MGR Online - ตำรวจสอบสวนกลางเปิดยุทธการ “เรือมนุษย์” ค้น 6 จุด ทลายขบวนการเรือประมงนรก บังคับเสพยาใช้แรงงานทาส
วันนี้ (5 พ.ค.) ที่ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) เมื่อเวลา 06.00 น. พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้ช่วย ผบ.ตร. พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร. พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ ผบก.ปคม. พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปคม. บก.ป. บก.รน. และ หน่วยงานอื่นๆ ในสังกัด บช.ก. เปิดยุทธการ “เรือมนุษย์” กระจายกำลังเข้าตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย 6 จุดในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ จ.นนทบุรี จ.จันทบุรี เพื่อกวาดล้างจับกุมผู้ต้องหาขบวนการค้ามนุษย์บังคับใช้แรงงานบนเรือประมง
สำหรับยุทธการดังกล่าวสืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 64 ประเทศมาเลเซียได้ส่งกลับแรงงานไทย จำนวน 44 คน จากการตรวจสอบ พบในจำนวนนี้มี 3 ราย ถูกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์แรงงานประมง จึงสืบสวนขยายผล จนพบว่า มีการทำกันเป็นกลุ่มขบวนการ โดยเริ่มตั้งแต่กลุ่มนายหน้าจัดหาเหยื่อที่ส่วนใหญ่จะเป็นคนต่างจังหวัดนั่งรถไฟเข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ อ้างว่า จะพาไปทำงานได้รับค่าตอบแทนสูง ก่อนพาไปส่งต่อให้กับเจ้าของเรือประมงแห่งหนึ่งใน จ.สมุทรสาคร โดยกลุ่มนายหน้าจะได้ค่าตอบแทนเป็นเงิน 50,000 บาท ต่อแรงงาน 1 คน
จากนั้นเจ้าของเรือประมง ก็จะนำแรงงานเหล่านี้ลงเรือประมงล่องออกสู่อ่าวไทย ก่อนแอบลักลอบออกนอกเขตน่านน้ำไทย เพื่อไปทำประมงในเขตน่านน้ำประเทศมาเลเซีย โดยระหว่างที่อยู่บนเรือก็จะมีไต้ก๋งเรือ คอยควบคุมและบังคับให้แรงงานเหล่านี้ทำงานหนักเป็นเวลาต่อเนื่องติดต่อกัน ได้พักวันละไม่เกิน 4 ชม. พร้อมกับนำยาเสพติดมาให้เสพจนติด เพื่อใช้เป็นข้อต่อรองให้ยอมอยู่ในความควบคุม หากคนใดไม่ยอมทำตามก็จะถูกทำร้ายทุบตี ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวเหล่านี้ถือเป็นการกระทำที่เข้าข่ายค้ามนุษย์ จึงรวบรวมพยานหลักฐานขออำนาจศาลออกหมายจับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง จนนำมาสู่การเปิดยุทธการดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม สำหรับปฏิบัติการในครั้งนี้ ยังได้มีการเปิดใช้ศูนย์ปฏิบัติการ CCOC หรือ Command And Control Operations Center เพื่อคอยประสานงานควบคุม สั่งการจากส่วนกลางแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าตามจุดต่างๆ แบบเรียลไทม์ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
ต่อมา พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ ผบก.ปคม. พล.ต.ต.สมควร พึ่งทรัพย์ ผบก.รน. พ.ต.อ.ชัชวาล ชูชัยเจริญ ผกก.5 บก.รน. นำกำลังชุดปฏิบัติการพิเศษมัจฉานุ ตำรวจ กก.2 บก.รน. และตำรวจ ส.รน.3 กก.5 บก.รน. (ตำรวจน้ำสัตหีบ) กว่า 30 นาย พร้อมเรือตรวจการณ์รัถยาภิบาลบัญชา 815 และ เรือตรวจการณ์ 633 ออกจากท่าเทียบเรือสัตหีบ เพื่อเข้าตรวจสอบเรือ ก.โชครัตนปรีดา 9 ซึ่งเป็นหนึ่งในเรือเป้าหมายที่ทางชุดทำงานสืบทราบว่าผู้ต้องหาตามหมายจับหลบหนีมากบดานอยู่ และดำเนินการค้นหาพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับคดีค้ามนุษย์บนเรือประมง
