xs
xsm
sm
md
lg

เตือนผู้ขับขี่รถยนต์ระบบ “Autopilot” ต้องรับผิดชอบ หากเกิดอุบัติเหตุ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - รองโฆษก ตร. แจงผู้ใช้รถยนต์ขับขี่อัตโนมัติ “Autopilot” หากเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน คนขับต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย

วันนี้ (17 มิ.ย.) พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ในปัจจุบัน ได้เริ่มมีบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ ได้นำเอาระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่มาติดตั้งในรถยนต์เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ขับขี่เป็นจำนวนมาก อาทิ ระบบเตือนการชนด้านหน้าและหยุดรถอัตโนมัติ ระบบควบคุมรถให้อยู่ในช่องทางการเดินรถ ระบบควบคุมความเร็วแปรผันตามรถคันหน้า รวมไปถึงระบบที่มีเทคโนโลยีก้าวหน้า เช่น ระบบขับขี่อัตโนมัติ หรือที่เรียกชื่อภาษาอังกฤษว่าระบบ Autopilot ซึ่งระบบทั้งหมดที่กล่าวมา มีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาขึ้นเพื่อให้ความสะดวกสบายกับผู้ขับขี่ และลดจำนวนการเกิดอุบัติบนท้องถนน แต่ก็มีข้อคำถามของพี่น้องประชาชนว่า หากรถยนต์ที่มีระบบขับขี่อัตโนมัติ เกิดอุบัติเหตุ ใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอเรียนว่า สำหรับกฎหมายของประเทศไทย ได้มีการกำหนดผู้รับผิดชอบเนื่องจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจากยานพาหนะไว้ใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอย่างใดๆ อันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง” ดังนั้น ผู้ที่ควบคุมยานพาหนะ ไม่ว่าจะมีระบบควบคุมอัตโนมัติหรือไม่ ก็ต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น หากอุบัติเหตุดังกล่าวมีต้นเหตุมาจากการขับขี่ของยานพาหนะคันที่ตนขับขี่หรือควบคุมอยู่

อีกทั้งหากเกิดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นดังกล่าวส่งผลให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต ผู้ที่ขับขี่หรือควบคุมรถยนต์ที่มีระบบช่วยเหลือการขับขี่ หรือระบบขับขี่อัตโนมัติ ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดตามกฎหมายได้ เนื่องจากตนมีหน้าที่ในการขับขี่หรือควบคุมรถยนต์คันดังกล่าว และอาจถูกดำเนินคดีในความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต แล้วแต่กรณี

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอเตือนมายังพี่น้องประชาชน หากท่านใช้งานรถยนต์ที่มีระบบช่วยเหลือการขับขี่ หรือระบบขับขี่อัตโนมัติ ท่านจะต้องมีสติและพร้อมที่จะเข้าควบคุมรถตลอดเวลา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุและความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ทั้งของตนเองและผู้อื่น ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนเกิดเจ็บป่วยกะทันหัน หรือเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน สามารถโทรศัพท์แจ้งขอความช่วยเหลือได้ที่ สายด่วนสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ 1669 สายด่วนตำรวจทางหลวง 1193 หรือสายด่วน 191 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
กำลังโหลดความคิดเห็น