MGR Online - รองโฆษก ตร. เตือนภัยการแอบอ้างแต่งเครื่องแบบ หรือแสดงตัวเป็นตำรวจ หลอกลวงให้คนอื่นหลงเชื่อ มีความผิดถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
วันนี้ (5 พ.ย.) พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ตามที่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้มีนโยบายให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แจ้งเตือน และประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนรู้เท่าทันถึงอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการสืบสวนจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ซึ่งจากที่ปรากฏเป็นข่าวกรณี มีชายแอบอ้างแต่งเครื่องแบบเป็นตำรวจ ตำแหน่ง รองผู้กำกับการ ไปหลอกลวงหญิงสาวผ่านเฟซบุ๊ก เพื่อขอร่วมหลับนอน และได้อัดคลิปลับระหว่างร่วมหลับนอนไว้เพื่อนำมาข่มขู่ภายหลัง หากผู้เสียหายรู้ว่าตนไม่ใช่ตำรวจจริง ซึ่งมีผู้เสียหายเป็นจำนวนมาก และได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปราม จับกุมตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมายนั้น
พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ กล่าวอีกว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอเรียนให้พี่น้องประชาชน ทราบถึงความผิดและอัตราโทษของการแอบอ้างเป็นข้าราชการตำรวจ ดังนี้ (1) ผู้ใดแต่งเครื่องแบบตำรวจโดยไม่มีสิทธิ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 5 ปี ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 108(2) ผู้ใดแต่งกายโดยใช้เครื่องแต่งกายคล้ายเครื่องแบบตำรวจ และการทำการใด ๆ อันทำให้ข้าราชการตำรวจถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง หรือทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่ข้าราชการตำรวจ หรือทำให้บุคคลอื่นหลงเชื่อว่าตนเป็นตำรวจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 1,000 ถึง 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ มาตรา 110
“(3) ความผิดตามข้อ 1. และ 2. หากได้กระทำในเขตที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก หรือประกาศภาวะฉุกเฉิน หรือเพื่อกระทำความผิดอาญา ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 108 หรือ มาตรา 110 และ (4) ผู้ใดใช้เครื่องหมายราชการ โดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับไม่เกิน 2,000 บาท ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายราชการ พ.ศ. 2482 มาตรา 6 ประกอบมาตรา 8”
พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ กล่าวต่อว่า สำหรับการแสดงภาพยนตร์ ละคร หรือการแสดงใดๆ ที่ประสงค์จะเผยแพร่ต่อสาธารณชน ไม่ว่าจะเป็นทางโทรทัศน์ โรงภาพยนตร์หรือสื่อสังคมออนไลน์ ที่ผู้แสดงต้องการแต่งเครื่องแบบตำรวจ หรือใช้เครื่องแต่งกายคล้ายเครื่องแบบตำรวจ สามารถกระทำได้ แต่ต้องให้ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ แจ้งต่อหัวหน้าสถานีตำรวจในท้องที่ที่จะทำการแสดงทราบ ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 111 แต่ทั้งนี้ต้องระมัดระวังเนื้อหาที่ได้แสดง ต้องไม่ทำให้ข้าราชการตำรวจถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง หรือทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่ข้าราชการตำรวจ มิฉะนั้นอาจถูกดำเนินคดีได้
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอประชาสัมพันธ์ไปยังพี่น้องประชาชน หากพบเห็นบุคคใดมีพฤติกรรมแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือใช้เครื่องหมายตำรวจ ในการกระทำผิดกฎหมาย หรือหลอกลวงผู้อื่น สามารถแจ้งเบาะแสการกระทำผิด ไปยังสายด่วน 191 หรือ สายด่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง