อัยการแถลงสรุปคดีในปี 2564 รับสำนวนจากพนักงานสอบสวน 4 แสนกว่าคดี ลดลง 9 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่คดียาเสพติด และประทุษร้ายต่อทรัพย์ ส่วนปี 2565 มุ่งช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนในวันหยุดราชการ เล็งจัดทำระบบสืบพยานออนไลน์ พร้อมเพิ่มช่องทางสื่อสาร
วันนี้ (26 ม.ค.) ที่ Press Center ชั้น 2 อาคารเอ ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ นายอิทธิพร แก้วทิพย์ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา และโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด นายประยุทธ เพชรคุณ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ และรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด นายชัยพร เกริกเกียรติกุลธร อธิบดีอัยการ สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน นายจุมพล พันธุ์สัมฤทธิ์ อธิบดีอัยการ สำนักงานต่างประเทศ นายณรงค์ ศรีระสันต์ อัยการพิเศษฝ่ายแผนช่วยเหลือทางกฎหมาย สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน นายยรรยง เดชภิรัตนมงคล เลขาธิการสำนักงานอัยการสูงสุด ร่วมกันแถลงผลงานของสำนักงานอัยการสูงสุด รอบปี 2564 และทิศทางการดำเนินงานเชิงรุก ในปี 2565 ตามที่นายสิงห์ชัย ทนินซ้อน อัยการสูงสุด คนที่ 16 ได้แถลงนโยบายการบริหารงานไว้
นายยรรยง เปิดเผยว่า ในการขับเคลื่อนภารกิจของสำนักงานอัยการสูงสุด รวมถึงนโยบายการบริหารงานของอัยการสูงสุด ปัจจุบันมีสำนักงานเลขาธิการสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นหน่วยงานที่ปฏิบัติราชการเพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน ขององค์กรอัยการในทุกมิติ ทั้งด้านการพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น การนำเทคโนโลยี และอุปกรณ์ที่ทันสมัย มาพัฒนากระบวนการให้บริการประชาชน การเพิ่มช่องทางการสื่อสารขององค์กรเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยง่าย เพื่อให้สอดคล้องกับแผนปฏิรูปประเทศการนำเทคโนโลยีมาใช้มีความสำคัญอย่างยิ่งสำนักอัยการสูงสุดได้จัดตั้งคณะกรรมการ ICT โดยมีการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศเข้ามาวางรูปแบบแผนผังเพื่อพัฒนาสถาบันเทคโนโลยีของอัยการสูงสุดให้ทันสมัย ทางสำนักงานได้มีการจัดการโครงการ 2 โครงการ คือ งานบริหารทรัพยากรองค์กร และระบบบริหารงานบุคคล ส่วนระบบใหญ่ที่เรากำลังเร่งพัฒนา คือ ระบบที่การสนับสนุนการทำงานของพนักอัยการด้วยดิจิทัล ซึ่งระบบนี้จะมีความสำคัญมาก เนื่องจากการพัฒนาระบบถ้าเราสามารถเก็บข้อมูลในการดำเนินคดีแพ่งคดีอาญาการดำเนินคดีปกครอง รวมสินค้าทั้งหมดที่อยู่ในภารกิจของพนักงานอัยการสูงสุดอนาคตฐานข้อมูลเหล่านี้จะกลายเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญต่อไป
