MGR Online - เลขา รมว.ยธ. รับเรื่องผู้เสียหายกู้เงินออนไลน์ ถูกหลอกโอนเงินฟรี-เก็บดอกเบี้ยเกินกฎหมายกำหนด เสียหายกว่าพันล้าน เร่งสอบเส้นทางการเงินนายทุน
วันนี้ (16 พ.ย.) เวลา 10.00 น. ที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รับหนังสือร้องเรียนจาก น.ส.จุฑาทิพ จูพัฒนกุล ผู้ก่อตั้งกลุ่ม แอนตี้หมวกกันน็อกออนไลน์ หลังได้รับผลกระทบจากการกู้ยืมเงินผ่านแอปพลิเคชันออนไลน์ (แอปจีน) มีผู้เสียหายรวมกว่า 20,000 คน
น.ส.จุฑาทิพ เผยว่า สาเหตุมาจากหลายคนเจอวิกฤตโควิด จนภาวะทางการเงินฝืดเคือง จึงจำเป็นต้องกู้เงินดังกล่าว ซึ่งกลุ่มคาดการณ์ว่า อาจมีผู้เสียหายมากถึง 1 ล้านคน รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 1,000 ล้านบาท จึงมีความประสงค์ขอร้องเรียนดังต่อไปนี้ 1. ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สถานีตำรวจภูธร โปรดรับแจ้งความดำเนินคดีหรือรับลงบันทึกประจำวัน เพื่อให้ผู้เสียหายใช้เป็นหลักฐานในการปกป้องตัวเอง รวมถึงใช้เป็นเอกสารในการต่อสู้คดี เพราะยังมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิกเฉยในการดำเนินคดี 2. เร่งรัดการไต่สวนและเพิ่มบทลงโทษ นอกเหนือจากการยึดทรัพย์ ภาคทัณฑ์ หรือบำเพ็ญประโยชน์ เพราะนายทุนหลายรายยังคงแอบประกอบธุรกิจดังกล่าวแบบเดิมโดยไม่กลัวกฎหมาย ตลอดจนข้อมูล เบอร์โทร.ของผู้เสียหายยังถูกนำไปใช้หากิน ประจาน และเป็นข้อต่อรอง
น.ส.จุฑาทิพ เผยอีกว่า 3. ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบเจ้าของเงินฝากที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจดังกล่าว หลังมีการร้องเรียนผ่านกลุ่ม ว่า บัญชีที่มีการรับ-โอนเงินในปัจจุบัน มีการเวียนสลับเปลี่ยนกัน จนกลายเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ และยังนำชื่อของผู้เสียหายลักลอบเปิดบัญชีโอนเงิน-ปล่อยกู้ เป็นจำนวนมาก และ 4. ขอให้สถาบันการเงินและธนาคาร พิจารณาผ่อนปรนเกณฑ์หรือเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงเงินกู้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย
“จากการรวบรวมข้อมูลจากผู้เสียหายปัจจุบันมีมากถึง 30 แอป ที่กำลังแพร่ระบาด และพบว่า จำนวนผู้ถูกหลอกเพิ่มมากขึ้น แม้ที่ผ่านมาจะมีการจับกุมเจ้าของแอปเงินกู้แต่โทษมีแค่ยึดทรัพย์และภาคทัณฑ์ ทำให้กลุ่มแอปเงินกู้ มีการเปลี่ยนชื่อ หลอกลวงเพิ่มอีก นอกจากนี้ ยังพบอีกว่า นายทุนแอปเงินกู้ส่วนใหญ่ มีทั้งชาวจีน มาเลเซีย และเมียนมา”
ด้าน ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต กล่าวว่า พฤติการณ์ของแอปหลอกลวง มี 3 รูปแบบ คือ 1. แจ้งว่า กู้เงิน 10,000 บาท โดยให้ผู้กู้โอนให้ก่อน 2,000 บาท แล้วจึงจะโอนเงินกลับคืนให้ แต่เมื่อโอนไปให้กลับถูกปิดบัญชีและหลอกเอาเงินไป 2. ขอกู้ 4,000 บาท ผู้กู้จะถูกหักเงิน 1,200 บาท ได้จริงแค่ 1,800 บาท ซึ่งเป็นการเรียกดอกเบี้ยเงินกู้เกินกฎหมายกำหนด 3. กู้แล้วไม่ชำระเงินตามเวลากำหนด ก็จะหาเรื่องมาโพสต์ประจาน ทำให้คนในครอบครัว เสียหายหวาดกลัว
ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต กล่าวอีกว่า ตนได้รายงานเรื่องดังกล่าวให้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้รับทราบแล้ว พร้อมมีคำสั่งให้เร่งดำเนินการช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนในขณะนี้ผ่านศูนย์ยุติธรรมสร้างสุข ซึ่งความเสียหายมีมูลค่ารวมกว่า 1,000 ล้านบาท ตนเข้าใจดีว่า สาเหตุเกิดจากประชาชนหลายคนได้รับผลกระทบจากโควิด จึงต้องเข้าหาแหล่งเงินทุนออนไลน์ดังกล่าว กระทั่งถูกหลอกให้โอนเงินไปฟรีๆ ซึ่งผิดจากข้อตกลงเดิมที่ให้ไว้ หรือเรียกดอกเบี้ยเงินกู้เกินกว่ากำหนด จนถึงขั้นมีการด่า ข่มขู่ จะเอารูปภาพที่ไม่เหมาะสมแนวลามาก อนาจารของผู้เสียหายไปประจานต่อสาธารณะ
ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต กล่าวต่อว่า ประเด็นที่ผู้เสียหายมาร้องเรียนนั้น ผิดกฎหมายหลายข้อ ตั้งแต่จัดตั้งสถาบันการเงินโดยไม่ได้รับอนุญาต นำข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ การเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราที่กำหนด การฉ้อโกง การขู่กรรโชกทรัพย์ และโชว์สื่อลามกอนาจารเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยกระทรวงยุติธรรมมีหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบ คือ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โดยผู้เสียหายสามารถกรอกแบบฟอร์มลงในแอปพลิเคชันเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการดำเนินการตามขั้นตอน จากนั้นเราจะนำเคสคดีเข้าสู่การพิจารณาเป็นคดีพิเศษ ซึ่งเราจะทำงานร่วมกับตำรวจในการสอบสวนเส้นทางการเงิน และจะประสานขอข้อมูลไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และธนาคารแห่งประเทศไทย ในการยึดอายัดเงินไว้ก่อน ตนยืนยันว่า เราจะปราบปรามธุรกิจผิดกฎหมายและอาชญากรทางเศรษฐกิจให้ไม่มีที่ยืนในสังคมตามนโยบายของ รมว.ยุติธรรม
อย่างไรก็ตาม หากประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากกรณีดังกล่าว สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานยุติธรรมจังหวัด ผ่านศูนย์ยุติธรรมสร้างสุขของแต่ละจังหวัด หรือสอบถามข้อมูลได้ที่ สายด่วนยุติธรรม โทร. 1111 ต่อ 77