xs
xsm
sm
md
lg

“จะนะรักษ์ถิ่น” 37 ราย ขอกองทุนยุติธรรมช่วยเหลือทางคดี หลังเป็นผู้ต้องหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - เลขาฯ รมว.ยธ. รับหนังสือเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น กลายเป็นผู้ต้องหาคดีชุมนุมหน้าทำเนียบ ร้องขอกองทุนยุติธรรมเยียวยาตามกฎหมาย

วันนี้ (27 ธ.ค.) เวลา 14.00 น. ที่ศูนย์ยุติธรรมสร้างสุข กระทรวงยุติธรรม ​(ยธ.) ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์​ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รับหนังสือร้องเรียน กรณีชาวบ้านทั้ง 37 ราย (เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น) ตกเป็นผู้ต้องหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หลังชุมนุมเพื่อคัดค้านการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 64

โดยเนื้อหาในหนังสือร้องเรียน ระบุว่า “พวกตนทั้ง 37 คน ขอเรียนว่า ไม่ได้กระทำผิดตามที่พนักงานสอบสวนกล่าวอ้าง แต่อย่างใด การที่ถูกดำเนินคดีที่กรุงเทพฯเป็นการสร้างความยากลำบากให้แก่ข้าพเจ้าทั้งหมด เนื่องจากพวกตนมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดสงขลาและจังหวัดสตูล มีระยะทางในการเดินทาง 1,000 กว่ากิโลเมตร ประกอบกับส่วนใหญ่มีฐานะที่ลำบากหากจะต้องเดินทางมาต่อสู้คดีที่กรุงเทพมหานคร”

ทั้งนี้ ชาวบ้านได้มาร้องเรียนเพื่อขอให้พิจารณาดำเนินการสั่งการให้คณะกรรมการกองทุนยุติธรรม พิจารณาอนุมัติให้ความช่วยเหลือทางคดีสำหรับค่าใช้จ่ายในการถูกดำเนินคดี ไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าอาหาร ตลอดจนหลักทรัพย์ประกันกรณีการขอปล่อยตัวชั่วคราว เพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนแก่ประชาชนที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ โดยมีภาระในการต้องดูแลบุคคลในครอบครัว ที่หากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรม จะทำให้เกิดความเดือดร้อนอย่างยิ่ง ส่วนการที่ทั้ง 37 คน ถูกดำเนินคดีสืบเนื่องมาจากการการลุกขึ้นปกป้องบ้านเกิดทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม เท่านั้น

ด้าน ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต เปิดเผยว่า ในส่วนของคดีความที่ชาวบ้านทั้ง 37 ราย ตกเป็นผู้ต้องหาก็ต้องไปสู้กันต่อไม่ว่าจะถูกหรือผิดถือเป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องตัดสินโดยตนไม่สามารถไปก้าวล่วงได้ แต่ในส่วนของกระทรวงยุติธรรมยินดีช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรมและหลักของกฎหมายขั้นพื้นฐานที่ประชาชนสมควรจะได้รับ โดยกองทุนยุติธรรมจะเข้าไปดูแลเยียวยาให้แต่ต้องผ่านหลักเกณฑ์จากคณะกรรมการกองทุนยุติธรรม

“จากการดูข้อมูลเบื้องต้นเชื่อว่าชาวบ้าน 37 คน อาจจะเข้าเงื่อนไขของการช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรม ได้แก่ เงินประกันตัวจากกองทุนยุติธรรม ค่าใช้จ่ายในการเดินทางต่อสู้คดี (ค่ารถโดยสารประจำทาง ให้นำใบเสร็จมายื่น) ค่าที่พักวันละ 500 บาท และค่าใช้จ่ายในการถ่ายเอกสาร แต่ถ้าหากจะร้องขอทนายความเพื่อสู้คดีทางกระทรวงยุติธรรมก็สามารถทำได้เช่นกัน ยืนยันจะเร่งนำเรื่องเข้าที่ประชุมเพื่อพิจารณาโดยเร็วอย่างที่สุด” ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น