โดยในปี 2564 สำนักงานอัยการสูงสุดได้พัฒนาระบบติดตามข้อมูลคดีเพื่อบริการประชาชน “OAG-Tracking” ซึ่งเป็นระบบติดตามข้อมูลคดีที่ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงข้อมูลคดีได้ด้วยการค้นหาเลขคดี โดยผู้ใช้งานจะสามารถเข้าถึงได้เฉพาะคดีที่เกี่ยวข้องกับตนเองเท่านั้น เพื่อเป็นการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล และรักษาความลับข้อมูลคดี นอกจากนี้ ผู้ใช้งานยังสามารถติดตามสถานะคดี และการนัดหมายกับพนักงานอัยการ เพื่อดำเนินการในเรื่องต่างๆ ได้ ส่งผลให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยง่าย และยังสามารถช่วยป้องกันและลดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ด้วย
นายอิทธิพร กล่าวสรุปภาพรวมการดำเนินการภารกิจที่สำคัญขององค์กรทั้ง 3 ด้าน ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. ถึง 31 ธ.ค. 2564 โดยมีภาพรวมของการปฏิบัติราชการ ดังนี้
1. ด้านการอำนวยความยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุดรับสำนวนคดีจากพนักงานสอบสวนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 483,141 คดี มีการสั่งและดำเนินคดีแล้วเสร็จ จำนวน 435,527 คดี คิดเป็นร้อยละ 90.15 และอยู่ระหว่างการสอบสวนเพิ่มเติม จำนวน 47,614 คดี คิดเป็นร้อยละ 9.85 จากสถิติดังกล่าวพบว่าจำนวนสำนวนคดีที่รับจากพนักงานสอบสวนลดลงจากปี 2563 คิดเป็นร้อยละ 9.26 (รับสำนวน 532,474 คดี) โดย 3 อันดับสำนวนคดี ที่ได้รับสูงสุด อันดับที่ 1 ได้แก่ คดีที่เกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ อันดับที่ 2 คดีที่เกี่ยวกับการประทุษร้ายต่อทรัพย์ และอันดับที่ 3 คดีที่เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติจราจรทางบกเกี่ยวเนื่องกับยาเสพติดให้โทษ (ผู้ขับขี่เสพยาเสพติด)
2. ด้านการรักษาผลประโยชน์ของรัฐ สำนักงานอัยการสูงสุดได้ดำเนินการตรวจร่างสัญญา ของหน่วยงานต่างๆ จำนวน 569 เรื่อง ทุนทรัพย์ร่างสัญญา จำนวน 345,276,568,690.11 บาท ในจำนวนนี้เป็นร่างสัญญาเกี่ยวกับการนำเข้าวัคซีนของรัฐบาล จำนวน 45 เรื่อง ซึ่งการตรวจร่างสัญญาต่างๆ ของสำนักงานอัยการสูงสุดที่ดำเนินการ เพื่อให้มีความชัดเจน เป็นธรรม มิให้ทางราชการเสียเปรียบ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อให้ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบ ป้องกันการขัดแย้งหรือข้อพิพาทในอนาคต นอกจากนั้น ยังมีการให้บริการเป็นที่ปรึกษาปัญหาทางกฎหมาย (หารือ) จำนวน 189 เรื่อง ทุนทรัพย์ข้อหารือ จำนวน 145,629,809,552.37 บาท โดยภาพรวมด้านการรักษาผลประโยชน์ของรัฐ รวมทั้งสิ้น 758 เรื่อง รวมทุนทรัพย์ จำนวน 490,906,378,242.48 บาท
นอกจากนี้ ในด้านการรักษาผลประโยชน์ของรัฐในรอบปี 2564 สำนักงานคดีพิเศษได้รับสำนวนคดีแพ่ง (ฟอกเงิน) จากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ที่ส่งมาให้สำนักงานอัยการสูงสุดดำเนินการ จำนวน 233 คดี ทุนทรัพย์ จำนวน 3,411,787,287.90 บาท
สำนักงานการบังคับคดี ได้รับเรื่องบังคับคดีทั้งประเทศ จำนวน 4,821 คดี ทุนทรัพย์ จำนวน 233,589,986,416 บาท บังคับเสร็จสิ้นไป จำนวน 2,154 คดี ทุนทรัพย์ จำนวน 5,396,989,405 บาท สำนักงานคดีปกครอง มีสำนวนของศาลศาลปกครองชั้นต้นและศาลปกครองสูงสุด โดยในส่วนของศาลปกครองชั้นต้นได้รับสำนวน จำนวน 5,836 คดี ทุนทรัพย์ จำนวน 156,537,447,256 บาท มีการสั่งและดำเนินคดีแล้วเสร็จ จำนวน 3,781 คดี ทุนทรัพย์ จำนวน 106,175,850,313 บาท และศาลปกครองสูงสุด ได้รับสำนวน จำนวน 1,625 คดี ทุนทรัพย์ จำนวน 168,802,235,466 บาท มีการสั่งและดำเนินคดีแล้วเสร็จ จำนวน 811 คดี ทุนทรัพย์ จำนวน 17,645,921,214 บาท สำนักงานคดีแพ่ง ได้รับสำนวน จำนวน 28,252 คดี ทุนทรัพย์ จำนวน 108,575,029,349.14 บาท มีการสั่งและดำเนินคดีแล้วเสร็จ จำนวน 18,543 คดี ทุนทรัพย์ จำนวน 62,394,184,816.19 บาท
