ศาลอาญาอนุญาตฝากขัง “ทานตะวัน” ต่ออีก 7 วัน หลังอัยการยื่นขอฝากขัง ระบุเพิ่งได้รับสำนวนคดี ศาลนัดไต่สวนประกันตัว 26 พ.ค.นี้ ให้ “พิธา” เสนอพฤติการณ์พิเศษเป็นผู้กำกับดูแลพฤติการณ์และรับผิดชอบ
วันนี้ (20 พ.ค.) ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก อ่านคำสั่งว่า พิเคราะห์พยานหลักฐานในชั้นไต่สวนคำร้องและข้อคัดค้านของผู้ต้องหาแล้ว ได้ความจาก พนักงานอัยการผู้ร้อง ว่า ผู้ร้องเพิ่งได้รับสำนวนการสอบสวนจากพนักงานสอบสวน เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 65 เวลาประมาณ 13.00 น.
ผู้ร้องจึงไม่อาจที่จะพิจารณาสั่งฟ้องได้ทัน ประกอบกับคดีนี้เป็นคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งตามหนังสือสำนักงานอัยการสูงสุด เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการดำเนินคดีอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ผู้ร้องต้องส่งสำนวนให้คณะกรรมการของทางสำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาก่อน และได้ส่งสํานวนให้ทางคณะกรรมการพิจารณาแล้วในวันเดียวกัน หลังจากได้รับสำนวนจากพนักงานสอบสวน แต่ยังไม่ได้รับสำนวนกลับคืนมา
ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงขอฝากขังผู้ต้องหาต่อศาลในครั้งนี้อีก 7 วัน และผู้ร้องยืนยันว่า ผู้ร้องเองและคณะกรรมการสามารถดำเนินการพิจารณาสั่งคดีได้ แล้วเสร็จภายในกำหนดนี้
ผู้ต้องหาคัดค้านว่า ผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุภยันตรายประการอื่น หากไม่ฝากขังผู้ต้องหาต่อศาลก็ไม่ได้เป็นเหตุที่ จะทำให้ผู้ร้องไม่สามารถที่จะพิจารณาสั่งคดีได้ ขอให้ศาลยกคำร้องขอฝากขัง
ศาลเห็นว่า เมื่อผู้ร้องเพิ่งได้รับสำนวนการสอบสวนจากพนักงานสอบสวน เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 65 เวลา ประมาณ 13.00 น. ทำให้ผู้ร้องไม่อาจพิจารณาสั่งคดีได้ทัน และคดีนี้ก่อนฟ้องคดี ผู้ร้องต้องส่ง สำนวนให้คณะกรรมการฯ พิจารณาก่อน กรณีจึงเป็นเหตุจำเป็นเพื่อการฟ้องคดี ส่วนที่ผู้ต้องหา คัดค้านว่าผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือไปก่อเหตุภยันตราย อย่างอื่น จึงไม่มีเหตุที่จะขังผู้ต้องหานั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 71 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อได้ตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาแล้วในระยะใดระหว่างสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้อง หรือพิจารณา ศาลจะออกหมายขังผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ตามมาตรา 87 หรือ มาตรา 88ก็ได้ และให้นำบทบัญญัติในมาตรา 66มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งมาตรา 66 บัญญัติว่าเหตุที่จะออกหมายจับได้ มีดังต่อไปนี้
1. เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่า บุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญา ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี ดังนั้น ตามบทบัญญัติดังกล่าวให้ อำนาจศาลที่จะขังผู้ต้องหาในระหว่างสอบสวนหากมีเหตุตามมาตรา 66 เมื่อคดีนี้ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี จึงเป็นกรณีที่ศาลจะออกหมายขังผู้ต้องหาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความอาญา มาตรา 71 ประกอบมาตรา 66(1) กรณีการฝากขังของผู้ร้องจึงไม่จำต้องพิจารณา หลักเกณฑ์ว่าผู้ต้องหาจะมีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือไปก่อเหตุ ภยันตรายอย่างอื่น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 71 ประกอบมาตรา 26
2. ตามที่ผู้ต้องหาคัดค้าน จึงเห็นควรอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาในครั้งที่ 8 นี้ เป็นเวลา 7 วัน นับแต่วันที่ 23-29 พ.ค. 65 แต่ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิผู้ต้องหาในการ ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 106
