ปีหลังจากที่หายตัวไป เมื่อ DSI นำโดย พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองอธิบดี ได้เปิดเผยหลักฐานชิ้นสำคัญ คือ ชิ้นส่วนกะโหลกมนุษย์ ที่ถูกพบในถัง 200 ลิตร ที่จมอยู่ในแหล่งน้ำใต้สะพานแขวนของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และได้รับการยืนยันจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ว่าเป็น ชิ้นส่วนกะโหลกของบิลลี่ ผ่านการตรวจด้วยวิธี “ไมโตรคอนเดรีย ดีเอ็นเอ” หรือ การตรวจหาสารพันธุกรรมจากสายทางมารดา และพบว่า กะโหลกชิ้นนี้ มี DNA ตรวกับมารดาของบิลลี่
จากนั้น DSI เดินหน้าลงพื้นที่ตรวจสอบหาพยานหลักฐานเพิ่มเติม พร้อมทั้งสอบปากคำบุคคลที่เกี่ยวข้องมากมาย

จนวันที่ 23 ธันวาคม 2562 DSI มีความเห็นสั่งฟ้อง นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และพวกรวม 5 คน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่อุทยาน ใน 6 ข้อหา โดยมีข้อหา “ฆาตกรรมบิลลี่” รวมอยู่ด้วย ซึ่งหากย้อนกลับไปในวันที่ 17 เมษายน 2557 มีพยานเห็นเขาบิลลี่เป็นครั้งสุดท้ายระหว่างถูกนายชัยวัฒน์และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ควบคุมตัวไว้ที่จุดตรวจด่านมะเร็ว ในอุทยานฯ ซึ่งเป็นทางขึ้นลงบ้านบางกลอย จากนั้นก็ไม่มีใครพบเห็นบิลลี่อีกเลย

แต่เป็นเวลากว่า 2 ปีครึ่ง หลัง DSI มีความเห็นสั่งฟ้องนายชัยวัฒน์และพวกที่คดีนี้ยังไม่มีความคืบหน้า เพราะ “อัยการคดีพิเศษ” มีความเห็น “สั่งไม่ฟ้อง” ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 5 คน โดยมีข้อโต้แย้งต่อหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ของ DSI ซึ่งอัยการคดีพิเศษระบุว่า การตรวจหาสารพันธุกรรมด้วยวิธีไมโตรคอนเดรีย DNA ยังไม่ใช่วิธีการที่น่าเชื่อถือ จึงยังไม่สามารถระบุได้ว่า ชิ้นส่วนกะโหลกมนุษย์ที่พบ เป็นกะโหลกของนายพอละจี ทำให้ไม่สามารถตั้งข้อหาฆาตกรรมได้ เพราะยังบอกไม่ได้ว่านายพอละจี เสียชีวิตแล้วจริงๆ

หลังอัยการคดีพิเศษมีคำสั่งไม่ฟ้องนายชัยวัฒน์และพวก ทำให้ DSI กลับไปรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม โดยในวันที่ 11 สิงหาคม 2563 ได้ส่งสำนวนคดีฆาตกรรมนายพอละจี พร้อมความเห็นของอธิบดี DSI (พ.ต.ท.กรวัชร์) ซึ่งมีความเห็นแย้งกับความเห็นของอัยการคดีพิเศษ ไปที่สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ชี้ขาดว่าจะสั่งฟ้องนายชัยวัฒน์และพวกในคดีนี้หรือไม่

จากวันที่ DSI มีหนังสือแสดงความเห็นแย้งกลับไปที่สำนักงานอัยการสูงสุด จากนั้นผ่านมาเป็นเวลาเกือบ 2 ปีเต็มแล้ว จึงมีการลงนามสั่งฟ้องจากอัยการสูงสุดในที่สุด เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2565 ใน 4 ข้อหาดังกล่าว

ส่วนข้อหาที่อัยการ “สั่งไม่ฟ้อง” นายชัยวัฒน์และพวก คือ ไม่ฟ้องในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เนื่องจากมองว่า ในขณะที่เกิดเหตุไม่ได้อยู่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าพนักงานของรัฐแต่กระทำในฐานะส่วนตัว และสั่งไม่ฟ้อง “เอกชน” อีก 1 คน ในข้อหาเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน ซึ่งเชื่อมโยงกับข้อหาก่อนหน้านี้

การหายตัวไปของชายชาวกะเหรี่ยงคนหนึ่ง ที่ต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิในการอยู่อาศัยในที่ดินที่อยู่กันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ใช้เวลาเดินทางยาวนานกว่า 8 ปี ในที่สุดก็กลายเป็นคดีฆาตกรรม ทำให้หนึ่งชีวิตของเขา มีโอกาสที่จะไปพิสูจน์ความจริง เรียกร้องถามหาความยุติธรรมในชั้นศาลซะที






กำลังโหลดความคิดเห็น