นายชัยพร อธิบดีอัยการสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน เปิดเผยว่า สำหรับในปี 2565 นี้ สำนักงานอัยการสูงสุด พร้อมขับเคลื่อนภารกิจเชิงรุก โดยมุ่งเน้นการให้บริการและเป็นที่พึ่งด้านกฎหมายของรัฐและประชาชน ตามนโยบายการบริหารงานของอัยการสูงสุดที่ได้แถลงไว้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น อัยการสูงสุดจึงได้มอบหมายให้สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนดำเนินงานในเชิงรุก เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการด้านกฎหมายอย่างสะดวกและรวดเร็ว โดยจัดให้มีโครงการคุ้มครองสิทธิ และช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนในวันหยุดราชการ (วันเสาร์) ระหว่างเวลา 08.30-16.30 น. โดยเปิดให้บริการนำร่องในระยะแรก 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดชลบุรี จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดขอนแก่น จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดราชบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นจังหวัดที่ประชาชนต้องการใช้บริการเป็นจำนวนมาก และสำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานครได้เปิดให้บริการสายด่วนให้คำปรึกษากฎหมาย 1157 ในช่วงเวลาดังกล่าวเพิ่มเติมด้วย โดยเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565
และในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2565 นายสิงห์ชัย ทนินซ้อน อัยการสูงสุด จะลงพื้นที่เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการดังกล่าว ในพื้นที่ดำเนินการของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเพื่อประเมินผลการทำงานในเบื้องต้น และวางแผนแนวทางการทำงานเชิงรุกต่อไป
อธิบดีอัยการ สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ ยังจะมีโครงการจัดบริการรถโมบายเคลื่อนที่ ซึ่งเป็นโครงการเชิงรุกที่สำคัญอีกหนึ่งโครงการของสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน ให้บริการด้านกฎหมายเคลื่อนที่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน และสร้างโอกาสในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น
และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน ยังไม่คลี่คลายส่งผลให้สำนักงานอัยการสูงสุดต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน โดยการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการแก่ประชาชน ซึ่งได้นำระบบอัยการช่วยได้ “OAG-Lawaid” มาให้บริการประชาชนในด้านการยื่นคำร้องขอปรึกษาปัญหากฎหมาย หรือยื่นคำร้องขอรับความช่วยเหลือ และติดตามสถานะเรื่องที่ขอคำปรึกษาปัญหากฎหมาย หรือขอรับความช่วยเหลือ รวมทั้งแจ้งเตือนการนัดหมาย กับพนักงานอัยการ เป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงกระบวนการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายที่หลากหลาย ได้รับข้อมูลกฎหมายที่ถูกต้อง ครบถ้วน จากพนักงานอัยการที่เชี่ยวชาญ รวมถึงประหยัดเวลา สะดวก รวดเร็ว ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และขณะนี้สำนักงานอัยการสูงสุดอยู่ระหว่างการจัดทำระบบสืบพยานออนไลน์เพื่อให้บริการประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว กระชับ
