xs
xsm
sm
md
lg

มวยไทยขึ้นชั้น ศิลปินแห่งชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



รายการ “ถอนหมุดข่าว” ทาง NEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันที่ 27 ต.ค.64 นำเสนอรายงานพิเศษ มวยไทยขึ้นชั้น ศิลปินแห่งชาติ



มวยไทย เป็นศักดิ์ศรีของคนไทย เป็นกีฬาที่คนทั่วโลกให้ความสนใจและยอมรับอย่างสูง เพราะเป็นศิลปะที่สวยงาม มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทั้งเรื่องของท่าทาง ลีลาที่สวยงาม และความทรงพลังของแม่ไม้มวยไทย เป็นหนึ่งเดียวในโลก ที่ไม่มีใครเทียบเคียงได้
.
ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งสำรวจความนิยมของมวยไทยที่ขยายไปสู่สากลนั้น ทำให้เกิดธุรกิจบริการและสินค้าที่เกี่ยวกับมวยไทยในประเทศต่างๆ ทั่วโลก มีค่ายมวยไทยเกิดขึ้นในต่างประเทศรวมเกือบ 4,000 แห่ง กระจายอยู่ใน 36 ประเทศ โดยเฉพาะที่บราซิล อิหร่าน อินเดีย โมร็อกโก อเมริกา ยุโรป รวมถึงฮ่องกง
.
ย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 1 ปีที่แล้ว 16 ธันวาคม 2563 ส.ส.ดร.บุญลือ ประเสริฐโสภา ประธานคณะกรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร ได้ประชุมพิจารณาศึกษาหาแนวทางในการเชิดชูบุคคลในวงการมวยไทยให้เป็น “ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะมวยไทย”
.
ครั้งนั้นผู้แทนจากกระทรวงวัฒนธรรม ชี้ลงไปอย่างชัดเจนว่า มวยไทยเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒน ธรรมที่จับต้องไม่ได้ โดยพิจารณาคุณสมบัติของศิลปินแห่งชาติตามพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ.2553 และกฎกระทรวงกำหนดสาขา คุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกและประโยชน์ตอบแทนของศิลปินแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2563 ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล
.
แต่สำหรับมวยไทยนั้นจะใช้หลักเกณฑ์ในพระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ. 2542 การไหว้ครูของนักมวยนั้นเป็นรูปแบบที่มีการถือปฏิบัติกันมาแต่โบราณ เป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่เป็นปกติ แต่การเป็นศิลปินแห่งชาติต้องเป็นการนวัตกรรมใหม่ มีความโดดเด่น แม้ว่านักมวยเป็นที่ยอมรับของสังคม
.
ล่าสุดเมื่อ วันที่ 18 ตุลาคม 2564 กระทรวงวัฒนธรรม ได้ศึกษาข้อมูลแนวทางการดําเนินงาน ที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ และได้นําเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 19 ส.ค.64 โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบ ดังนี้
.
1 มอบหมายกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลวงการ มวยไทยตามพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พุทธศักราช 2553 มาตรา 28 (3) บุคคลที่มีผลงานดีเด่น ทางวัฒนธรรมและพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ.2554 มาตรา 4 (2) ในการยกย่องเป็นบุคคลที่มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม สาขากีฬา ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวและการละเล่น เช่น มวยไทย
.
และ 2 มอบหมายกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลวงการมวยไทย ตามพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 และพระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ.2542 หมวด 4 มาตรา 52 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม ถ้ามี) โดยปรับเพิ่มสวัสดิการและประโยชน์ตอบแทน จาก “กองทุนกีฬามวย” เช่นเดียวกับศิลปินแห่งชาติ โดยทําความตกลงกับกรมบัญชีกลาง
