MGR Online - รมว.ยุติธรรม ร่วมเวทียาเสพติดอาเซียน โชว์ผลงานยึดทรัพย์ 7 พันล้าน พร้อมสกัดกั้นการลำเลียงทุกช่องทาง ย้ำกัญชาใช้ในทางการแพทย์เท่านั้น
วันนี้ (14 ต.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย น.ส.ณัฐธ์ภัสส์ ยงใจยุทธ ผู้ช่วย รมว.ยุติธรรม , นายธนวัชร นิติกาญจนา ที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม และ นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.ส. ร่วมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านยาเสพติด ครั้งที่ 7 (AMMD)ในรูปแบบการประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล ซึ่งเจ้าภาพจัดการประชุม คือ ประเทศกัมพูชา โดยสํานักงานคณะกรรมการต่อสู้ยาเสพติดแห่งชาติกัมพูชา (NACD) โดยมีตัวแทนจากประเทศกัมพูชา บรูไน อินโดนีเซีย สปป.ลาว มาเลเซีย เมียนมา สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และ นายโรเบิร์ต มาเทียส ไมเคิล เทเน่ รองเลขาธิการอาเซียนด้านการเมืองและความมั่นคง
วัตถุของการประชุมในครั้งนี้ เพื่อกํากับติดตามผลการดําเนินงานด้านยาเสพติดของประเทศอาเซียนตามมติการประชุม ระดับรัฐมนตรีครั้งที่ผ่านมา และประเด็นที่ยังคงค้างหรือประเด็นแผนงาน โครงการที่ต้องได้รับการรับรองจากการประชุมระดับรัฐมนตรีฯ รวมทั้งการรายงานผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านยาเสพติด และเพื่อให้รัฐมนตรีของประเทศสมาชิกอาเซียนได้แสดงวิสัยทัศน์ บทบาทและเจตจํานงที่จะดําเนินงาน โครงการกิจกรรมของอาเซียนให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน และเกิดผลเป็นที่ประจักษ์ในการแก้ปัญหายาเสพติด โดยยึดหลักการการเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียนในการแก้ไขปัญหายาเสพติด เพื่อกําหนดนโยบายและแนวทางความร่วมมือในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในอนาคตของภูมิภาคอาเซียน
ด้าน นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบปัญหายาเสพติดที่เพิ่มสูงขึ้น จากการลักลอบผลิตยาเสพติดและการรั่วไหลของการลักลอบนำเข้าเคมีภัณฑ์สารตั้งต้นเข้าไปในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นทางผ่านในการลักลอบขนยาเสพติดไปยังประเทศอื่น ปัญหานี้จึงมิใช่แค่ปัญหาของประเทศไทยเพียงประเทศเดียว แต่ถือว่าเป็นปัญหาของโลกที่พวกเราจะต้องร่วมมือกันแก้ไข ขณะนี้ประเทศไทยได้จัดทำประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่และได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว มีประเด็นที่สำคัญ ได้แก่ การปรับอัตราโทษให้เหมาะสมกับฐานความผิด การยึดทรัพย์สินจากนักค้ายาเสพติด กำหนดแนวทางการดำเนินงานเพื่อปรับปรุงแนวทางการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติตและการควบคุมสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์อีกด้วย สอดคล้องกับพันธกรณีตามมติที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยพิเศษว่าด้วยปัญหายาเสพติดโลก (UNGASS 2016)
“ประเทศไทยได้เริ่มดำเนินงานด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับปัจจุบัน ให้ความสำคัญกับการตัดวงจรทางการเงิน โดยกำหนดเป้าหมายยึดทรัพย์สิน 6,000 ล้านบาท เพื่อตัดวงจรตัวการหรือนายทุนใหญ่การค้ายาเสพติดได้อย่างเด็ดขาดและถาวร ในหนึ่งปีที่ผ่านมาประเทศไทยสามารถยึดทรัพย์ได้กว่า 7,000 ล้านบาทและนำหลัก Value based มาใช้เพื่อให้สามารถติดตามยึดทรัพย์ได้มากยิ่งขึ้น”
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด มุ่งเน้นระบบการบำบัดแบบสมัครใจและการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยไม่มีการบันทึกประวัติความผิด อีกทั้งมีกระบวนการให้ความรู้เกี่ยวกับยาเสพติดและการเตรียมความพร้อมของผู้ติดยาเสพติดก่อนกลับเข้าสู่สังคม ส่วนการสกัดกั้นสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ไม่ให้เข้าสู่พื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ ในหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยดำเนินการสกัดกั้นยาเสพติดผ่านกลไกและความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆ ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งการพัฒนากลไก ระบบและการเสริมสร้างความสามารถของผู้ปฏิบัติงาน เป็นประเด็นที่จะต้องให้ความสำคัญ มิใช่เพียงแค่ประเทศไทย แต่ต้องเป็นความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน โดยมีแผนปฏิบัติการสามเหลี่ยมทองคำ 1511 เป็นกลไกหลักในการยกระดับมาตรการในการสกัดกั้น ซึ่งในห้วงที่ผ่านมาของการดำเนินงานตามแผนดังกล่าว ถือว่าพวกเราประสบความสำเร็จอย่างมาก ตนจึงขอถือโอกาสนี้ขอบคุณทุกประเทศที่ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ และขอให้ประเทศสมาชิกอาเชียนร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเช่นนี้ต่อไป เพื่อให้เราบรรลุเป้าหมาย Drug Free ASEAN ร่วมกัน
ทั้งนี้ มีการประกาศลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการยาเสพติด (CND) ซึ่งเป็นองค์กรระดับโลกมีสมาชิกทั้งหมด 53 ประเทศ ทวีปเอเชียได้โควต้า 7 ประเทศ มีวาระครั้งละ 3 ปี จะหมดวาระในปี 2567 โดยจะมีการเลือกใหม่ในปี 2566 ขณะนี้มีประเทศที่ประกาศสมัครแล้ว คือ จีน อินเดีย กาตาร์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ โดยทางอินโดนีเซีย ต้องการที่จะมีพื้นที่ในเวทีระดับโลก ส่วนสิงคโปร์ ต้องการเข้าไปดำเนินการเรื่องกัญชา ซึ่งนายสมศักดิ์ ระบุว่า ประเทศไทยพร้อมที่จะลงสมัคร และผลักดันให้กัญชาเป็นประโยชน์ทางการแพทย์ แต่ในเรื่องของการเสพเรายังไม่พร้อมที่จะเปิดเสรีเพราะติดเรื่องกฎหมายหลายฉบับ โดยหวังว่าไทยจะได้รับการสนับสนุนจากประเทศสมาชิกให้กลับมาทำงานอีกครั้ง