xs
xsm
sm
md
lg

เตือนเลี้ยงสัตว์ป่าคุ้มครอง เจอโทษหนัก ทั้งจำทั้งปรับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - รองโฆษก ตร. แนะผู้ครอบครองหรือเลี้ยงสัตว์ป่าคุ้มครอง ระวังทำผิดกฎหมายเจอดำเนินคดี เตือน “สัตว์อยู่ในกรง คนนอนในคุก”

วันนี้ (29 ม.ค.) พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ตามที่ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) โดยกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จับกุมผู้เลี้ยงนกปรอดหัวโขน ขายทางช่องทางออนไลน์ ในความผิดฐาน มีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และค้าสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ดำเนินคดีตามกฎหมายนั้น

พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ กล่าวอีกว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่ามีพี่น้องประชาชนบางส่วนยังไม่ทราบถึงข้อกฎหมายเกี่ยวกับการครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครอง และการค้าสัตว์ป่าคุ้มครอง ส่งผลให้มีผู้ประกาศขายสัตว์คุ้มครองผ่านช่องทางออนไลน์เป็นจำนวนมาก สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงขอเรียนว่า การครอบครอง หรือค้าสัตว์ป่าคุ้มครอง โดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น เป็นความผิดตามกฎหมาย โดยมีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องดังนี้

“ในส่วนของผู้ครอบครอง หากไม่ได้รับอนุญาต จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มาตรา 17 ประกอบมาตรา 92 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ ในส่วนของผู้ขาย หากไม่ได้รับอนุญาต จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มาตรา 29 ประกอบมาตรา 89 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ กล่าวต่อว่า โดยพี่น้องประชาชนสามารถตรวจสอบรายชื่อ สัตว์ป่าคุ้มครอง ได้จาก กฎกระทรวง กำหนดให้เป็นสัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. 2546 ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 หรือโทรศัพท์สอบถามข้อมูลได้จาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่หมายเลขโทรศัพท์ 025610777

พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ กล่าวเสริมว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอประชาสัมพันธ์พี่น้องประชาชน ให้ระมัดระวังเกี่ยวกับการซื้อขายสัตว์ป่าทั้งวิธีปกติ และวิธีทางออนไลน์ เพราะการค้าสัตว์ป่าคุ้มครอง และการครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครอง เป็นความผิดตามกฎหมาย และพี่น้องประชาชนที่พบเห็นการค้าสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือการครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครอง สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่ สายด่วนพิทักษ์ป่า 1362 สายด่วน 191 และสายด่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง


กำลังโหลดความคิดเห็น