“โฆษกศาลยุติธรรม” แนะผู้เสียหายซื้อคูปองรับประทานอาหารล่วงหน้า ยื่นฟ้อง “ดารุมะ ซูชิ” เจ้าของแฟรนไชส์อาหารญี่ปุ่นชื่อดัง เป็นคดีซื้อขายออนไลน์ได้
วันนี้ (21 มิ.ย.) นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวถึงกรณีผู้เสียหายจากการซื้อคูปองรล่วงหน้า “ดารุมะ ซูชิ บุฟเฟ่ต์” เจ้าของแฟรนไชส์ร้านอาหารญี่ปุ่น ที่มีนับหมื่นคน ส่วนใหญ่ซื้อผ่านแอปพลิเคชันไลน์ หรือ เฟซบุ๊ก ว่า การเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนคดีแพ่ง ผู้เสียหายสามารถนำหลักฐานการซื้อขาย ที่อยู่หน้าเว็บไซต์ หลักฐานการติดต่อซื้อขายกันทางโซเชียล และสลิปการโอนเงิน ไปยื่นฟ้องต่อแผนกคดีซื้อขายออนไลน์ในศาลแพ่งได้
ซึ่งเป็นการยื่นฟ้องคดีทางออนไลน์ ผู้เสียหายไม่ต้องเดินทางมาเอง โดยคดีซื้อขายออนไลน์ จะสามารถยื่นฟ้องคดีได้ 24 ชั่วโมง เรียกว่า ยื่นฟ้องได้ทุกวัน ตลอดเวลา แต่จะต้องเป็นการยื่นฟ้องรูปแบบออนไลน์เท่านั้น และที่สำคัญ ไม่ได้กำหนดมูลค่าความเสียหายขั้นต่ำ มูลค่าหลักร้อยก็สามารถฟ้องคดีได้ เป็นจนถึงหลักแสนหลักล้าน
โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวต่อว่า สำหรับขั้นตอนการยื่นฟ้อง เข้าไปที่เว็บไซต์ของศาลแพ่ง เริ่มสร้างบัญชีผู้ใช้งาน ลงทะเบียน แล้วล็อกอินเข้าสู่ระบบ เลือกเมนูคดีซื้อขายออนไลน์ พร้อมกรอกรายละเอียดคำฟ้อง ประกอบด้วย ข้อมูลโจทก์ จำเลย ข้อมูลคำฟ้อง พร้อมแนบเอกสารหรือหลักฐานการซื้อขายสินค้านั้นๆ มูลเหตุที่เรียกร้อง ข้อมูลความเสียหาย ราคา และสามารถระบุพยานได้ เป็นต้น เมื่อยื่นคำฟ้องเสร็จเรียบร้อยแล้ว ระบบส่งจะคำฟ้องเสนอคำฟ้องเพื่อให้ศาลรับคำฟ้อง และส่งหมายเรียกแก่จำเลยทางอีเมล จากนั้นอีเมลถูกส่งไปยังกล่องข้อความของอีเมลจำเลยแล้วจะถือว่าจำเลยได้รับหมายเรียก
เมื่อเข้าสู่กระบวนการของศาลแล้ว ศาลจะดำเนินการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบ วันพิจารณาคดี การสืบพยาน และการไกล่เกลี่ยจะดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ แต่ถ้าไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จจำเลยมีสิทธิยื่นคำให้การผ่านระบบออนไลน์และดำเนินการต่อสู้คดีในลำดับต่อไป
สำหรับการยื่นฟ้องคดีแผนกคดีซื้อขายออนไลน์ ผู้เสียหายแต่ละคนจะต้องยื่นฟ้องคดีเอง แต่ถ้าจะรวมตัวกันฟ้องก็สามารถทำได้โดยการยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่มต่อศาล ผู้เสียหายที่มีจำนวนมากไม่จำเป็นต้องมาทุกคน แค่มีตัวแทนเพียง 1 คน ก็ยื่นฟ้องแทนผู้เสียหายทั้งหมดได้ โดยบรรยายคำฟ้องให้ศาลเห็นพฤติการณ์ว่า ผู้ฟ้องคดีหรือโจทก์ได้รับความเสียหายจากผู้ขายหรือจำเลยกระทำผิดสัญญาซื้อขายอย่างไร ได้รับความเสียหายจำนวนเท่าไหร่ และมีคำร้องขออนุญาตดำเนินคดีแบบกลุ่มที่แสดงให้เห็นถึงกรณีของผู้เสียหายอื่นที่ได้รับความเสียหายจากการผิดสัญญาของจำเลยในช่วงเวลาเดียวกันนี้อีกว่ามีจำนวนมาก มูลค่ารวมคร่าวๆ จำนวนเท่าไร โดยไม่ต้องระบุรายละเอียดของผู้เสียหายทุกคน
การขออนุญาตฟ้องแบบกลุ่ม หากศาลอนุญาตจะมีผลผูกพันสมาชิกกลุ่มทุกคน (หมายถึงผู้เสียหายจากการผิดสัญญาของจำเลยคดีนี้) เมื่อศาลทำการสืบพยานหลักฐานฝ่ายโจทก์จำเลยเสร็จสิ้นแล้ว พิพากษาให้โจทก์ชนะคดี ผู้เสียหายในกรณีเดียวกันนี้คนอื่นสามารถไปแสดงตนขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานที่กรมบังคับคดีได้เลย
