xs
xsm
sm
md
lg

ปูพรมจับ “เภสัชกรเก๊” เปิดร้านขายยาเถื่อน ยึดยาอันตรายเพียบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - “ปคบ.-อย.” ทลายร้านยาไม่มีใบอนุญาตทั่วประเทศ รวบผู้ต้องหาอ้างเป็นเภสัชกรกว่า 100 ราย พร้อมยาปลอมจำนวนมาก ส่งดำเนินคดี

วันนี้ (24 ม.ค.) เวลา 10.00 น. ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. พร้อมด้วย พ.ต.อ.ธรากร เลิศพรเจริญ รอง ผบก.ปอท. รรท.รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ. และ ภก.ดร.สุชาติ จองประเสริฐ ผู้อำนวยการกองยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมแถลงผลการจับกุมกวาดล้างร้านขายยาที่ไม่ได้รับอนุญาตและได้รับอนุญาตที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระดมตรวจค้นร้านขายยาทั่วประเทศ สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 127 ราย พร้อมยึดของกลางที่เกี่ยวข้องกว่า 359 รายการ

พ.ต.อ.เนติ กล่าวว่า สืบเนื่องจากตำรวจ ปคบ. ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนเป็นจำนวนมากและได้รับการประสานงานจาก อย. ให้ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต ยานอนหลับ ยาชุด ยาแก้แพ้แก้ไอ ขายยาเขียว-เหลือง และยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษโดยมิใช่เภสัชกรในพื้นที่หลายจังหวัด โดยพฤติการณ์ใช้พนักงานขายยาที่ไม่ใช่เภสัชกรซึ่งขาดความรู้ความเข้าใจ ในสรรพคุณ ข้อบ่งใช้และข้อพึงระวังในการขายยา ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 และพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. 2537

พ.ต.อ.เนติ กล่าวอีกว่า ในห้วงวันที่ 4-21 ม.ค. 65 บก.ปคบ. จึงได้ทำการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานและจัดกำลังเจ้าหน้าที่ปูพรม ตรวจสอบร้านขายยาทั่วประเทศ พบว่า มีร้านขายยากระทำความผิดกฎหมายจำนวนมาก ทำการจับกุมร้านขายยาที่กระทำความผิด 129 ราย และจับกุมตัวผู้กระทำความผิดพร้อมของกลาง นำส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งจากการเข้าจับกุมดำเนินคดีผู้กระทำความผิดพบ เป็นร้านขายยาที่ไม่ได้รับอนุญาต จำนวน 17 ราย , พนักงานขายยาที่ไม่ใช่เภสัชกร จำนวน 119 ราย (พบเพียงเอกสารใบประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมของเภสัชกรแสดงไว้ภายในร้าน)

“ผลการตรวจพบ พนักงานขายยาจบการศึกษา ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาจนถึงปริญญาตรี ไม่มีความรู้ในวิชาชีพเภสัชกรรมแต่อย่างใด อีกทั้งยังพบของกลาง วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภทยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา, ยาปลอม, ยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษเป็นจำนวนมาก โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยึดเป็นของกลาง นำส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. พนักงานสอบสวนในท้องที่ที่เกิดเหตุเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดกฎหมาย”

ด้าน พล.ต.ต.อนันต์ เผยว่า จากการตรวจสอบในครั้งนี้พบวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท 4 Clorazepate ทะเบียนยา P 1A 054/2542 (ทะเบียนหมดอายุตั้งแต่ปี2005), ยาไม่มีทะเบียน เช่น P50 -ยาเขียวเหลือง, ยาปลอม เช่น ยี่ห้อชิเดกร้า, ยาชุด และการนำยาหมดอายุติดฉลากขับแล้วนำกลับมาขายใหม่ เป็นต้น ซึ่งทางตำรวจสอบสวนกลางจะขยายผลยาในกลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ยาไม่มีทะเบียน และยาปลอมที่ตรวจพบในร้านขายยาต่อไป ทั้งนี้ ขอความร่วมมือร้านขายยาทั้งหลายให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ร้านที่ไม่ได้รับอนุญาตจะดำเนินการกวาดล้างต่อไป

พล.ต.ต.อนันต์ เผยต่อว่า ฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชน ว่า ยาคือหนึ่งในปัจจัยสี่ ที่ใช้เพื่อรักษาโรคหรือบรรเทาอาการเจ็บป่วย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้อย่างถูกวิธีและได้รับคำแนะนำในการใช้อย่างละเอียด จากผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม โดยเฉพาะยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษซึ่งจะต้องใช้อย่างระมัดระวังตามใบสั่งของแพทย์เท่านั้น

ส่วนทาง ดร.สุชาติ กล่าวเสริมว่า ภายในปี 2565 ซึ่งเป็นปีที่ครบกำหนดผ่อนผันตามกฎกระทรวงการขออนุญาตและการออกใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน พ.ศ. 2556 ที่ให้ร้านขายยาทุกประเภทปฏิบัติได้ตามหลักวิธีปฏิบัติทางเภสัชกรรมชุมชน หรือ จีพีพี (Good Pharmacy Practice :GPP) ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานในการยกระดับคุณภาพของร้านขายยาให้มี “ระบบคุณภาพ” ตามแนวทางสากล โดยเริ่มตั้งแต่การพัฒนาที่โครงสร้างพื้นฐานด้านอาคารสถานที่และอุปกรณ์ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วตามบันไดขั้นที่หนึ่งในปี พ.ศ. 2561 และ ณ สิ้นปี 2565 นี้จะเป็นการประเมินในส่วนที่เหลือทั้งหมด ของGPP ได้แก่ บุคลากร การควบคุมคุณภาพยาและเภสัชกรที่จะเป็นผู้ปฏิบัติตามหลัก GPP ให้เกิดขึ้นในร้านยาได้อย่างสมบูรณ์ GPP นี้จะช่วยให้ผู้มารับบริการเกิดความมั่นใจว่าจะได้รับบริการที่มีคุณภาพ มีเภสัชกรที่คอยควบคุมระบบคุณภาพ รวมถึงมีสภาวะการจัดเก็บยาที่เหมาะสมเพื่อส่งมอบให้ผู้ป่วยได้อย่างมีคุณภาพและปลอดภัย และขอให้ร้านขายยาที่ได้รับอนุญาตปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2564 มาตรา 94 “ห้ามผู้ใดจำหน่าย มีไว้ครอบครองซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ ประเภท 4”, พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 12 “ขายยโดยไม่ได้รับอนุญาต” มาตรา 75 ทวิ “ขายยาบรรจุเสร็จหลายขนานโดยจัดเป็นชุดในคราวเดียวกัน” มาตรา 72(4) “ขายยาที่ไม่ขึ้นทะเบียนต่ำรับยา” มาตรา 32 “ขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษในระหว่างที่เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่”, พระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. 2537 มาตรา 28 “เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมทำการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมหรือแสดงด้วยวิธีใด ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีสิทธิประกอบวิชาชีพดังกล่าว โดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต” ส่งดำเนินคดีตามกฎหมาย






กำลังโหลดความคิดเห็น