สำหรับประชาชนที่ต้องการติดต่อหรือรับข้อมูลข่าวสารด้านกฎหมาย สำนักงานอัยการสูงสุดได้เพิ่มช่องทางการสื่อสารเพื่อให้สามารถสื่อสารกับประชาชนได้อย่างทั่วถึงและสอดคล้องกับยุคการสื่อสารในปัจจุบัน อีก 3 ช่องทาง ได้แก่ Line OA : @oagth เฟซบุ๊ก สำนักงานอัยการสูงสุด ยูทูป สำนักงานอัยการสูงสุด OAGTH
นายณรงค์ อัยการพิเศษฝ่ายแผนช่วยเหลือทางกฎหมาย กล่าวว่า ด้านการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน สำนักงานอัยการสูงสุด ได้ให้บริการเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนในด้านต่าง ๆ จำนวน 88,559 ราย โดยแยกเป็น การคุ้มครองสิทธิทางศาลแก่ประชาชนตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการ จำนวน 16,626 ราย การให้ความช่วยเหลือทางอรรถคดีโดยจัดหาทนายว่าต่างแก้ต่างแก่ประชาชน จำนวน 1,194 ราย การให้ความช่วยเหลือในการทำนิติกรรมต่างๆ จำนวน 319 ราย การให้คำปรึกษาปัญหากฎหมาย จำนวน 66,621 ราย การช่วยเหลือประนอมข้อพิพาทแก่ประชาชน จำนวน 3,799 ราย สำหรับการให้บริการความรู้ทางกฎหมาย มีการให้บริการแก่ประชาชน จำนวน 49,711 ราย โดยแยกเป็น การสนับสนุนการประนอมข้อพิพาทและการระงับข้อพิพาททางแพ่งโดยอนุญาโตตุลาการในระดับท้องถิ่น จำนวน 2,064 ราย การเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายต่าง ๆ แก่ประชาชน จำนวน 41,287 ราย และงานฝึกอบรมความรู้แก่กลุ่มบุคคลต่างๆ จำนวน 6,360 ราย
ด้าน นายจุมพล อธิบดีอัยการ สำนักงานต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในปี 2564 เรามุ่งไปที่การป้องกันปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นตัวการสำคัญตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติ ตนขอนำเสนอ 3 ภารกิจหลัก ภารกิจที่ 1 คือ ความร่วมมือต่างประเทศในเรื่องคดีอาญา ยกตัวอย่าง เป็นคดีในไทยแต่มีพยานหลักฐานในต่างประเทศ และพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการต้องการหลักฐานดังกล่าวอย่าง เช่น บัญชีธนาคารต่างประเทศ หรือทรัพย์สินในต่างประเทศ หรือชั้นศาลมีการสืบพยานอาจจะอยู่ต่างประเทศการส่งหมายให้พยานต่างๆ รวมถึงเมื่อศาลตัดสินแล้วมีการให้ยึดทรัพย์แต่ถ้าทรัพย์สินนั้นอยู่ต่างประเทศเราก็ต้องใช้กลไกความร่วมมือทางคดีอาญาซึ่งสำนักงานคดีต่างประเทศเป็นผู้รับผิดชอบ ภารกิจที่ 2 งานส่งผู้ร้ายข้ามแดน หรือคดีที่คนไทยกระทำผิดแล้วหนีไปต่างประเทศหรือคนต่างประเทศหนีเข้ามาในประเทศไทย และภารกิจที่ 3 คือ งานความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพื่อสนับสนุนในงานอีกสองภารกิจแรก เป็นงานด้านความสัมพันธ์เครือข่ายความร่วมมือความยุติธรรมในภูมิภาคเอเชีย เครือข่ายยุโรปมีสมาชิก 39 ประเทศ ซึ่งจะความเป็นสมาชิกในกลุ่มเหล่านี้ จะทำให้ประสานงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นายอิทธิพร แก้วทิพย์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวอีกว่า ส่วนงานด้านรักษาผลประโยชน์ของรัฐมีการตรวจร่างสัญญาของหน่วยงานต่างๆ 569 เรื่อง จำนวนนี้เป็นร่างสัญญาเกี่ยวกับการนำเข้าวัคซีนของรัฐบาล 45 เรื่อง ให้บริการเป็นที่ปัญหาทางกฎหมาย 189 เรื่อง และสามารถรักษาผลประโยชน์ของรัฐโดยภาพรวม 758 เรื่อง รวมทุนทรัพย์ 490,906,378,242.48 บาท นอกจากนี้สำนักงานคดีพิเศษได้รับสำนวนคดีแพ่งเรื่องฟอกเงินจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) 233 คดี ทุนทรัพย์ มูลค่า3,411,787,287.90 บาท
ขณะที่ นายจุมพล กล่าวว่า ส่วนภารกิจด้านต่างประเทศจะเน้นที่การป้องกันปราบปรามอาชญากรรมข้าม ด้านความร่วมมือต่างประเทศในคดีอาญา การส่งผู้ร้ายข้ามแดน และความร่วมมือความยุติธรรมในภูมิภาคเอเชีย เครือข่ายยุโรปซึ่งปัจจุบันมีสมาชิก 39 ประเทศ โดยมีคดีล่าสุดที่อยู่ระหว่างดำเนินการยึดทรัพย์เพิ่มเติม คือ คดีนางจุฑามาศ ศิริวรรณ อดีตผู้ว่าการ ททท. รับสินบนจัดเทศกาลหนังสินบนข้ามชาติ แม้ขณะนี้คดีอาญาจะถึงที่สุดแล้ว ผู้ต้องหายังอยู่ในเรือนจำ แต่คดีทางเพ่งยังไม่จบเนื่องจากพบว่ามีการโอนเงินระหว่างประเทศหลายทอด โดยเฉพาะในยุโรปหลายบัญชีในธนาคารหลายแห่ง และมีบัญชีหนี่งอยู่ในประเทศสิงคโปร์ จึงประสานอัยการสิงค์โปร์เพื่อให้อายัดทรัพย์ไว้ก่อน ซึ่งในประเทศไทยคดีติดตามทรัพย์ยังไม่ถึ่งที่สุด ซึ่งปปง.และอัยการยังติดตามทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศอยู่
ขณะนี้ศาลสิงค์โปร์ได้มีการอายัดทรัพย์แล้ว รำคำพิพากษาจากศาลไทย คาดว่า ในปีนี้จะได้ทรัพย์ส่วนนี้ส่งคืนให้กระทรวงการคลัง ส่วนที่ยังเหลือในประเทศอื่นๆ ทาง ปปง.และอัยการจะเร่งตามทรัพย์คืนต่อไป” นายจุมพล กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีคดีเครือข่ายค้ายาเสพติดของนางชญาธร ซึ่งได้เงินจากการค้ายาเสพติดในไทย แล้วนำเงินไปฝากที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ประมาณ 140 ล้าน อัยการจึงประสานไปศาลสวิสฯให้ริบเงินจำนวนดังกล่าวเพื่อส่งให้คืนให้ไทย แต่การส่งคืนให้ไทยจะต้องมีการแบ่งปันทรัพย์สิน เบื้องต้นขอมติครม.เพื่อเจรจาการแบ่งปันทรัพย์สิน ซึ่ง ครม.ได้มีมติให้สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นหัวหน้าเจรจา โดยมีปปง.กระทรวงการคลังและกระทรวงการต่างประเทศ คาดว่า ไตรมาสที่ 2 จะได้เงินจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์กลับคืนมา
อธิบดีอัยการฝ่ายต่างประเทศ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีคดีเครือข่ายองค์กรอาชาญกรรมข้ามชาติ ซึ่งทำผิดกฎหมายค้ายาเสพติดติด สิ่งผิดกฎหมายและอาวุธ พบว่า มีเงินส่วนหนึ่งอยู่ในไทยและต่างประเทศประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งในต่างประเทศได้ริบไว้ 600 ล้านบาท ในไทย 300 ล้านบาท คำพิพากษาของศาลสหรัฐฯ ระบุว่า ให้ยึดทั้งหมด แต่คดียังไม่สิ้นสุด และมีแนวโน้มจะได้เงินจำนวน 300 ล้านบาท กลับคืน แต่ต้องหารือกับศาลสหรัฐว่าจะมีระบบแบ่งปันทรัพย์สินอย่างไร เนื่องจากเป็นคดียาเสพติดไม่ใช่คดีทุจริตคอร์รัปชัน