ที่เกิดเหตุอยู่กลางทะเลอ่าวไทย ห่างจากจากชายฝั่งบริเวณท่าเรือสัตหีบ 20 ไมล์ทะเล หรือ 36 กิโลเมตร เจ้าหน้าที่พบเรือเป้าหมายจอดอยู่กลางทะเล จึงได้ทำการส่งสัญญาณแสดงตัวตรวจสอบ ก่อนทำการเทียบเรือเข้าตรวจสอบในเบื้องต้นพบนายถวิล ไชยเสนา อายุ 56 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลอาญาที่ 831/2565 ลงวันที่ 27 พ.ค. ในฐานความผิด “ร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปและสมคบกันโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์โดยแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากการบังคับใช้แรงงาน หรือให้บริการหรือการอื่นใดที่คล้ายคลึงกันอันเป็นการขูดรีดบุคคลไม่ว่าบุคคลนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม” และลูกเรือ 3 ราย จึงได้ทำการตรวจสอบเรือ ใบทะเบียนเรือ, ใบอนุญาตการใช้เรือและเอกสารการทำประมงทั้งหมดพบว่ามีการขออนุญาตถูกต้อง จึงได้ทำการจับกุมนายถวิล ซึ่งเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับ
จากการสอบสวนผู้ต้องหาให้การภาคเสธว่า ไม่ได้กระทำการเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ แต่ให้การยอมรับในบางประเด็นโดยเฉพาะเรื่องของการที่เป็นผู้ควบคุมเรือปราบสมุทร 39 ไปทำประมงที่นอกเขตน่านน้ำไทย โดยเข้าไปทำที่เขตน่านน้ำของประเทศมาเลเซียจริง อีกทั้งเคยถูกจับกุมขณะหาปลาที่น่านน้ำประเทศมาเลเซียก่อนที่จะถูกทางการมาเลเซียส่งกลับมาที่ประเทศไทย อีกทั้งยอมรับว่าบนเรือมีการใช้ยาเสพติด โดยที่ลูกเรือต่างหากันมาเอง ไม่ได้เกี่ยวกับตน และไม่ได้บังคับแรงงานประมงตามที่ถูกกล่าวหา
ต่อมาเวลา 11.00 น. ที่ ห้องประชุม ชั้น 2 กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) พล.ต.อ.ดร.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง พร้อมด้วย พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้ช่วย ผบ.ตร. พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผบก.ป. พ.ต.อ.ณรงค์ เทศวิบูลย์รอง ผบก.ปคม. ร่วมกันแถลงผลยุทธการ ดังกล่าว
พล.ต.อ.รอย กล่าวว่า สำหรับภาพรวมของยุทธการดังกล่าว เบื้องต้นสามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้จำนวน 7 คน แบ่งเป็น ผู้ต้องหาที่ทำหน้าที่เป็นนายหน้าคอยจัดหาเหยื่อแรงงาน จำนวน 5 คน ไต้ก๋งเรือ 1 คน และ เจ้าของเรือ 1 คน คงเหลือผู้ต้องหาที่ยังอยู่ระหว่างหลบหนีอีก 3 ราย ซึ่งอยู่ระหว่างการติดตาม นอกจากนี้ จากการตรวจสอบยังพบว่า การที่กลุ่มผู้ต้องหาล่องเรือไปทำประมงยังน่านน้ำประเทศเพื่อนบ้านนั้น เป็นการแอบลักลอบเดินทางออกนอกราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย อีกทั้งเจ้าของเรือประมงและไต้ก๋งเรือลำดังกล่าว ไม่ได้มีการจัดทำเอกสารคนประจำเรือ (SEA MAN BOOK), เอกสารการเดินทาง เข้า-ออกของเรือประมงลำเกิดเหตุ รวมถึงไม่ได้มีการแจ้งหน่วยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ส่อเจตนาปกปิดข้อมูลของลูกเรือและเรือลำที่ใช้ โดยหลังจากนี้ จะเร่งดำเนินการตรวจสอบขยายผลเอาผิดผู้ร่วมขบวนการรายอื่นๆ ต่อไป