“ข่าวลึกปมลับ”เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APP และสถานีโทรทัศน์ NEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันพุธที่ 2 มีนาคม 2565 ตอน 4 มีนาฯ ศาลฎีกาจบ คดีวัฒนา-บ้านเอื้ออาทร
มาถึงบทสรุปฉากสุดท้ายของมหากาพย์ คดีทุจริตโครงการก่อสร้างบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ ที่เป็นผลพวงมาจาการสอบสวนคดีตั้งแต่ยุคคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐหรือคตส.ในยุคคมช. เมื่อปี 2549 ผ่านมือกรรมการ ป.ป.ช. ถึง อัยการสูงสุด และสุดท้ายคดีไปที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
เมื่อ 24 ก.ย. 2563 ศาลฎีกาฯ ตัดสินจำคุกจำเลยในคดีบ้านเอื้ออาทรหลายคน โดยเฉพาะ วัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร มีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ทางราชการ ฯ
รวมความผิด11 กระทง กระทงละ 9 ปี รวม 99 ปี แต่คงจำคุกจริง 50 ปี และต่อมา ศาลฎีกาให้ประกันตัว วัฒนา โดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน 10 ล้านบาท
รวมถึงจำเลยคนอื่นๆ
เช่น เสี่ยเปี๋ยง หรืออภิชาติ จันทร์สกุลพร นักโทษคดีทุจริตจำนำข้าว ที่อยู่ในคุกเวลานี้ ก็ถูกตัดสินจำคุกคดีบ้านเอื้ออาทร50 ปีเช่นเดียวกับนายวัฒนา ในฐานะที่เสี่ยเปี๋ยง อ้างตัวเป็นที่ปรึกษาแบบไม่เป็นทางการให้กับนายวัฒนา แล้วไปเรียกรับเงินค่าสินบน เงินใต้โต๊ะเพื่อเป็นค่าวิ่งเต้น จากบริษัทเอกชนที่เข้าไปรับเหมาก่อสร้างโครงการบ้านเอื้ออาทร
โดยรับเงินไปร่วม 11 บริษัท โดยมีหลักฐานชัดทั้งคำเบิกความของพยานจากบริษัทเอกชนที่ได้งานและจ่ายเงินให้กับกลุ่มเสี่ยเปี๋ยง อีกทั้ง พบเส้นทางการเงินมีการโอนเงินจากกลุ่มบริษัทรับเหมาที่ได้โครงการ เข้าบัญชีเครือข่ายคนใกล้ชิดของเสี่ยเปี๋ยงจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม วัฒนา ได้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เพื่ออุทธรณ์คดีต่อศาลฎีกา หลังรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้ผู้ต้องคำพิพากษาอุทธรณ์คดีต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ง่ายขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องมีพยานหลักฐานใหม่ แต่อย่างใด
กระบวนการอุทธรณ์คดี ดำเนินมาถึงศาลฎีกาได้นัดฟังคำตัดสินของศาลฎีกา หลังการพิจารณาคำอุทธรณ์ของวัฒนา ในวันศุกร์ที่4 มีนาคมนี้ เวลาบ่ายสองโมง
ทั้งนี้ ประเด็นการลงโทษวัฒนา ตามคำพิพากษาของศาลฎีกา หลักๆ ก็คือ ศาลเห็นว่า เครือข่ายขบวนการเรียกรับเงินสินบนใต้โต๊ะในคดีบ้านอาทร ที่มีการแบ่งงานกันทำ โดยมีเครือข่ายที่อ้างตัวว่าเป็นทีมงานที่ปรึกษาของรัฐมนตรี ซึ่งมีผู้กระทำผิดหลักคือ นายอภิชาติหรือเสี่ยเปี๋ยง
โดยกลุ่มดังกล่าวไม่ได้มีตำแหน่งทางการเมืองเป็นทางการ แต่มีการแบ่งงานกันไป ไปติดต่อและรับช่วยเหลือให้บริษัทเอกชนได้งาน เพื่อแลกกับเปอร์เซนต์ค่าเดินงานวิ่งเต้นเป็นรายโครงการ โดยทางกลุ่มผู้กระทำผิดได้อ้างหลายครั้งกับบริษัทก่อสร้างว่าเป็นทีมงานที่ปรึกษาให้กับรัฐมนตรี รวมถึงคำเบิกความในชั้นศาล ของพยานจากบริษัทรับเหมาบางรายที่เบิกความพาดพิงถึงนายวัฒนาโดยตรง
คำพิพากษาจึงระบุว่า จำเลยที่ 1 คือนายวัฒนา เมืองสุข น่าจะรู้ข้อเท็จจริง ที่มีการเรียกรับเงินได้ เพราะเป็นเงินจำนวนสูงมาก และเป็นข้อเท็จจริงที่รู้กันแพร่หลายในเวลานั้น แม้จำเลยที่หนึ่ง นายวัฒนา จะอ้างว่าเสี่ยเปี๋ยงที่เป็นจำเลยที่สี่ ไปพบผู้รับเหมากันเอง ศาลจึงเห็นว่า เป็นการอ้างที่จะทำให้พ้นการกระทำความผิดที่หาฟังได้ไม่
คำพิพากษายังระบุอีกว่า จำเลยที่หนึ่งนายวัฒนา ยังมีพฤติการณ์ที่แสดงว่า มีเจตนาที่แสดงว่าเอื้ออำนวย ให้เสี่ยเปี๋ยงกับพวกเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ จากโครงการบ้านเอื้ออาทรได้ โดยอ้างตำแหน่งของนายวัฒนา อันเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้ โดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม วัฒนา ได้ดิ้นสู้เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธ์ของตัวเองเพื่อหักล้างคำตัดสินทุกประเด็น ผ่านการแถลงปิดคดีด้วยวาจาเมื่อวันที่ 4 ก.พ.โดยยืนยันว่า ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับเสี่ยเปี๋ยง ที่ไปอ้างชื่อตัวเองเจรจากับผู้รับเหมา
รวมถึงยกประเด็นว่า สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือปปง.มีการตรวจสอบเส้นทางการเงินของตนเองหมดแล้ว ก็ไม่พบความผิดปกติ หรือพูดง่ายๆ คือไม่พบมีเงินเข้าออกผิดปกติในช่วงเป็นรมว.พัฒนาสังคมฯ
และย้ำว่า สำนวนการสอบสวนคดีนี้ มีความผิดปกติหลายอย่างเช่น การกันตัวพยาน รวมถึงมองว่า คำตัดสินของศาลฎีกาก่อนหน้านี้ ก็ไม่ได้ระบุพฤติการณ์ความผิดของตนเองออกมาให้ชัดได้ว่า มีความผิดตรงไหน
ทำให้ วัฒนามั่นใจมากว่า ศุกร์ที่4มีนาฯนี้ ตัวเองอาจได้ลุ้นพ้นความผิดหรือศาลยกฟ้อง ไม่ต้องเข้าคุก