xs
xsm
sm
md
lg

ปลุกกระแส ไม้ด่างบอนสี ปั่นเงินล้าน ล่อแมงเม่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



รายการ “ถอนหมุดข่าว” ทาง NEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันที่ 4 ต.ค.64 นำเสนอรายงานพิเศษ ปลุกกระแส ไม้ด่างบอนสี ปั่นเงินล้าน ล่อแมงเม่า



กรณีที่นายนิรินาทย์ เธียรวรโชค วัย 50 ปี ที่ซื้อต้นกล้วยด่างในราคา 10 ล้านบาท แล้วลงรูปเอาเงินสดไปซื้อจ่ายกันสดๆ ในโซเชียลมีเดีย. จนมีชาวเน็ตออกมาแสดงความเห็นว่า แพงเว่อร์ไปหรือไม่ ปั่นราคาสร้างกระแสหรือเปล่า
.
แต่ทางนายนิรินาทย์บอกว่า กล้วยด่างต้นนี้เป็นพันธุ์แดงอินโดฯ มีความพิเศษตรงที่ใบด่าง 3 ลายในต้นเดียว สามารถทำกำไรได้อีกในอนาคต สามารถขายต่อได้หน่อละ 2 ล้านบาท ซึ่งตอนนี้มีคนจองแล้ว 2 ล้านบาท
.
จากนั้นก็ลามมาถึงการตั้งคำถามของกระแสนิยมเล่นบอนสีที่ถูกปั่นราคาขึ้นไปหลักแสนหลักล้านบาทเช่นกัน จนมีการแชร์บทความของ "ทนายแต๊ก เตือนไว้ให้คิด" ที่ยกตัวอย่างของการปั่นราคาแบบแชร์ลูกโซ่
.
’นายเอ.กับนายบี. ลงหุ้นกันค้าขายสินค้าของใหม่หายาก จึงเลือกเอากล้วยด่างเป็นสินค้า ทั้งสองวางแผนการตลาด ดังนี้
.
เอกับบี.หาเงินสดๆมา10 ล้าน ให้เอ.เอามาแกล้งซื้อต้นกล้วยด่างของบี.จำนวน10 ล้านบาท ตกเย็นคืนเงินแก่เจ้าของไป...ต่อมา เอ. ขายหน่อกล้วยด่างที่จัดเตรียมไว้แก่เหยื่อจำนวนมากที่แห่กันมาซื้อแค่หน่อละ1,000 บาท เหยื่อหวังเอาไปเลี้ยงให้สวยงามแล้วขายต่อในราคานับล้าน
.
เอและบี. ขายหน่อกล้วยด่างหลายสาขา หลายท้องที่ หลายจังหวัด ได้ 200,000 หน่อ รวมเป็นเงิน 200,000,000 บาท (สองร้อยล้านบาทถ้วน) หักต้นทุนหน่อละ10บาท ได้กำไรเท่าไหร่

