MGR Online - รอง ผบ.ตร.ประชุมชุดปฏิบัติการโครงการดำเนินงานชุมชนยั่งยืนเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติด แบบครบวงจรตามยุทธศาสตร์ชาติ สอดรับกับประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ดึงชุมชนมีส่วนร่วมฟื้นฟูบำบัดผู้ติดยา
วันนี้ (25 พ.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร.(ปป.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศอ.ปส.ตร.) เป็นประธานการประชุมชุดปฏิบัติการโครงการดำเนินงานชุมชนยั่งยืนเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติด แบบครบวงจรตามยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อชี้แจงรายละเอียดและแนวทางการดำเนินโครงการ ให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 โดยมีพล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ รอง จตช.ในฐานะรองผอ.ศอ.ปส.ตร.และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
พล.ต.อ.รอย เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา พบว่า ผู้เสพยาเสพติดที่ผ่านการบำบัดยังขาดภูมิคุ้มกันทางใจ ขาดความรู้ และทักษะในการประกอบอาชีพ และกลับไปใช้ยาเสพติดซ้ำอีก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงจัดให้มีการประชุมชุดปฏิบัติการชุมชนยั่งยืนเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติด แบบครบวงจรตามยุทธศาสตร์ชาติ กับทุกหน่วยปฏิบัติ ในพื้นที่ต้นแบบของสถานีตำรวจในสังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาล และตำรวจภูธรภาค 1-9 จำนวน 1,483 หมู่บ้าน หรือ ชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการดำเนินงานชุมชนยั่งยืน ในการป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด
ด้าน พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ กล่าวว่า จากนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลในการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดโดยให้ถือว่าผู้เสพ คือ ผู้ป่วย เพื่อเป็นการลดอุปสงค์หรือจำนวนผู้ติดยาเสพติดในประเทศให้ลดลง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงได้ดำเนินโครงการดังกล่าว โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในชุมชน เพื่อลดจำนวน และทำให้ผู้ใช้ ผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดหมดไปจากชุมชน, หมู่บ้าน อย่างเป็นระบบและยั่งยืน ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดในชุมชน โดยเสริมสร้างให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง เข้าใจ และตระหนักถึงปัญหา พิษภัยของยาเสพติดที่ส่งผลกระทบต่อตนเอง อีกทั้งยังถือเป็นต้นเหตุของปัญหาอาชญากรรมอื่นๆ นอกจากนี้ การเสพยาเสพติดถือเป็นการเจ็บป่วย โรคสมองติดยา ซึ่งเป็นภัยร้ายแรงต่อสุขภาพที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ
“การบำบัดรักษาและการช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติดย่อมต้องพิจารณาหลายมิติแบบองค์รวม เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างรอบด้าน เพื่อให้เกิดการบำบัดฟื้นฟูใกล้บ้าน หรือภายในชุมชนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ผ่านการบำบัดอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างสงบสุข ภายใต้ทิศทางการเปลี่ยนแปลงในระดับสากล เป็นไปตามหลักการสาธารณสุข สิทธิมนุษยชน และเป็นไปตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 โดยมีกระบวนการตั้งแต่การค้นหาคัดกรอง บำบัด ฟื้นฟู และติดตาม ดูแลช่วยเหลือ โดยกลไกการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน” พล.ตท.ภาณุรัตน์ ระบุ