อัยการสูงสุดเปิดโครงการช่วยเหลือกฎหมาย ปชช.ในวันหยุดราชการ จ.อยุธยา พร้อมนำร่อง 9 จังหวัดทั่วภูมิภาค และขยายเวลาให้บริการสายด่วนปรึกษากฎหมาย 1157 ด้วย
วันนี้ (5 ก.พ.) เวลา 09.00 น. นายสิงห์ชัย ทนินซ้อน อัยการสูงสุด เป็นประธานเปิดโครงการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนในวันหยุดราชการ ซึ่งสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน สำนักงานอัยการสูงสุด จัดขึ้น ณ สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนและการบังคับคดีจ.พระนครศรีอยุธยา สำนักงานอัยการภาค 1 โดยมี นายเชาวลิต วงศานรเศรษฐ์ ผู้ตรวจการอัยการ นายชัยพร เกริกกุลธร อธิบดีอัยการ สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน พร้อมผู้บริหารสำนักงานอัยการสูงสุดและหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่จ.พระนครศรีอยุธยาเข้าร่วม
นายสิงห์ชัย กล่าวว่า สำนักงานอัยการสูงสุด มีภารกิจหลักในการอำนวยความยุติธรรม การรักษาผลประโยชน์ของรัฐ และการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน ซึ่งหลังจากที่ได้เข้ารับตำแหน่งอัยการสูงสุดเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2564 ที่ผ่านมา ได้มีนโยบายในการบริหารงานโดยยึดหลัก “ยุติธรรม-พัฒนา-สามัคคี-มีคุณธรรม” หน่วยงานของสำนักงานอัยการสูงสุดจะต้องดำเนินการด้วยหลักนิติธรรมและธรรมาภิบาล นำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ขับเคลื่อนภารกิจ ซึ่งงานด้านการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน เป็นหนึ่งนโยบายสำคัญอันเป็นภารกิจหลักของสำนักงานอัยการสูงสุด ที่จะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม จึงได้มอบหมายให้สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.) เร่งดำเนินการในเชิงรุก เปิดให้บริการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนในวันหยุดราชการ ในระยะเริ่มแรกจะดำเนินโครงการทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวม 10 สำนักงาน จากนั้นจะได้ประเมินผลการดำเนินงานเพื่อขยายการให้บริการไปยังสำนักงานอื่นๆ ต่อไป เพื่อทำให้สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นที่พึ่งด้านกฎหมายของรัฐและประชาชนอย่างแท้จริง
นายสิงห์ชัย กล่าวต่อว่า การเปิดสำนักงานนำร่องทั้ง 10 สำนักงานนี้ เป็นการอำนวยความสะดวก ประชาชนซึ่งวันทำงานราชการนั้นบางครั้งประชาชนไม่สะดวกที่จะมารับความช่วยเหลือทางกฎหมายจากอัยการได้ โดยหลังจากเปิดบริการมาตั้งเเต่ช่วงมกราคมก็ได้รับผลการตอบรับเป็นอย่างดีดูเเล้วอีกไม่นานก็จะสามารถบริการช่วยเหลือประชาชนได้ทั่วประเทศเเละจะช่วยเหลือประชาชนได้เป็นอย่างดีซึ่งเป็นไปตามภารกิจของสำนักงานอัยการสูงสุด
ผู้สื่อข่าวถามว่า โครงการนำร่องดังกล่าวจะใช้ระยะเวลานานหรือไม่จนนำไปสู่การเปิดบริการทั่วประเทศ
อสส.กล่าวว่า ตอนนี้เรากำลังเก็บสถิติอยู่ ผลตอบรับกลับมาดีเเต่บางครั้ง ประชาชนบางสาวนอาจจะยังไม่ทราบต้องอาศัยความร่วมมือเเละการประชาสัมพันธ์กับสื่อมวลชน งานตรงนี้เราถือว่าเป็นการทำงานเชิงรุก เนื่องจากสำนักงานอัยการสูงสุดเรามี 3 ภารกิจหลัก คือ 1. อำนวยความยุติธรรม 2. รักษาผลประโยชน์รัฐ เเละภารกิจที่ 3 คือ การช่วยเหลือคุ้มครองสิทธิทางกฎหมายประชาชน ซึ่งเราให้เป็นนโยบายเชิงรุกเพื่อเพิ่มช่องทางให้กับประชาชน ซึ่งตนคิดว่าจะตอบสนองกับประชาชนได้อย่างดี
ถามต่อว่า กรณีเกิดเหตุภัยพิบัติใหญ่ๆเช่นน้ำมันรั่วระยอง หรือเหตุไฟไหม้ที่กระทบทั้งเศรษฐกิจเเละสุขภาพประชาชนอัยการสามารถเข้าไปช่วยเหลือเชิงรุกได้อย่างไร
นายสิงห์ชัย กล่าวว่า เหตุเเบบนี้อัยการเราสามารถทำได้เพราะนโยบายต่อไปของเราคือรถโมบายเคลื่อนที่ซึ่งหากมีเหตุอะไรเกิดขึ้นอัยการก็สามารถเข้าไปช่วยเหลือด้านกฎหมายได้ทันท่วงที
เมื่อถามเรื่องงบประมาณ บุคลากรอัยการพอเพียงหรือไม่ในการรองรับประชาชนรวมถึง จิตสาธารณะการบริการประชาชนของอัยการที่จะมาทำหน้าที่ดูเเลประชาชนจะต้องมีใจเรื่องนี้
นายสิงห์ชัย ตอบว่า ตรงนี้เป็นภารกิจของสำนักงานอัยการสูงสุดซึ่งพนักงานอัยการทุกคนทราบถึงภารกิจอันนี้ ในส่วนสำนักงานอัยการสูงสุดจะมีหน่วย สคช.อยู่ทุกจังหวัด ยืนยันว่า บุคลากรเรามีความพร้อม ส่วนงบประมาณอันไหนไม่เพียงพอเราต้องขอสนับสนุนจากรัฐบาล กำลังคนเราก็พยายามจัดสรรให้พอเพียง เเต่ต่อไปหากมีงานมากขึ้นเราก็อาจขอเพิ่ม ซึ่งเรื่องการโยกย้ายอัยการเรามีเป็นปกติอยู่เเล้วหากพนักงานอัยการคนใดต้องการมาอยู่ สคช.ก็สามารถยื่นคำร้องเข้ามาได้เราก็ยินดี ตนเชื่อว่า อัยการทุกคนมีภารกิจในการช่วยเหลือประชาชนอยู่แล้ว
ด้าน นายชัยพร กล่าวว่า สคช. มีภารกิจโดยตรงในการให้คำปรึกษาปัญหาทางกฎหมาย การจัดทำนิติกรรมสัญญา การประนอมข้อพิพาท การให้ความช่วยเหลือทางอรรถคดีโดยการจัดทนายความอาสาว่าต่าง แก้ต่างคดี การดำเนินคดีคุ้มครองสิทธิทางศาลตามที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการ การคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค การเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน การฝึกอบรมความรู้ทางกฎหมาย การสร้างความร่วมมือและเครือข่าย การส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน การไกล่เกลี่ยประนอมข้อพิพาทหนี้นอกระบบตามมติคณะรัฐมนตรี รวมถึงการพัฒนาศักยภาพของคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการทางกฎหมายและคดี ถือเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งของ สำนักงานอัยการสูงสุดที่ให้บริการใกล้ชิดประชาชน ผ่านสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัด (สคชจ.) ใน 76 จังหวัด และอีก 36 สาขา รวม 112 สำนักงาน
นายชัยพร กล่าวว่า สำหรับโครงการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนในวันหยุดราชการ จะเปิดทำการในวันเสาร์ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ ระหว่างเวลา 08.30-16.30 น. ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางการเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมให้กับประชาชนทั่วไป ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ลูกจ้างบริษัทเอกชน และอื่นๆ ที่ไม่สามารถมาขอใช้บริการในวันเวลาราชการได้ ลดภาระและค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับค่าจ้างเป็นรายวัน หากต้องหยุดงานหรือลางานมาเพื่อติดต่อขอใช้บริการก็อาจจะสูญเสียรายได้ในวันดังกล่าว ซึ่งในระยะแรกจะเปิดให้บริการนำร่องใน 9 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น เชียงใหม่ พิษณุโลก ราชบุรี สุราษฎร์ธานี และสงขลา ซึ่งเป็นจังหวัดที่ประชาชนต้องการใช้บริการเป็นจำนวนมาก
“นอกจากนี้ สคช. จะขยายระยะเวลาให้บริการสายด่วนปรึกษากฎหมาย 1157 ในช่วงเวลาดังกล่าวเพิ่มเติมด้วย ซึ่งได้เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นมา โดยในวันนี้อัยการสูงสุดจะได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการฯ ในพื้นที่ดำเนินการของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเพื่อประเมินผลการทำงานในเบื้องต้นและวางแผนแนวทางการปรับปรุงพัฒนาการให้บริการในเชิงรุกต่อไป” อธิบดีอัยการ สำนักงานคุ้มครองสิทธิฯ กล่าว
ต่อมาภายหลังเปิดสำนักงานอย่างเป็นทางการ ซึ่งมีการเปิดพร้อมกันทั้ง 9 ภาค โดยอธิบดีอัยการภาคเเต่ละภาคเป็นประธานเปิดโดยมีการถ่ายทอดทางไกลผ่านจอภาพ ในส่วนของภาค 1 ได้มีชาวบ้าน จำนวน 3 ราย เดินทางมาขอรับความช่วยเหลือทางกฎหมายซึ่งนายสิงห์ชัยได้สอบถามชาวบ้านถึงความพึงพอใจในการเปิดบริการวันหยุด ซึ่งชาวบ้านกล่าวว่ามีความพึงพอใจมาก