คิดดูกันเอาเอง10 ล้านบาทแรกเป็นแค่เหยื่อปลอม ยืมมาวันเดียว เอามาล่อ คืนไปแล้ว... หน่อกล้วยด่างก็แอบเพาะเลี้ยงไว้แล้ว
.
ระวัง แชร์ลูกโซ่ การหลอกล่อทางการตลาดที่ไม่ผิดกฎหมาย..ความโลภทำให้คนขาดสติ ความขาดเหตุผล ขาดสติ ทำให้เสียเงิน เสียเวลา’
.
จากกระแสดังกล่าว นายชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย (พท.) ออกมารับลูกทันที โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า
.
“อย่าเห่อบอนจนบ้าบอ! อย่าเห่อตามกระแสบ้าบอนสีให้มากนัก ที่แท้นักการตลาด (จีน) เขาเข้ามาปั่นราคาบอนสี เพราะเขาซื้อจากอเมริกา ซึ่งทำไร่บอนเป็นอุตสาหกรรม ดังภาพที่เห็น เมื่อราคาบอนสูง ต่อไปเขาทยอยส่งเข้ามา มีแต่รับทรัพย์ พอราคาบอนตก จะเอาจิ้มน้ำพริกก็ไม่ได้ เอามาทำเครื่องเรือนก็ไม่ได้ ลงทุนแล้วจม ให้ระวังหน่อย!”
.
เมื่อเจาะลึกตลาดบอนสีของไทยที่มีอยู่แบบปกติในตลาดไม้ประดับมานาน มีราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 50 บาทไปจนถึงหลักหมื่นแล้วแต่ความสวยงาม ขนาดของลำต้น และที่สำคัญคือกระแสนิยมต้องผลิตไม้สายพันธุ์ใหม่ออกมาเสมอ
.
การทำตลาดเพื่อจำหน่ายบอนสีให้เป็นที่นิยมของลูกค้า ต้องหมั่นพัฒนาพันธุ์ด้วยการนำพ่อแม่พันธุ์ใหม่ๆ มาผสมพันธุ์อยู่เสมอเพื่อให้เกิดไม้ใหม่ ยิ่งภายในสวนมีลูกไม้ใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่เสมอ จะช่วยทำให้ลูกค้ามีตัวเลือกซื้อมากขึ้น
.
ดังนั้น การทำตลาดบอนสีให้ประสบผลสำเร็จและติดตลาด ผู้ปลูกต้องไม่หยุดที่จะพัฒนาพันธุ์ หมั่นเรียนรู้และผสมพันธุ์ลูกไม้ต่างๆ ตามจินตนาการของตัวเองอยู่เสมอ เมื่อได้ลูกไม้ใหม่ออกมาก็จะนำไม้ไปตั้งชื่อที่สมาคมบอนสีแห่งประเทศไทย
.
นั่นคือตลาดบอนสีก่อนเกิดกระแสการปั่นราคาในสื่อโซเชียลมีเดียยุคปัจจุบัน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งช่องทาง การสร้างตลาดที่ไปได้อย่างกว้างขวางมาก เพราะผู้ที่สนใจในบอนสีก็จะเข้ามาชมและเลือกซื้อบอนสีตามเพจต่างๆ ที่เกี่ยวกับบอนสีโดยเฉพาะ จึงทำให้ลูกค้าที่อยู่ห่างไกลก็สามารถเลือกซื้อไม้ในแบบที่ชอบ โดยทางสวนจัดส่งให้ทางไปรษณีย์ถึงหน้าบ้านของลูกค้าได้อย่างง่ายดาย
.
สำหรับแหล่งผลิตบอนสีที่ใหญ่ที่สุดในโลก อยู่ในรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา เป็นแหล่งผลิตหัวพันธุ์บอนสีจำหน่ายที่มีพื้นที่ประมาณ 8,000 ไร่ ในทุกปีจะมีการจัดงาน คาลาเดียมเฟสติวัล(Caladium Festival) ที่รัฐฟลอริดา ในช่วงเดือนสิงหาคมของทุกปี
.
นอกจากนี้ ประเทศศรีลังกาจะผลิตหัวบอนสี่ส่งขายให้กับสหรัฐอเมริกาในราคาถูก การผลิตบอนสีของประเทศสหรัฐอเมริกาและศรีลังกาจะผลิตโดยปลูกเป็นแปลงปลูกลงดินพื้นที่กว้าง แต่สายพันธุ์บอนสีของทั้ง 2 ประเทศยังมีน้อยกว่าประเทศไทยการผลิตบอนสีในต่างประเทศจะผลิตบอนสีเพื่อให้ได้หัวบอนสีที่แข็งแรงใช้เวลาประมาณ7 เดือน จึงขุดหัวขึ้นมาขาย
.
ส่วนแหล่งผลิตบอนสีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อยู่ที่ภาคกลาง ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี อยุธยา คาดปริมาณการผลิตกว่า 3 แสนกระถางต่อปี
.
ตลาดบอนสีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ตลาดจตุจักร, ตลาดสนามหลวง 2, ตลาดต้นไม้กาญจนาภิเษก, ตลาดมีนบุรี และตลาดกลุ่มเฟซบุ๊ก
.
บอนสี ได้รับการยกย่องว่าเป็น ราชินีแห่งไม้ใบ (Queen of the Teary Plant) ในประเทศไทยนั้นมีบันทึกการนำเข้าบอนสีจากยุโรปมาในปี พ.ศ. 2425 พระยาวินิจอนันกร บันทึกว่าฝรั่งสั่งบอนสีเข้ามาปลูกบอนสีโบราณที่นิยมในยุคนั้นชื่อว่า “กระนกกระทา” และ “ถมยาประแป้ง”
.
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกในปี พ.ศ. 2440 ได้ทรงนำบอนสีกลับเข้ามาปลูกในพระบรมมหาราชวัง สร้างความนิยมให้กับฝ่ายใน โดยยุคนั้นสายพันธุ์ที่มีชื่อเสียง คือ “บอนสีเจ้ากรุงไกเซอร์” และ “บอนสีเจ้ากรุงเดนมาร์ก”
.

