“จุดเริ่มต้นทำงานการเมืองนั้นเพราะได้รับโอกาสจากผู้ใหญ่ใจดีชักชวนให้มาร่วมคณะทีมงานฝ่ายกฎหมายหรือนิติกร เมื่อปี 2547 สังกัดพรรคการเมืองใหญ่ เรียนรู้สร้างเสริมประสบการณ์อยู่หลายปี ควบคู่กับอาชีพทนายความ ซึ่งเป็นงานที่เรารักและเรียนจบสายตรงมา”
ว่าที่ร้อยตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม หรือ “เลขาฯ กฤต” เปิดเผยว่า ปัจจุบันรับตำแหน่งข้าราชการการเมืองช่วยขับเคลื่อนนโยบายงานกระทรวงยุติธรรมเป็นหลัก เปรียบเสมือน “พ่อบ้าน” ยอมรับว่าตอนมาช่วงแรก ถือเป็นเรื่องใหม่ต้องศึกษาโครงสร้าง หน้าที่รับผิดชอบ การบริหารงานของแต่ละกรม บทบาทหน้าที่ตามกฎหมายอะไร สามารถพัฒนาขีดความสามารถได้อย่างไร โดยมี สำนักงานกิจการยุติธรรม (สกธ.) เป็นหน่วยงานรับประมวลผลจากกรมต่างๆ ก่อนออกกฎหมายมาบังคับใช้
เลขานุการฯ เล่าความเป็นมาว่า จริงแล้วตนเรียนจบมาก็เป็นอาจารย์สอนวิชากฎหมาย ม.เอกชน ร่วม 10 ปี มีความชอบสอนหนังสือ รักการสอน และเปิดสำนักงานกฎหมายว่าความทั่วไป โดยมีเคสสำคัญ คือ ได้รับมอบหมายเป็นหัวหน้าทีมกฎหมายคดี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง อดีต ผบช.น. พกปืนจิ๋วเข้าประเทศญี่ปุ่น ขนาดเท่าหัวเข็มขัด จากนั้นก็รวบรวมพยานหลักฐานในเมืองไทยส่งตำรวจญี่ปุ่น สุดท้ายทางโน้นก็ปล่อยออกมาเพราะมองเรื่องไม่มีเจตนา
“สมัย คสช. ต้องหยุดทำงานการเมืองและมุมมองเริ่มเกิดความเบื่อ เพราะพรรคการเมืองเป็นระบบอุปถัมภ์เป็นมรดกครอบครัว คนมีพื้นฐานญาติพี่น้องหรือผู้ใหญ่สนับสนุนจะสามารถก้าวต่อได้ แต่หากไม่มีมันยากที่จะรับตำแหน่งสำคัญ ดังนั้น ก็ลองผิดลองถูกในวงการ ประมาณ 12 ปี คิดว่าคงพอแล้วจะหันกลับไปทำอาชีพทนายอย่างเดียวพอ”
กระทั่ง ปี 2561 มีผู้ใหญ่ที่เรานับถือ ท่านมีความสนิทคุ้นเคยกับ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ทาบทามว่าอยากมาช่วยงานทีมกฎหมายหรือไม่ จึงได้มีการพูดคุยกันและในที่สุดได้มาอยู่ในกลุ่มสามมิตร ณ ตอนนั้น ช่วยลงพื้นที่หาเสียง ขึ้นเวทีปราศรัยก่อนการเลือกตั้ง จนสามารถจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาได้ นายสมศักดิ์ เข้ารับตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ส่วนตัวเองถูกแต่งตั้งเป็น เลขานุการ รมว.ยธ. คอยดูงานกฎหมายและอื่นๆ ทั่วไป
กระทรวงยุติธรรม เป็นหน่วยงานบริการสังคม ดูแลพ่อแม่พี่น้องประชาชนทั่วประเทศ “รัฐมนตรีสมศักดิ์” ท่านเป็นนักบริหารมองเรื่องการบริหารงาน โดยตนเองจะช่วยดูงานการปรับปรุงแก้ไขหรือพัฒนากฎหมายได้อย่างไร อาทิ สำนักงาน ป.ป.ส. ปลดล็อกกระท่อม กัญชา กัญชง , กรมคุมประพฤติ เตรียมมีกฎหมาย JSOC หรือเฝ้าระวังบุคคลอันตรายกระทำผิดซ้ำในชุมชน , กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ. ... และ ร่าง พ.ร.บ.การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. ... , กรมราชทัณฑ์ ก็เริ่มปรับสภาพความเป็นอยู่ไม่ให้แออัดในเรือนจำ เป็นต้น
