MGR Online - ตร.เร่งแก้ทะเบียนประวัติอาชญากร ลบประวัติ ล้างความผิด คืนชีวิตให้ประชาชน พร้อมแถลงรวบอ้างสามารถตรวจสอบลบประวัติอาชญากรได้
วันนี้ (3 พ.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร. พร้อมด้วย พล.ต.ต.ฐากูร นิ่มสมบูรณ์ ผู้บังคับการกองทะเบียนประวัติอาชญากร (ผบก.ทว.) พร้อมด้วย นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะที่ปรึกษาโครงการ ร่วมกันแถลงเร่งแก้ประวัติอาชญากร ลบประวัติ ล้างความผิด คืนชีวิตให้ประชาชน เพื่อคืนความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติสุขได้ในสังคม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการทำฐานระบบข้อมูลอาชญากรรม โดยการคัดแยกหรือเปลี่ยนแปลงรายการข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากรของบุคคลที่ถูกบันทึกไว้ในประวัติ และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้านการทะเบียนประวัติอาชญากรของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้อยู่ในระดับมาตรฐานสากล สอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันดำเนินการอย่างเร่งด่วน
พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ตามระเบียบการปฏิบัติของตำรวจนั้นได้กำหนดให้นำข้อมูลและลายพิมพ์นิ้วมือผู้ต้องหามาจัดเก็บลงในฐานข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากรไว้ก่อน แม้ต่อมาพนักงานอัยการจะมีคำสั่งไม่ฟ้องหรือศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง ก็ไม่ได้นำรายชื่อของผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นออกจากทะเบียนประวัติอาชญากรโดยอัตโนมัติ แต่ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะต้องมายื่นคำร้องต่อกองทะเบียนประวัติอาชญากรเพื่อคัดชื่อออกเอง ซึ่งเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชน พร้อมระบุข้อมูลสถิติ ณ วันที่ 28 เม.ย.จำนวนประวัติที่ยังไม่ได้คัดแยกผลคดีกว่า 12.4 ล้านราย ในจำนวนนี้ พนักงานสอบสวนได้ส่งรายงานผลคดีถึงที่สุดให้กองทะเบียนประวัติอาชญากรทราบแล้ว จำนวน 7.8 ล้านราย คงเหลือที่พนักงานสอบสวนจะต้องรายงานผลคดีถึงที่สุดเพิ่มเติมอีกจำนวน 4.6 ล้านราย โดยได้มอบหมายให้ทุกสถานีตำรวจเร่งสำรวจข้อมูลคดีอาญาถึงที่สุดในความรับผิดชอบ โดยมุ่งเน้นการคัดแยกประวัติอาชญากรรมที่เข้าเกณฑ์ให้แล้วเสร็จภายในปีนี้่ ซึ่งประกอบด้วยกรณีที่พนักงานอัยการสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง หรือสั่งยุติการดำเนินคดีอาญา ตามระเบียบว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ ,ศาลสั่งยกฟ้อง หรือไม่ประทับรับฟ้อง และกรณีศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง หลังจากที่มีการเคลียร์ประวัติแล้วเสร็จจะมีการแจ้งให้เจ้าตัวรับทราบต่อไป
ด้าน นายปริญญา กล่าวว่า ปัจจุบันยังขาดการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ศาล และอัยการ ทำเกิดความยุ่งยาก เพราะประชาชนต้องไปขอคัดชื่อออกเอง และทะเบียนประวัติควรแยกออกเป็น 2 ส่วน คือ ทะเบียนประวัติผู้ต้องหาและทะเบียนประวัติอาชญากร เนื่องจากมองว่าในกรณีที่ผู้ต้องหาถูกยกฟ้อง หรือศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องแล้ว ควรจะถูกลบประวัติออก เพื่อจะได้มีชีวิตใหม่ในฐานะพลเมืองคนไทย คนหนึ่งสามารถออกไปประกอบอาชีพหรือหางานทำได้ มีโอกาสในการทำมาหากินได้ แต่ปัจจุบันการจะออกจากทะเบียนอาชญากรได้ คือ กรณีเสียชีวิต หรือจับผิดตัว พร้อมยืนยันว่าไม่ได้ออกมาเพื่อล้างความผิดให้อาชญากร แต่เห็นว่า การจะเป็นอาชญากรต่อเมื่อมีคำพิพากษาของศาลแล้ว
นอกจากนี้ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ยังได้แถลงผลการจับกุม นายวรพล ทรงสละบุญ อายุ 28 ปี ผู้ต้องหาทำการโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก กลุ่มไรเดอร์ต่างๆ ว่า สามารถตรวจสอบและลบข้อมูลประวัติอาชญากรรมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ โดยที่ไม่ต้องเดินทางมาด้วยตัวเอง แต่จะให้ผู้เสียหายแอดไลน์และขอข้อมูล โดยหากต้องการใบตรวจสอบอาชญากรค่าบริการรายละ 200 บาท หากต้องการลบประวัติอาชญากร ค่าบริการ 2,000 บาท จากนั้นจะทำการปลอมเอกสารและส่งเอกสารมาให้ทางไลน์เพื่อให้ผู้เสียหายนำไปใช้ในการสมัครงาน
ส่วนอีกกรณีคือ การดำเนินคดีกับ นายจำลอง ยิ่งตระกูล อายุ 58 ปี พนักงานชั่วคราวของบริษัทรักษาความปลอดภัยแห่งหนึ่ง ในจังหวัดนนทบุรี หลังมีพลเมืองดีเข้ามาสอบถามทางเพจของกองทะเบียนประวัติอาชญากร พร้อมส่งเอกสารการตรวจสอบประวัติมาให้ดู พบว่า เป็นเอกสารราชการปลอม จากการสืบสวนทำให้ทราบว่า ผู้ที่ทำเอกสารปลอมขึ้นมานั้น นายจำลอง ซึ่งได้มอบตัวได้รับสารภาพว่า ตนเองได้ทราบว่าทางบริษัทจะต้องไปเอาเอกสารการตรวจสอบประวัติพนักงานจากกองทะเบียนประวัติอาชญากร เพื่อใช้ในการเบิกเงิน ตนเองคิดว่าสามารถทำขึ้นมาเองได้ เนื่องจากตนเองเจอเอกสารการตรวจสอบประวัติเก่าตั้งแต่ปี 2562 จึงนำข้อความมาตัดแปะ และถ่ายเอกสารหลายครั้งเพื่อปกปิดร่องรอยการปลอมแปลง เมื่อได้รับทราบว่าทางกองทะเบียนประวัติอาชญากรมีการแจ้งความ จึงได้เข้ามามอบตัวที่ สน.ปทุมวัน โดยพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาว่า ปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม ในชั้นสอบสวนผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา