xs
xsm
sm
md
lg

“ผอ.เอ็กซ์” พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ลูกหม้อ “ดีเอสไอ” ยุคบุกเบิกสร้างฐาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



              วันที่ 20 ม.ค.47 มีการกำหนดตราพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 ขึ้นมาบังคับใช้จัดตั้ง กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) อธิบดีสมัยนั้น พล.ต.อ.สมบัติ อมรวิวัฒน์ อดีตรอง ผบ.ตร. โอนย้ายจากตำรวจ มีการทาบทามคนที่เคยทำงานร่วมกันมาช่วยองค์กร สอบถามมีใครประสงค์มารับราชการแห่งนี้หรือไม่ เพื่อช่วยกันสร้างหน่วยงานใหม่

              “ผอ.เอ็กซ์” พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการกองบริหารคดีพิเศษ และรองโฆษกกรม ถือเป็นลูกหม้อตั้งแต่ก่อร่างสร้างหน่วย บอกเล่าย้อนถึงก้าวแรกในรั้วดีเอสไอ ตำแหน่งพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ 6 สำนักคดีอาญาพิเศษ ดูแลเรื่องแชร์ลูกโซ่ ฮั้วประมูล ซึ่งเหตุผลสำคัญที่ย้ายมาเพราะเชื่อมั่นองค์กรมีเครื่องมือเอื้อต่อการทำงานในมุมมองของเรา และปฏิบัติหน้าที่ตามรับมอบหมายเรื่อยมา

ยังทำหน้าที่โฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในคดีสำคัญๆ อาทิ ธรรมกายหรือแชร์ลูกโซ่
              พ.ต.ต.วรณัน กล่าวว่า เมื่อปี 2552 ผู้บังคับบัญชาคัดเลือกให้มาเป็นหัวหน้าบริหารศูนย์คดีพิเศษ วางระบบรากฐานการเชื่อมโยงคดีของกรม เพราะลักษณะงานคดีแต่ละกองแยกกัน ทั้ง คดีแชร์ลูกโซ่ สิ่งแวดล้อม ค้ามนุษย์ ฮั้วประมูล ฟอกเงิน ฯลฯ ก่อนพิจารณาเสนอท่านอธิบดี มอบหมายไปยังกองที่เกี่ยวข้องต่อไป กระทั่งปี 2560 หน่วยนี้ได้ถูกยกฐานะขึ้นเป็นกองบริหารคดีพิเศษ

              “กองบริหารคดีพิเศษมีความสำคัญ เป็นศูนย์กลางหน่วย หน้าที่ตั้งแต่ บริการประชาชนที่มาติดต่อ จากนั้นจะพิจารณาคำร้องว่าอยู่ในกรอบขอบเขตหน้าที่หรือไม่ เพื่อรับเรื่องดำเนินการสืบสวนหรือรับคดีพิเศษ ตั้งแต่ออกเลขคดี ติดตามความคืบหน้า และประชุมบริหารการทำคดี ที่สำคัญยังรับผิดชอบงานการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษที่มี นายกรัฐมนตรี เป็นประธานด้วย”

กองบริหารคดีพิเศษ รับเรื่องร้องทุกข์จากประชาชน
              “ผอ.เอ็กซ์” พื้นเพครอบครัวอยู่ อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช มีพี่น้อง 11 คนและเป็นคนสุดท้อง มีคุณพ่อเป็นตำรวจ พ.ต.ท.บุญสม ศรีล้ำ และ คุณแม่ บุญเสริม ศรีล้ำ ในวัยประถมเรียน รร.บ้านตลาด จ.นครศรีธรรมราช แต่ช่วงปี 2524-25 สถานการณ์ความไม่สงบที่จังหวัดค่อนข้างรุนแรง พ่อเป็นกังวลเรื่องความปลอดภัยเพราะรับราชการอยู่ต่างอำเภอ จึงส่งมาเรียนต่อมัธยม รร.เบญจมราชานุสรณ์ จ.นนทบุรี และ สมัครเป็นนักเรียนเตรียมทหาร รุ่น 30

พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ สมัยวัยเรียน
              และต่อ รร.นายร้อยตำรวจ รุ่นที่ 46 รุ่นเดียวกับ พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผบก.ป. คนปัจจุบัน พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ ผบก.สส.บช.น. อีก 4 ปี จบรับราชการเป็นตำรวจครั้งแรก ปี 2536 ลงภูธรเป็นพนักงานสอบสวน สภ.เมืองตราด ทำงานอยู่ปีเศษ ขณะนั้นงานกองปราบค่อนข้างโดดเด่น มีคดีสำคัญมากมาย ก็เดินทางมายื่นเรื่องสมัครขอโอนย้าย คิดว่าน่าจะมีโอกาสได้ใช้ความสามารถ สุดท้ายมีคำสั่งจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติแต่งตั้งให้มาเป็น รอง สว. อยู่ที่กองปราบ ตั้งแต่ปี 2538

              “ส่วนใหญ่งานกองปราบจะลงพื้นที่สืบสวนสอบสวน คดีที่เกินกำลังตำรวจท้องที่หรือว่าเกรงว่าอาจไม่ได้รับความเป็นธรรม ยกตัวอย่าง คดีฆาตรกรรม อบต.เกาะเต่า อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี พ.ศ.2545 ได้รับมอบหมายลงไปสืบสวน พร้อม พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง รอง ผบก.ป. ในช่วงนั้น พบว่ามีความยาก ขณะก่อเหตุเป็นเวลากลางคืน คนร้ายสวมหมวกไหมพรมปิดบังใบหน้า และไม่มีอาวุธปืนของกลาง แต่สุดท้ายก็แกะรอยคนร้ายจนสามารถจับกุมได้สำเร็จ”

จบ รร.นายร้อยตำรวจ รุ่นที่ 46
              "ตำรวจและดีเอสไอ" รายละเอียดมีความต่างกัน คือ ตำรวจจะเป็นอาชญากรรมพื้นฐาน ลัก วิ่ง ชิง ปล้น ฆ่า ส่วน ดีเอสไอ เป็นอาชญากรรมพิเศษ คือ อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ทางเทคโนโลยี ผู้มีอิทธิพล หรือเครือข่ายอาชญากรรม แต่กระบวนการ Mindset คล้ายกัน เพียงต้องปรับความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพิ่มเติม เช่น ความรู้เรื่องการเงินการธนาคาร เรื่องภาษีอากร เรื่องการประกอบธุรกิจคนต่างด้าว ฯลฯ ซึ่งข้อดีทำให้พบเจอบุคลากรมีความรู้จากหลายสายอาชีพมาทำงานภายใต้วัตถุประสงค์เดียวกัน และเกิดความรู้ใหม่ๆ รอบด้าน

              "ตอนเด็กฝันว่าอยากเป็นวิศวะ ชอบประกอบเครื่องบิน แต่จุดเปลี่ยนเพราะเห็นพ่อเป็นตำรวจ เมื่อถึงวัยเกษียณ พ่ออยากเห็นทายาททำงานแบบพ่อสักคนนึง เรามองว่าสมัยพ่อเป็นตำรวจได้รับการยอมรับนับถือจากชาวบ้าน พ่อทำงานเสียสละทั้งกลางวันกลางคืน เราจึงไม่ลังเลไปสอบเป็นตำรวจ"

นำทีมประชุมบริหารคดี
              ฝากสิ่งที่ยึดถือในการปฏิบัติงาน คือ พระบรมราโชวาท ในหลวง ร.๙ ในพิธีบรวงสรวง สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า วันที่ 5 เม.ย.35 เรื่อง “คุณธรรมของคน” "ประการแรก คือ ความซื่อสัตย์ ประการที่สอง คือ การรู้จักข่มใจฝึกใจตนเอง ให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในความสัตย์ความดีนั้น ประการที่สาม คือ การอดทน อดกลั้น และอดออมที่จะไม่ประพฤติล่วงความสัตย์สุจริต ประการที่สี่ คือ การรู้จักละวางความชั่ว ความทุจริต และรู้จักสละประโยชน์ส่วนน้อยของตน เพื่อประโยชน์ส่วนรวมคุณธรรมสี่ประการนี้ ถ้าแต่ละคนพยายามปลูกฝังและบำรุงให้เจริญงอกงาม จะช่วยให้ประเทศชาติบังเกิดความสุขความร่มเย็น และมีโอกาสที่จะปรับปรุงพัฒนาให้มั่นคงก้าวหน้าต่อไป”

“จิบชาตราชั่ง”

กำลังโหลดความคิดเห็น