รมว.ยุติธรรม ยังได้สอนวิธีคิดในการทำงาน “บางอย่างโจทย์มันสั้น แต่วิธีการตอบโจทย์มันยาว หรือ บางอย่างโจทย์มันยาว แต่วิธีการตอบโจทย์มันสั้น” ยกตัวอย่าง จะทำอย่างไรให้คนไทยหายจน เป็นโจทย์ที่สั้นแต่วิธีการมันยาวอาจใช้เวลาหลายปีก็ไม่อาจสามารถแก้ปัญหาได้ เพราะมีปัจจัยเงื่อนไขสารพัด แต่บางอย่างโจทย์ยาว เช่น การร้องทุกข์กระทรวงยุติธรรม มีคนเดินทางมาทุกวันๆ ละหลายเรื่องแต่จบได้รวดเร็ว คือ การจับคนร้ายหรือยึดทรัพย์ หรือช่วยเหลือเยียวยาตามกรณี ถือว่าเป็นวิธีการอันสั้น
ผลงานเด่นที่รู้สึกภูมิใจคงเป็นเรื่องการเปิด “ศูนย์ยุติธรรมสร้างสุข” รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทุกจังหวัดทั่วประเทศในศูนย์ยุติธรรมจังหวัด ช่วยลดความเหลื่อมล้ำความเดือดร้อนของชาวบ้าน จากสถิติเมื่อปี 2564 คดีเข้ามา 26,000 กว่าเรื่อง เหลือระหว่างดำเนินการเพียง 400 กว่าเรื่อง นอกนั้นเสร็จเรียบร้อย สำหรับในพื้นที่ห่างไกล มีอาสาสมัครภาคประชาชนและเจ้าหน้าที่ดูแล มียุติธรรมชุมชน สาขาย่อย อีก 7,500 แห่ง ทำให้งานกระทรวงยุติธรรมค่อนข้างครอบคลุม รวมทั้ง ขณะนี้เดินสายมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือนทั่วประเทศ กระแสตอบรับถือว่าน่าพอใจ
ส่วนที่มาคำนำหน้าชื่อ “ว่าที่ ร้อยตรี” ต้องย้อนไป 15-16 ปีที่แล้ว อดีตผู้ทรงคุณวุฒิ กองทัพบก ท่านหนึ่งเห็นว่าหน่วยก้านดีอยากให้ลองไปใช้ชีวิตในแบบทหารดูบ้าง ส่งไปอบรมค่ายธนะรัชต์ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เวลา 30 วัน ตอนแรกคาดหวังว่าอาจรับราชการเป็นทหาร จึงเป็นที่มาคำนำหน้า ตามเงื่อนไขเข้าโรงเรียนการกำลังสำรอง แต่ด้วยเหตุข้อขัดข้องบางประการในขณะนั้น เลยไม่ได้รับราชการทหาร
ชีวิตในวัยเด็กเป็นชาวสมุทรปราการ ไม่ใช่ครอบครัวข้าราชการแต่คิดอยากเป็นตำรวจ จบมัธยมศึกษา ร.ร.ราชวินิต บางแก้ว ก่อนเรียนต่อระดับ ป.ตรี คณะนิติศาสตร์ ม.เกษมบัณฑิต และ ป.โท ม.ศรีปทุม นิติศาสตรมหาบัณฑิต ส่วนใหญ่คนจบสายวิชานี้คาดหวังเป็นอัยการหรือผู้พิพากษารับราชการ แต่ส่วนตัวชอบ “ทนายความ” นอกจากนี้ งานอดิเรกชอบเล่นกีฬา ทั้ง ว่ายน้ำ ปิงปอง เตะบอลบ้าง สะสมโมเดลแนว ดิ อเวนเจอร์ส เหล่าซูปเปอร์ฮีโร่ ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ชีวิตมองแค่ปัจจุบันขอนำความรู้ความสามารถด้านกฎหมายมารับใช้ประชาชน ส่วนตัวคิดว่าก้าวมาไกลพอสมควร อนาคตข้างหน้าในแวดวงการเมืองก็คงอยู่คณะทำงานของ สมศักดิ์ เทพสุทิน ต่อไปเพราะร่วมทำงานกันมานาน
"จิบชาตราชั่ง"