xs
xsm
sm
md
lg

“ราชทัณฑ์” เปิดคุกบำบัดพิเศษกลาง เยี่ยมชมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาระบบต้องโทษ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ พาเยี่ยมชมกระบวนการบำบัดและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดตามขั้นตอนในทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง แก้ไขปัญหาไม่หวนมากระทำผิดซ้ำ

วันนี้ (5 ก.ค.) เวลา 09.00 น. ที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง เขตจตุจักร กรุงเทพฯ นายธวัชชัย ชัยวัฒน์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์และโฆษกกรมราชทัณฑ์ พร้อมด้วย นายสมบูรณ์ ศิลา ผู้อำนวยการทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง และคณะ นำสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมกระบวนการบำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ติดยาเสพติดระบบต้องโทษ ตั้งแต่กระบวนการรับตัวผู้ต้องขัง การบำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพ ไปจนถึงการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย และการติดตามหลังพ้นโทษ

นายธวัชชัย เปิดเผยว่า กระบวนการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดระบบต้องโทษ คือ ระบบการบำบัดฟื้นฟูผู้ที่ถูกจับกุมดำเนินคดีและที่อยู่ระหว่างถูกคุมขัง ที่มีประวัติเกี่ยวข้องกับการเสพยาเสพติด มีขั้นตอนการดำเนินงาน ประกอบด้วย 1. การจำแนกคัดกรองผู้ต้องขัง 2. กระบวนการบำบัดฟื้นฟู 3. การเตรียมความพร้อมผู้ต้องขังติดยาเสพติดก่อนพ้นโทษ 4. การติดตามหลังพ้นโทษ 5. การติดตามประเมินผล และ 6. การบันทึกข้อมูลในระบบข้อมูลการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดของประเทศ (บสต.) และระบบข้อมูลผู้ต้องขังของกรมราชทัณฑ์

นายธวัชชัย เผยว่า ขั้นตอนการบำบัดและฟื้นฟู เริ่มตั้งแต่กระบวนการคัดกรองผู้ต้องขัง ด้วยการจำแนกคัดกรองผู้ต้องขังเข้าใหม่ทุกราย โดยใช้แบบคัดกรองเพื่อแบ่งกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติดออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มผู้ใช้ 2. กลุ่มผู้เสพ และ 3. กลุ่มผู้ติดยาเสพติด เพื่อให้ได้รับการบำบัดฟื้นฟูอย่างถูกต้อง ทั้งในด้านการปรับเปลี่ยนบุคลิกภาพ ทัศนคติ ความคิด และพฤติกรรมให้มีความเข้มแข็ง ไม่หวนกลับไปใช้ยาเสพติดอีก และเมื่อได้รับการบำบัดฯ แล้ว จะได้รับการติดตามดูแลตามกรอบเวลาขณะที่อยู่ในเรือนจำและทัณฑสถาน และเมื่อใกล้ครบกำหนดพ้นโทษ จะได้รับการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยของผู้ต้องขังติดยาเสพติดโดยเฉพาะ ด้วยหลักสูตรการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ต้องขังติดยาเสพติดก่อนพ้นโทษ เพื่อเตรียมความพร้อมและส่งเสริมองค์ความรู้ด้านทักษะชีวิต ทักษะสังคม และการป้องกันการเสพยาซ้ำ

“ปัจจุบัน ระบบการบำบัดฟื้นฟูผู้ต้องขังติดยาเสพติด กรมราชทัณฑ์ มีทั้งหมด 4 รูปแบบด้วยกัน คือ 1. การบำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ต้องขังติดยาเสพติดในรูปแบบชุมชนบำบัด 2. การบำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ต้องขังเสพยาเสพติดในรูปแบบวิวัฒน์พลเมืองราชทัณฑ์ ด้วยกระบวนการลูกเสือ 
(ลูกเสือวิวัฒน์เพื่อพลังแผ่นดิน) 3. การบำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ต้องขังเสพยาเสพติดในรูปแบบการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสำหรับกลุ่มผู้เสพยาเสพติดและผู้ค้ารายย่อยในเรือนจำและทัณฑสถาน และ 4. การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ต้องขังติดยาเสพติดก่อนพ้นโทษในเรือนจำและทัณฑสถาน”

นายธวัชชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้านการติดตามผล เนื่องจากกรมราชทัณฑ์ มีการปล่อยตัวผู้พ้นโทษทั้งสิ้น 5 รูปแบบที่แตกต่างกัน ทั้งก่อนกำหนดและตามกำหนดโทษ ส่งผลให้ผู้ติดยาเสพติดบางราย อาจจะยังไม่รับการติดตามประเมินผลครบตามกำหนด จึงแบ่งการติดตามผล ออกเป็น 3 รูปแบบด้วยกัน คือ 1. ผู้ที่ผ่านการบำบัดฯ แต่ยังติดตามหลังการบำบัดไม่ครบ ให้ส่งศูนย์เพื่อประสานการดูแลผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูฯ ในระดับจังหวัด 2. ผู้ที่ผ่านการบำบัดฯ และได้รับการติดตามครบตามเกณฑ์ เมื่อพ้นโทษให้ส่งข้อมูลไปยังศูนย์เพื่อประสานการดูแลผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูฯ เพื่อติดตามช่วยเหลือด้านการศึกษา อาชีพ การมีงานทำ การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคม และ 3. หลังพ้นโทษจากคดียาเสพติด กรณีผู้ป่วยมีโรคร่วมด้านร่างกายและจิตใจให้เรือนจำและทัณฑสถานในพื้นที่ ส่งข้อมูลผู้ป่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่อย่างน้อย 1 ครั้งต่อเดือน เพื่อติดตามดูแลช่วยเหลือด้านสุขภาพกาย และจิตใจอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ กรมราชทัณฑ์ ยังมีระบบติดตามประเมินผลด้านการบำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ต้องขังติดยาเสพติดระบบต้องโทษ ด้วยระบบข้อมูลผู้ต้องขังและการติดตามผ่านโครงการฯ รวมถึงติดตามผ่านกระบวนการอื่นๆ และนำข้อมูลที่ได้ ไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนการบำบัดฟื้นฟูและแก้ไขพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง เพื่อแก้ไขปัญหาการเสพและการติดยาเสพติดโดยยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ให้ผู้เสพหรือผู้ติดยาเสพติด สามารถเข้าถึงการบำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพอย่างครบถ้วน ตลอดจนได้รับการติดตามดูแลช่วยเหลืออย่างมีคุณภาพ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเพื่อป้องกันการเสพติดซ้ำ สอดคล้องกับนโยบายด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาล รวมถึงนโยบายของกรมราชทัณฑ์ ในการแก้ไขและพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังติดยาเสพติด เพื่อคืนคนดีมีคุณค่าสู่สังคมได้อย่างยั่งยืนต่อไป








กำลังโหลดความคิดเห็น