.
ว่าไปแล้ว ก็แทบจะไม่มีเสียงคัดค้านจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใดเลย เพราะในปี 2561 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำนักงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ทีมอาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้เผยแพร่ผลวิจัยว่าด้วยมวยไทยและการเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจตอนหนึ่งว่า
.
มิติของมวยไทยที่สังคมปัจจุบันรับรู้ร่วมกันมีมากถึง 7 มิติ ทั้งในเรื่องการเป็นมรดกชาติ การกีฬา ศิลปะป้องกันตัว การออกกำลังกาย ศิลปะการแสดง Sport Entertainment และเป็นแบรนด์สินค้าส่งออกที่หลากหลาย ซึ่งทั้งหมดมีทรัพยากรและเม็ดเงินมาเกี่ยวข้องจำนวนมาก
.
จากการรวมรวมข้อมูลสถานการณ์มวยไทย อ้างอิงกับการจดทะเบียนกับการกีฬาแห่งประเทศไทย พบว่า มีค่ายมวยไทยในประเทศไทยทั้งหมด 5,100 ค่าย โดยในจำนวนนี้บุคลากรผู้ฝึกสอนมวยทั้งหมด 1,518 คน ผู้ตัดสินมีทั้งหมด 2,043 คน มีผู้จัดการแข่งขันมีทั้งหมด 3,148 คน มีนายสนามมวย 37 คน
.
มวยไทยช่วยเศรษฐกิจโต แบรนด์สินค้าและภาพลักษณ์ที่แข็งแรงของประเทศ
.
กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น ให้นโยบายว่า คลัสเตอร์มวยไทยถือเป็นเครือข่ายที่มีบทบาททั้งในเชิงเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของประเทศไทย โดยมูลค่าของมวยไทยที่เกิดขึ้นทั้งในด้านกีฬาอาชีพ กีฬาเพื่อสุขภาพ สินค้าสนับสนุน สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี
.
สำหรับการท่องเที่ยวเชิงกีฬามีมูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ 1.2 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็นเฉพาะตลาดมวยไทย มีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท เติบโต 5% ซึ่งในปี 2562 คาดว่าตลาดมวยไทยจะเติบโตได้ที่ 10% มูลค่ารวมเพิ่มขึ้นกว่า 1.2 แสนล้านบาท หรือเทียบเท่ากับมูลค่ารวมของตลาดการท่องเที่ยวเชิงกีฬา โดยเชื่อว่าจะเป็นส่วนช่วยในการผลักดัน ให้รายได้รวมของภาคการท่องเที่ยวเติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้กว่า 3.38 ล้านล้านบาทได้
.
ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จากภาพรวมทั้งหมด อุตสาหกรรมมวยไทยถูกผลักดันอย่างเต็มร้อยให้เข้าสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์และการท่องเที่ยวเชิงกีฬาอย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้นการออกมาเชิดชูทำให้เกิดศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะมวยไทย จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ เพรามีการตั้งธงไว้เรียบร้อยแล้ว

ปัจจุบันความโด่งดังของมวยไทยนี้ ไม่ได้อยู่แค่ความเป็นกีฬาเท่านั้น แต่ยังมีนักกีฬาและนักแสดงระดับโลก เซเลบริตี้ที่ช่วยเน้นยํ้าถึงเอกลักษณ์ของมวยไทย อย่างนักมวยไทยชื่อก้อง บัวขาว บัญชาเมฆ ที่ชนะการแข่งขันจนคนทั่วโลกรู้จักดี และสตั๊นแมนที่ผันตัวมาเป็นนักแสดงชื่อดังที่ผ่านผลงานภาพยนตร์มามากมายอย่าง “จา พนม ยีรัมย์” ซึ่งก็ล้วนใช้แม่ไม้มวยไทยในการแสดงช่วยประชาสัมพันธ์คำว่า “มวยไทย” ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง

เพราะฉะนั้นการมีศิลปินแห่งชาติ สาขามวยไทย จึงเป็นอีกก้าวของ ซอฟต์ พาวเวอร์ ที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พยายามผลักดันเดินตามรอยเกาหลีใต้ให้ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น