ทั้งนี้ การฟ้องคดีทั้งแผนกคดีซื้อขายออนไลน์ หรือฟ้องแพ่งแบบกลุ่ม จะไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายในคดีอาญา ซึ่งสามารถไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนดำเนินคดีข้อหาฉ้อโกงประชาชนได้
ด้าน นายธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการในหน้าที่ ผอ.สำนักงานประสานงานกระบวนการยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุดให้ความเห็นข้อกฎหมาย ว่า การเรียกร้องเงินคืนและเรียกค่าเสียหายจากการที่ร้านดารุมะ ซูชิ ที่เป็นร้านบุฟเฟต์อาหารญี่ปุ่น ปิดกิจการนั้น ผู้เสียหายซึ่งอาจจะเป็นผู้ซื้อคูปองบุฟเฟ่ต์ หรือ ผู้ซื้อธุรกิจแฟรนไชส์ของร้าน อาจดำเนินการโดยผ่านกระบวนการทางกฎหมายดังนี้
คดีร้านดารุมะ ซูชิ นี้ เป็นการกระทำความผิดที่มีลักษณะทำนองเดียวกันกับคดีแหลมเกตซีฟู้ด ซึ่งศาลตัดสินไปแล้วเมื่อปี 2562 ว่า มีความผิดฐานหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนหรือฉ้อโกงประชาชน และความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550
กรณีของร้านดารุมะนี้ หลังจากผู้เสียหายแจ้งความและพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน และส่งสำนวนการสอบสวนไปยังอัยการเพื่อพิจารณาสั่งฟ้องผู้กระทำผิดแล้ว ในชั้นพนักงานอัยการ ถ้าหากอัยการฟ้องผู้กระทำผิดเป็นจำเลยต่อศาลในข้อหาฉ้อโกงประชาชน อัยการก็จะเรียกร้องเงินที่ผู้เสียหายถูกฉ้อโกงไปคืนจากจำเลยแทนผู้เสียหายด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อ.) มาตรา 43
แต่การเรียกร้องเงินแทนผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 โดยอัยการนี้ มีขอบเขตตามกฎหมายเฉพาะเงินหรือทรัพย์สินที่ถูกฉ้อโกงไปเท่านั้น ยังไม่รวมถึงค่าเสียหายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการถูกฉ้อโกงด้วย
ทั้งนี้ หากผู้เสียหายที่ได้รับความเสียหายจากการถูกฉ้อโกงในกรณีร้านดารุมะนี้ ประสงค์จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วยเพิ่มเติมไปจากเงินที่ถูกฉ้อโกงไป ก็มีช่องทางตามกฎหมายที่สามารถกระทำได้ ด้วยการที่ผู้เสียหายไปยื่นคำร้องต่อศาลที่อัยการฟ้องผู้กระทำผิดเป็นจำเลยก่อนที่จะเริ่มสืบพยาน เพื่อขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายให้แก่ตนเอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 โดยหากคดีนี้มีผู้เสียหายที่ประสงค์จะเรียกร้องค่าเสียหายเป็นจำนวนมาก บรรดาผู้เสียหายเหล่านั้นก็อาจมอบอำนาจให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจในการยื่นคำร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนแทนตนได้
ในระหว่างนี้ สิ่งที่ผู้เสียหายสามารถกระทำได้ คือ ควรที่จะเก็บและรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ที่สามารถใช้ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดและไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อรองรับสิทธิในการได้รับชดใช้เงินคืน รวมทั้งสิทธิในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ในฐานะที่เป็นผู้เสียหาย ถ้าหากต่อไปภายหน้าสามารถจับกุมตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายและมีการฟ้องผู้กระทำผิดเป็นจำเลยต่อศาลต่อไป