MGR Online - ปคบ.ร่วมมือ อย.ทลายเว็บไซต์หลอกขายเครื่องสำอาง-อาหารเสริมข้ามชาติ อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง พร้อมยึดของกลางมูลค่า 80 ล้านบาท
วันนี้ (5 เม.ย.) ที่ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. พร้อมด้วย พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ. ร่วมแถลงผลการจับกุม นายศุภกร (สงวนนามสกุล) อายุ 44 ปี ตามหมายจับศาลอาญาที่ 606/2565 ลงวันที่ 31 มี.ค. 65 ข้อหา “ร่วมกันโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร อันเป็นเท็จ, ร่วมกันโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต, ร่วมกันโฆษณาเครื่องสำอางโดยใช้ข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค โดยใช้ข้อความที่เป็นเท็จ, ร่วมกันหลอกลวง บิดเบือน นำเข้าข้อมูลเท็จ สู่ระบบคอมพิวเตอร์” ได้ที่ คอนโดมิเนียมแห่งหนึ่ง ย่านถนนสุรศักดิ์ แขวงสีลม เขตบางรัก กทม. พร้อมของกลาง ผลิตภัณฑ์สุขภาพ 23 รายการ มูลค่าประมาณ 80 ล้านบาท
พล.ต.ต.อนันต์ เปิดเผยว่า สืบเนื่องเจ้าหน้าที่ได้รับเรื่องร้องเรียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ว่า มีกลุ่มเครือข่ายหาผลประโยชน์โดยสร้างเว็บไซต์ที่มีบทความเนื้อหาบรรยายสรรพคุณเกินจริง เพื่อโฆษณาขายเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆ จนมีประชาชนหลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพจำนวนมาก แต่เมื่อได้ใช้แล้วก็ไม่เป็นไปตามที่โฆษณา เจ้าหน้าที่จึงสืบสวนจนทราบว่า บริษัท อีเฟิร์ส เอเชีย (ไทยแลนด์) จำกัด เป็นผู้โฆษณาและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพดังกล่าว จึงรวบรวมพยานหลักฐานขอหมายจับ นายศุภกร กรรมการบริษัท ก่อนเข้าตรวจค้นสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดจำนวน 4 แห่ง จนสามารถจับกุมตัวนายศุภกรได้ดังกล่าว พร้อมตรวจยึดคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการกระทําความผิด จํานวน 3 เครื่อง และเอกสารที่เกี่ยวข้องจํานวนมาก
พล.ต.ต.อนันต์ เผยอีกว่า จากการตรวจสอบ พบว่า บริษัทดังกล่าวเปิดเว็บไซต์เพื่อโฆษณาจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่มีบทความเนื้อหาที่เป็นเท็จและบรรยายสรรพคุณเกินจริงถึง 20 เว็บไซต์ ซึ่งมีผลิตภัณฑ์บางรายการที่ยกเลิกเลข อย. ไปแล้ว โดยในปี 2564 บริษัทดังกล่าวมีรายได้จากเปิดเว็บไซต์ที่มีข้อมูลอันเป็นเท็จเพื่อโฆษณาขายผลิตภัณฑ์ ประมาณ 250 ล้านบาท นอกจากนี้ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย ได้เคยประกาศผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร บางรายการของบริษัทดังกล่าว แสดงข้อมูลทางการแพทย์ที่เป็นเท็จ ไม่สามารถรักษาโรคตามที่กล่าวอ้างได้
พล.ต.ต.อนันต์ กล่าวอีกว่า จากการสอบสวน นายศุภกร ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา แต่ให้การเพิ่มเติมว่า บริษัท อีเฟิร์ส กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทในประเทศโปแลนด์ ได้ว่าจ้างให้ตนเป็นกรรมการสาขาประเทศไทย โดยได้รับเงินเดือน เดือนละ 350,000 บาท ทำหน้าที่ควบคุมดูแลบริษัท ซึ่งรับผิดชอบในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ รวมถึงเชื้อเชิญ ดูแลลูกค้า ส่วนการโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่มีเนื้อหาเกินจริงนั้น ได้ว่าจ้างบริษัทแห่งหนึ่งในประเทศรัสเซียดำเนินการ โดยตนเองไม่ทราบรายละเอียดและวิธีในการดำเนินการ
เบื้องต้นนำตัว นายศุภกร พร้อมด้วยของกลาง ส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป