MGR Online - รอง ผบช.น.เผย รับแจ้งความคดีดูดเงินแล้ว 15 รายรวมเสียหาย 2 แสนบาท ตำรวจไซเบอร์จับมือกองสืบถ่ายทอดแผนประทุษกรรม กฎหมาย และรวบรวมหลักฐาน รองโฆษก
วันนี้ (20 ต.ค.) ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น.ในฐานะโฆษก บช.น.กล่าวถึงกรณีมีประชาชนหลายรายถูกถอนเงินจากบัญชีโดยไม่รู้ตัว ว่า เบื้องต้นผู้เข้าแจ้งความร้องทุกข์เป็นตัวผู้เสียหายเองไม่ใช่ธนาคาร ขณะนี้ในพื้นที่ บช.น.แจ้งความแล้ว 15 ราย รวมมูลค่าเสียหาย ประมาณ 200,000 บาท แต่ละ บก.ได้มอบหมายให้ รอง ผบก.(รับผิดชอบงานสอบสวน) เป็นหัวหน้าคณะทำงานรวบรวมคดีที่เกิดขึ้นในพื้นที่ รวมถึงร่วมประชุมแนวทางการปฏิบัติกับ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร.โดย บช.สอท.และ บก.สส.บช.น.มีผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือในการปฏิบัติ จะคอยถ่ายทอดแนวทางแผนประทุษกรรม ข้อกฎหมาย และการรวบรวมพยานหลักฐานไปยังแต่ละสถานีตำรวจ เนื่องด้วยเป็นคดีที่มีความซับซ้อนพอสมควร บก.สส.บช.น.จะลงไปช่วยตามคำสั่ง พล.ต.ท.สําราญ นวลมา ผบช.น.
พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร.กล่าวว่า กรณีธนาคารเป็นผู้เสียหายแทนเนื่องจากเป็นผู้รับฝากทรัพย์ ส่วนลูกค้าเป็นเจ้าของทรัพย์สามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้หรือไม่ เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อ 3-4 วันที่ผ่านมา ในช่วงแรกที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ทราบเรื่อง พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร.มีคำสั่งเปิดช่องทางให้ผู้เสียหายเข้าแจ้งความกับตำรวจทั่วประเทศ เมื่อวานนี้ (19 ต.ค.) ได้ประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีข้อสรุปดังนี้
1. มีผู้เสียหาย 10,000 กว่าราย ความเสียหาย 100 กว่าล้านบาท ตัวเลขยืนยันจาก สมาคมธนาคารไทย และธนาคารแห่งประเทศไทย
2. เมื่อมีการแจ้งความร้องทุกข์แล้วตำรวจจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการจัดตั้งตัวแทนผู้ประสานงาน เพื่อประสานข้อมูลกับผู้ที่แจ้งความไว้แล้ว ตัวแทนธนาคารยืนยันว่าเพื่อให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพ ธนาคารที่เกี่ยวข้องจะเป็นผู้เสียหายในส่วนของธนาคารเข้าแจ้งความที่ บช.สอท.แทนผู้เสียหายและเยียวยาคืนเงินให้ภายใน 5 วัน
3. การแจ้งความร้องทุกข์ตำรวจจะประสานฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ธนาคารเยียวยาและดำเนินคดีต่อไป แต่ก็ไม่ตัดสิทธิ์หากลูกค้าผู้เสียหายต้องการแจ้งความเอง เนื่องจากเป็นเรื่องความเสียหายส่วนตัว
4. ตักเตือนผู้ที่มีพฤติกรรมรับจ้างเปิดบัญชีแล้วนำไปขาย (บัญชีม้า) จะมีการประสานงานกับ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อปราบปรามให้สิ้นซากไป เนื่องจากแผนประทุษกรรมคดีฉ้อโกงพบว่า มักใช้บัญชีม้ารับโอนเงินที่ไม่ถูกต้อง
5. ผบ.ตร.เน้นย้ำเรื่องการแจ้งความร้องทุกข์ โดยให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจทั่วประเทศรับแจ้งความ หรือลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานไม่สามารถบ่ายเบี่ยงได้
พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวต่อว่า จะดำเนินคดีในความผิดใดนั้นต้องรอความชัดเจนจากธนาคารว่า แผนประทุษกรรมเกิดจากข้อมูลรั่วไหล หรือผู้ใช้นำบัญชีไปผูกไว้กับแอปพลิเคชัน เป็นเหตุให้มิจฉาชีพนำข้อมูลไปใช้จนเกิดความเสียหาย และต้องดูว่านำส่วนใดมาเป็นพยานหลักฐานเพื่อดูข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป หากเข้าข่ายยักยอกทรัพย์ หรือฉ้อโกงเป็นเหตุให้ธนาคารต้องการเป็นผู้เสียหายแทน เพราะไม่อยากให้เกิดผลกระทบต่อธนาคารหรือไม่ ตนคงตอบแทนธนาคารไม่ได้ ตำรวจจะปฏิบัติงานร่วมกับธนาคารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม ประชาชนแสดงความคิดเห็นเข้ามาว่าอาจจะเกิดความไม่มั่นใจ
กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นจากฝีมือแฮกเกอร์ หรือแก๊งหลวกลวงดูดเงิน ข้อมูลธนาคารยืนยันว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากผู้ใช้นำบัญชีไปผูกไว้กับแอปพลิเคชัน หรือใช้ซื้อไอเทมในเกม จึงไม่เกี่ยวข้องกับการรั่วไหลของข้อมูลธนาคารแต่ก็ไม่ตัดประเด็นนี้ทิ้ง แผนประทุษกรรมมีความแตกต่างระหว่างแฮกเกอร์ที่สามารถเจาะระบบนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ กับการรั่วไหลของข้อมูลที่เกิดจากเจ้าของบัญชี พบว่าส่วนใหญ่เป็นการทำธุรกรรมกับร้านค้าในต่างประเทศทางโทรศัทพ์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์ ต้องแยกกลุ่มผู้ก่อเหตุและแผนประทุษกรรมให้ชัดเจนก่อน จึงสามารถสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีออกหมายเรียก หรือหมายจับตำรวจอยู่ระหว่างดำเนินการ
สำหรับบุคคลที่ฉวยโอกาสว่าถูกแฮกเกอร์ดูดเงินแต่จริงแล้วอาจเป็นผู้ใช้บัตรสวมรอยเข้ามา ต้องไปดูในระบบรับชำระเงินออนไลน์ของผู้ให้บริการตัดเงินบัตรเครดิตและเดบิตว่า เป็นความผิดพลาด หรือความบกพร่องจากส่วนใด หรือเป็นเจตนาของผู้ใช้บัตรฉวยโอกาสช่วงนี้เคลมความเสียหาย ธนาคารมีหน่วยงานที่รับผิดชอบไว้คัดกรอง อยากประชาสัมพันธ์ว่าความเสียหายปล่อยให้ธนาคารเป็นตัวแทนผู้เสียหาย แต่ผู้เสียหายสามารถติดตามความคืบหน้าได้ตลอดเวลา อยากให้ตรวจสอบแอปพลิเคชันของตนเองด้วย ทราบว่าธนาคารหลายแห่งมีการแจ้งเตือน สามารถยกเลิก หรือตั้งวงเงินโดยประสานกับธนาคารที่มีบัญชีอยู่ อย่างน้อยเป็นการลดความเสียหายที่เกิดขึ้นได้.