MGR Online - รอง ผบ.ตร. เผย ก.ตร. เห็นชอบบลูพรินต์ แผนแม่บทการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ตร.เพื่อให้ข้าราชการตำรวจได้รับการพัฒนาความรู้ ทักษะ สมรรถนะในการปฏิบัติงานที่ทันสมัย ทันต่อสถานการณ์ และอาชญากรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
วันนี้ (29 ต.ค.) พล.ต.อ.ปิยะ อุทาโย รอง ผบ.ตร. ในฐานะประธานอนุกรรมการ ก.ตร.เกี่ยวกับการพัฒนาทรัพยากรบุคคล เปิดเผยว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. ครั้งที่ 11/2564 เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการ ก.ตร.เกี่ยวกับการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ได้มีการนำเสนอแผนแม่บทการพัฒนาทรัพยากรบุคคล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ Royal Thai Police HRD Blueprint สำหรับใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เป็นระบบ ครอบคลุมข้าราชการตำรวจทุกระดับตำแหน่งและทุกสายงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ข้าราชการตำรวจได้รับการพัฒนาความรู้ ทักษะ สมรรถนะในการปฏิบัติงานที่ทันสมัย ทันต่อสถานการณ์ และอาชญากรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สอดคล้องกับการจัดสรรงบประมาณ รวมทั้งมีการพัฒนามิติต่างๆ อย่างสมดุล ทั้งความรู้ความสามารถ ศักยภาพ และสมรรถนะทางร่างกายจิตใจ ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อประชาชน คือ การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจมีสมรรถนะ ประชาชนจะได้รับการบริการที่มีคุณภาพ ได้รับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน พล.ต.อ.ปิยะ กล่าวว่า แผนแม่บทดังกล่าวได้กำหนดคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของข้าราชการตำรวจไว้ จำนวน 5 ด้าน ได้แก่ ความรู้ด้านกฎหมาย, ความรู้ด้านวิชาการตำรวจ, ทักษะด้านยุทธวิธีตำรวจ, คุณธรรม จริยธรรม และทักษะทางสังคม และสมรรถนะทางร่างกายและโภชนาการ
โดยมีการแบ่งกลุ่มทรัพยากรบุคคลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกเป็นส่วนต่างๆ ได้แก่ ผู้บริหารระดับสูง ผู้บริหารระดับกลาง ผู้บริหารระดับต้น ผู้ปฏิบัติงานอาวุโส ผู้ปฏิบัติงาน และ นักเรียนตำรวจ พร้อมทั้งกำหนดมิติของการพัฒนา 4 มิติ ประกอบด้วย สมรรถนะหลัก (Core Competency) สมรรถนะด้านการบริหาร (Managerial Competency) สมรรถนะเฉพาะ (Functional Competency) และ การขับเคลื่อนทางยุทธศาสตร์ (Strategic Driven) ทั้งนี้ เพื่อให้ข้าราชการตำรวจ มีความเป็นตำรวจมืออาชีพ ความอดกลั้น ความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การสร้างความเชื่อมั่นศรัทธา และ ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษหรือภาษาต่างประเทศอื่น โดยในแต่ละระดับจะกำหนดระดับความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะที่แตกต่างกันตามหน้าที่รับผิดชอบ
พล.ต.อ.ปิยะ กล่าวอีกว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีหลักสูตรการฝึอบรมต่างๆ จำนวนมาก รวมทั้งมีวิธีการพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self Learning) เช่น ทุนการศึกษาในระดับต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ระบบการเรียนทางอิเล็กทรอนิกส์ การทดสอบความรู้ด้านวิชาชีพตำรวจและความรู้ทางกฎหมาย การปฏิบัติ (Learning by Doing) เช่น การฝึกยุทธวิธีตำรวจ การฝึกเผชิญเหตุ การทดสอบความรู้ รวมทั้งการทดสอบสมรรถภาพร่างกาย การแบ่งปันความรู้(Sharing & Teaching) เช่น การทบทวนหลังการปฏิบัติ การเป็นวิทยากรทั้งในและนอกหน่วยงาน การนิเทศ และการสัมมนา เป็นต้น
“สิ่งสำคัญคือ ทำอย่างไรเราจะสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อจูงใจให้ข้าราชการตำรวจ กระตือรือร้นที่จะพัฒนาตนเอง โดยกำหนดเงื่อนไข หลักเกณฑ์ในการชี้วัดและประเมินผล สิ่งที่เราต้องการคือ การนำความรู้ ที่ฝังอยู่ในตัวตำรวจที่เก่งๆ หรือมีประสบการณ์ เช่น มือปราบชื่อดัง หรือมือสืบสวน สอบสวน สามารถนำออกมาสู่ความรู้ที่ชัดแจ้ง หรือ Explicit Knowledge เพื่อเป็นตำราให้กับตำรวจรุ่นหลัง ผลลัพธ์สุดท้าย คือ เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินและความเชื่อมั่นของประชาชน” พล.ต.อ.ปิยะ กล่าว