“รณณรงค์ แก้วเพ็ชร์” ทนายความชื่อดัง ถูกลงโทษห้ามว่าความ เป็นเวลา 1 ปี ฐานผิดมรรยาททนายความ ด้านโฆษกสภาทนายความฯ ระบุ ยังสามารถให้ความเห็นด้านกฎหมายได้
วันนี้ (7 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีการแชร์เอกสารในสื่อสังคมออนไลน์ เป็นเอกสารที่เมื่อช่วงปลายปี 2564 ทางสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ออกเอกสารเลขที่ สท.018/5095 เรื่อง แจ้งคำสั่งคดีมรรยาททนายความถึงศาลทั่วประเทศ โดยมีเนื้อหาสรุปว่า ตามที่สำนักงานศาลยุติธรรมได้มีหนังสือขอความร่วมมือลงวันที่ 5 ก.พ. 2552 ถึงนายกสภาทนายความฯ เรื่อง การแจ้งคำสั่งลงโทษกรณีประพฤติผิดมรรยาททนายความ เพื่อให้สภาทนายความฯ มีหนังสือแจ้งคำสั่งลงโทษกรณีทนายความประพฤติผิดมรรยาททนายความ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการห้ามเป็นทนายความ และการลบชื่อจากทะเบียนทนายความให้ศาลทั่วประเทศทราบนั้น สำนักทะเบียนสภาทนายความฯ ขอแจ้งคำสั่งมรรยาทที่ได้มีการลงโทษทนายความประพฤติผิดมรรยาททนายความในโอกาสแรกที่สภาทนายความได้มีคำสั่ง โดยไม่รอให้มีคำสั่งถึงที่สุดจากสภานายกพิเศษแห่งสภาทนายความฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า เอกสารดังกล่าวได้ระบุรายชื่อทนายจำนวน 12 คน ที่ถูกลงโทษ และ 1 ในนั้นคือ นายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ทนายความชื่อดัง ใบอนุญาตทนายความประเภทตลอดชีพใบอนุญาตเลขที่ 1481/2553 ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในเขตอำนาจศาลจังหวัดนนทบุรี ประพฤติผิดมรรยาททนายความ ตามข้อบังคับสภาทนายความฯว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 ข้อ 10(2) ข้อ 12(1)(2) และข้อ 18 เป็นคดีมรรยาททนายความคดีดำเลขที่ 267-268/2559 คดีแดงเลขที่ 82/2564 คำสั่งลงโทษห้ามทำการเป็นทนายความมีกำหนด 1 ปี มีผลตั้งแต่ 1 ก.ย. 2564 - 31 ส.ค. 2565 และคำสั่งลงโทษห้ามทำการเป็นทนายความ มีกำหนด 6 เดือน มีผลตั้งแต่ 1 ก.ย. 2564 - 31 มี.ค. 2565
ด้าน นายนิพนธ์ จันทเวช เลขาธิการสภาทนายความฯ ในฐานะโฆษกสภาทนายความฯ เปิดเผยว่า ทนายความที่ถูกลงโทษห้ามว่าความตามเวลาที่กำหนด ปกติแล้วก็จะมีผลกระทบต่อคดีที่รับไว้ และกระทบต่อลูกความที่ได้ว่าจ้างให้รับงาน เนื่องจากทนายดังกล่าวไม่สามารถขึ้นว่าความในศาลทุกคดี ไม่สามารถเขียนคำฟ้อง คำร้อง ส่งอุทธรณ์ ส่งฎีกา ได้ในช่วงเวลาที่ถูกลงโทษ ซึ่งกรณีนี้ลูกความสามารถเรียกร้องค่าเสียหายที่ได้รับจากทนายความที่ถูกลงโทษได้ เช่น การขอเงินคืน, ค่าเสียเวลา เป็นต้น และในกรณีนี้รวมไปถึงการทำหน้าที่ทนายความที่รับปรึกษาปัญหาคดีแล้วมีการคิดค่าใช้จ่าย ก็ทำไม่ได้เช่นกัน ส่วนในเรื่องการไปออกให้สัมภาษณ์แสดงความคิดเห็นทางกฎหมายยังสามารถทำได้ เพราะถือว่าเป็นให้ความรู้ หรือความเห็นทางกฎหมายในฐานะนักกฎหมายคนหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม การพิจารณาทนายกระทำผิดมรรยาทหรือไม่นั้น ทางสภาทนายความฯ จะมีวาระการประชุมทุกเดือน พิจารณาเป็นรายคดีไป ไม่ได้พิจารณาที่ตัวบุคคล แม้ว่าจะมีการลงโทษไปแล้ว แต่ก็อาจจะมีคำร้องเรียนเข้ามาอีก จนนำขึ้นพิจารณาในวาระประชุมนั้นๆ ก็จะดูข้อเท็จจริงว่าเข้าข่ายกระทำผิดมรรยาทหรือไม่ อย่างไร หากพบว่าทำผิด ก็ต้องลงโทษตามข้อกำหนดต่อไป