ปัจจุบันกระแสราคาไม้ใบด่างและบอนสีที่พุ่งสูงปรี๊ด น่าจะเริ่มต้นจากกลุ่มคนมีชื่อเสียงมีเวลาว่างจากช่่วงโควิด-19 ระบาด หันมาปลูก มาสนใจไม้ใบด่าง ดาราดังๆหลายคน โพสต์รูปกับต้นไม้หลักร้อย พอเป็นกระแส ราคาปั่นกันเป็นหลักพัน ถึงหมื่น นานๆไปขยับมาที่ใบละหมื่น กระถางละหลายแสน จนถึงหลายล้านก็มี
.
ผู้เชี่ยวชาญด้านไม้ประดับ ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยแม่โจ้ ออกมาเตือนและแนะนำว่า อย่าด่วนตัดสินใจ เพราะไม้ใบใช้เวลาปลูก การเจริญเติบโตไม่นาน แต่วงการที่ขยับราคากัน แบบรายวันนั้น ไม่ยั่งยืน ซึ่งตามสื่อสังคมออนไลน์จะเห็น การโพสต์ขายรายชั่วโมง
.
ราคาที่เห็นแทบไม่น่าเชื่อว่าจะสูงขนาดนั้น สินค้าจะมีมูลค่าทางการตลาด ต้องเป็นไปตามกลไกตลาด อย่าหลงเชื่อหรือตัดสิน จากรูปภาพ ที่เห็นตามสื่อสังคม มีการโพสต์โชว์ การซื้อขาย เงินเป็นฟ่อนๆ นับใบขายกัน ใบหลักหมื่น หลักแสน
.
ยกตัวอย่างต้นไม้ใบด่าง ไม่ว่าจะเป็นเสน่ห์จันทร์ดำด่าง ราคาในตลาดอยู่ที่กระถางละแสนกว่าบาท ในขณะที่มอนเสตอร่ามิ้นท์ นับใบขาย ใบละ 120,000 บาท บางกระถางมี 8-9 ใบ ราคาปาไปเป็นล้านบาทก็มีการซื้อขายผ่านสื่อสังคมออนไลน์

กลไกตลาดแบบนี้ วูบไหวไม่ต่างจากกระแสต้นไม้ประเภท ไม้ล้อม ,ไม้บอนไซ, ชวนชม,ลีลาวีดี, โป๊ยเซียน หรือแม้แต่พืชผลเศรษฐกิจ ที่ทำเอามือใหม่,วงการเจ็บหนัก เสียเงิน,เสียเวลา มาหลายบทเรียน
.
ครั้งนี้ก็เช่นกันกระแสไม้ใบด่างบอนสีที่กำลังมาแรงนั้น กลไกตลาดแบบปั่นราคากันรายวัน ต้องระวัง ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ อย่าเสียรู้กลายเป็นแมงเม่าบินเข้ากองไฟ อีกไม่นาน ตลาดจะวาย


กำลังโหลดความคิดเห็น