โดยในส่วนคำสั่งประกันตัว ศาลอาญามีคำสั่งว่า ให้นัดไต่สวนคำร้องขอปล่อยชั่วคราวในวันพฤหัสบดีที่ 26 พ.ค.นี้ เวลา 10.00 น. และให้ผู้ร้องเสนอพฤติการณ์พิเศษที่เป็นเหตุให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา เช่น ผู้ร้องจะเป็นผู้กำกับดูแลพฤติการณ์ของผู้ต้องหาอย่างใกล้ชิดเพื่อมิให้ผู้ต้องหาทำผิดเงื่อนไขที่ศาลกำหนดไว้อีก และหากผู้ต้องหาผิดเงื่อนไขผู้ร้องจะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร ให้ผู้ต้องหาและทนายผู้ต้องหาเสนอเงื่อนไขให้ศาลพิจารณาประกอบในการปล่อยชั่วคราวก่อนหรือในวันนัด แจ้งพนักงานสอบสวนหากจะคัดค้านให้ยื่นคำคัดค้านก่อนหรือในวันนัด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับก่อนหน้านี้ สำหรับการฝากขังครั้งที่ 7 ศาลเคยอนุญาตฝากขังเป็นเวลา 5 วัน ซึ่งวันนี้ที่ศาลอนุญาตฝากขังอีก 7 วันก็จะครบอำนาจการคุมตัวตามกฎหมายที่ควบคุมได้ในชั้นฝากขัง 84 วัน หากพนักงานอัยการยังไม่สามารถยื่นฟ้อง น.ส.ทานตะวัน ได้ ก็จะต้องปล่อยตัวผู้ต้องหาทันที
นอกจากนี้ เมื่อเวลา 14.00 น.เศษ ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เจ้าหน้าที่ตำรวจจากสังกัด คฝ., บก.น.2, จราจรกลางและสายสืบ รวม 247 คน พร้อมเจ้าพนักงานตำรวจศาล 18 คน พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของศาลอาญาได้เข้าประจำจุด เพื่อเตรียมความพร้อมมาตรการรักษาความปลอดภัย
กรณีมีการชุมนุมกลุ่มนัดหมายรวมตัวจัดกิจกรรมคาร์ม็อบส่งเสียงถึงศาล ส่งสารถึงเพื่อน เรียกร้องให้ปล่อยนักโทษการเมือง
มีการนัดชุมนุมเวลา 12.30 น. ที่ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จากนั้นจะเดินทางมาสะพานปิ่นเกล้า-จรัญสนิทวงศ์-พระราม 7-ประชานุกูล-รัชดาภิเษก-หยุดรถหน้าศาลอาญา-ส่งตัวแทนยื่นหนังสือเเละไปจบที่หน้าเรือนจำกลางคลองเปรม ถนนงามวงศ์วาน
โดยศาลอาญามีการปิดประตูหน้าศาลอาญา และมีการกั้นพื้นที่รอบข้างอันเป็นมาตรการรักษาความปลอดภัยเเละสงบเรียบร้อยภายในศาล
จากนั้นเมื่อเวลา 15.00 น. ปรากฏว่า ผู้ชุมนุมกลุ่มคณะราษฎรยกเลิก 112 (ครย.) จัดกิจกรรมส่งเสียงถึงศาล ส่งสารถึงเพื่อน เรียกร้องให้ปล่อยนักโทษการเมือง ประมาณ 100 คน ที่เดินทางด้วยรถยนต์และรถจักรยานยนต์ (คาร์ม็อบ) มาถึงบริเวณหน้าศาลอาญาก็ได้ปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียงเรียกร้องให้ประกันตัว ผู้ต้องหา หรือจำเลย ในคดีหมิ่นสถาบันฯ มาตรา 112 ซึ่งตัวแทนคณะราษฎร ได้อ่านจดหมายถึงศาล โปรดจงคุ้มครองสิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย มีรายละเอียดเนื้อหาสรุปว่า เรียนอธิบดีศาลอาญา และผู้พิพากษา จากสถานการณ์การคุมขังประชาชนอย่างน้อย 11 ราย ที่ออกมาเคลื่อนไหวหรือแสดงออกทางการเมือง หรือออกมาเคลื่อนไหวอันมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมือง โดยไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว ทางคณะราษฎรยกเลิก 112 (ครย.112) มีข้อคิดเห็นที่อยากจะนำเรียนต่อศาลดังนี้
1. สิทธิในการประกันตัวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ศาลต้องให้การคุ้มครอง เพราะเป็นหลักการทางกฎหมายที่สำคัญในการดำเนินคดีอาญา
2. การไม่ให้ประกันตัว หรือ ถอนประกันตัว โดยอ้างเหตุว่า อาจจะก่อให้เกิดอันตราย หรือความเสียหายประการอื่น หรือ “อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง” เป็นเหตุผลที่ไม่เป็นไปตามหลักกฎหมาย
3. การไม่ให้ประกันตัวโดยอ้างเหตุหลบหนี ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง และศาลมีช่องทางอื่นที่จะใช้ทดแทนการคุมขังได้ ยกตัวอย่างเช่น ในคดีของ เอกชัย หงส์กังวาน และ สมบัติทองย้อย พบว่า ทั้งสองคนไม่มีประวัติการหลบหนี แม้จะได้รับสิทธิในการประกันตัวมาตลอดก่อนจะมีคำพิพากษาของศาล และจำเลยทั้งสองคนก็ปฏิบัติตามคำสั่งและเงื่อนไขของศาลอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นการมารายงานตัวตามนัดทุกครั้ง นอกจากนี้ ในคำร้องขอประกันตัวของผู้ต้องหาและจำเลยในคดีการเมือง มีการระบุ ให้ติดอุปกรณ์กำไลอิเล็กทรอนิกส์ (อีเอ็ม) เพื่อเป็นกลไกป้องกันการหลบหนี พร้อมทั้งให้ศาลกำหนดเงื่อนไขอื่นๆ เพิ่มเติมอีกได้ แต่ศาลไม่ได้พิจารณาถึงมาตรการดังกล่าว และใช้มาตรการคุมขังเป็นหลัก
จากนั้นในช่วงท้ายตัวแทนคณะราษฎรจึงได้สั่งให้ผู้ชุมนุมทั้งหมดชู 3 นิ้ว และตะโกนเสียงดังพร้อมกันหลายครั้งว่า “ปล่อยเพื่อนเรา คืนสิทธิประกันตัว”
ต่อมาภายหลังได้ยื่นเอกสารจดหมายถึงศาล โดยมีเจ้าหน้าที่ศาลมาเป็นตัวแทนรับเอกสารดังกล่าวแล้ว ผู้ชุมนุมคณะราษฎรจำนวน 100 คน จึงเคลื่อนขบวนรถต่อไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และทัณฑสถานหญิงกลาง