xs
xsm
sm
md
lg

เตือนผู้ใช้บัตรเครดิต-เดบิต ตรวจสอบธุรกรรมออนไลน์ ก่อนเสี่ยงข้อมูลรั่ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - รองโฆษก ตร. แนะนำวิธีลดความเสี่ยงจากการใช้บัตรเครดิต-เดบิต ชำระเงินในระบบออนไลน์ หมั่นตรวจสอบถี่ถ้วนป้องกันข้อมูลรั่วไหล

วันนี้ (18 ต.ค.) พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ตามที่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้มีนโยบายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนรู้เท่าทันถึงอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการสืบสวนจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดนั้น จากที่มีกรณีพี่น้องประชาชนจำนวนมากได้ตรวจสอบพบว่ามีการทำรายการที่ผิดปกติกับบัตรเครดิต หรือบัตรเดบิตของตน โดยที่เจ้าของบัตรไม่ได้เป็นผู้ทำรายการ และกรณีดังกล่าวกำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลของทางธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารพาณิชย์ต่างๆ เพื่อหาสาเหตุที่เกิดขึ้น เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะได้ประสานข้อมูลเพื่อทำการสืบสวนสอบสวนหาต้นตอของเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดต่อไป

พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ กล่าวอีกว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอให้คำแนะนำกับพี่น้องประชาชน ในการลดความเสี่ยงและป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น โดยสามารถแยกได้เป็น 2 วิธีการหลัก คือ วิธีทางออนไลน์ และวิธีทางออฟไลน์ ดังนี้ 1. วิธีทางออนไลน์ ไม่ผูก บัตรเครดิตหรือเดบิตกับเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันที่ไม่น่าเชื่อถือ เพราะเสี่ยงต่อการที่ข้อมูลบัตรจะรั่วไหลหรือถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด, หากจำเป็นต้องนำ บัตรเครดิต หรือ เดบิต ไปผูกข้อมูล ควรจะกำหนดวงเงินของบัตรที่ทำการผูกข้อมูลให้น้อยที่สุดและเหมาะสมกับการใช้งาน เพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น และเป็นการจำกัดวงเงินความเสียหายหากกรณีเกิดปัญหาขึ้น, สมัครบริการกับทางธนาคารหรือสถาบันทางการเงิน ให้ส่งข้อความแจ้งเตือน (SMS Alert) เมื่อมีการทำธุรกรรมผ่าน บัตรเครดิตหรือเดบิต เพื่อให้เราสามารถตรวจสอบธุรกรรมที่ผิดปกติได้รวดเร็ว

พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ กล่าวต่อว่า 2. วิธีทางออฟไลน์ นำสติกเกอร์ หรือวัตถุอื่นๆ มาปิดบังหมายเลขหลังบัตรเครดิต (CVV) เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่น เช่น พนักงานห้างสรรพสินค้า พนักงานสถานีบริการน้ำมัน ฯลฯ นำหมายเลขดังกล่าวพร้อมข้อมูลหน้าบัตรไปใช้ให้เกิดความเสียหาย, หมั่นตรวจสอบรายการธุรกรรมของบัตรของตนอย่างสม่ำเสมอ หากมีรายการธุรกรรมที่ผิดปกติ ควรแจ้งทางธนาคารทราบ เพื่อทำการอายัดบัตร และตรวจสอบการทำธุรกรรม

“ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนพบว่ามีรายการธุรกรรมที่ผิดปกติ ให้รีบแจ้งทางธนาคารเพื่อทำการอายัดบัตร และรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจทั่วประเทศ โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 191 หรือ สายด่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง”


กำลังโหลดความคิดเห็น