รายการ “ถอนหมุดข่าว” ทาง NEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันที่ 30 ก.ย.64 นำเสนอรายงานพิเศษ เปิดลึก คดีรังนก (2) สงครามธุรกิจการเมือง ศึกชิงอำนาจพื้นที่พัทลุง
เบื้องลึกเบื้องหลัง คดีรังนกพัทลุง ซึ่งแท้จริง เป็นสงครามธุรกิจและสงครามการเมือง แย่งชิงพื้นที่พัทลุงของนักการเมือง 2 ค่ายใหญ่ คือ ประชาธิปัตย์กับภูมิใจไทย
นับจากวันที่ 14 มิ.ย. 2564 เป็นต้นมา เกาะสี่เกาะห้า อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง ซึ่งเป็นแหล่งทำรังของนกแอ่น หมดอายุสัมปทานของบริษัทสยามเนสท์
เกาะรังนกในช่วงปลอดสัมปทาน ในระหว่างรอการยื่นประมูลครั้งต่อไป เป็นเวลานานกว่า 2 เดือน อยู่ภายใต้การดูแลของทางจังหวัด โดยมีการสนธิกำลังจาก 4 ฝ่าย ประกอบด้วย อส.ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ อบจ. เจ้าหน้าที่ป่าไม้ และตำรวจ รวม 60 นายต่อ 1 ผลัด ผลัดละ 5 วัน
มีปลัดจังหวัด เป็นหัวหน้าในภารกิจนี้ และมอบหมายให้ป้องกันจังหวัด เป็นหัวหน้าทีมอีกที
ทีมผสม 4 ฝ่ายดังกล่าว ต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในแพและขนำที่รายล้อมเกาะ เพื่อเฝ้าระวังการบุกรุกมาขโมยรังนกของโจรบางกลุ่มที่มีคนมีอิทธิพลหนุนหลัง
และเพื่อป้องกันไม่ให้มีการซูเอี๋ยะกัน จะจัดคละกำลังกันในแต่ละจุด ไม่ให้มีตำรวจอยู่กับตำรวจ หรือป่าไม้กับป่าไม้
โดยกำลังผสม 60 นายต่อผลัดดังกล่าว ถือว่าน้อยกว่าพนักงานที่บริษัทจัดวางไว้เฝ้ารอบเกาะ ถึงครึ่งต่อครึ่ง เนื่องจากงบประมาณของทางราชการไม่เพียงพอ ที่จะจัดคนให้เท่ากับฝ่ายของบริษัท
พื้นที่เกาะสี่เกาะห้า แหล่งรังนกเจ้าปัญหา ในเวลาน้ำลง สามารถเดินข้ามไปที่เกาะได้เลย โจรผู้ชำนาญพื้นที่ จึงสามารถฝ่าแนวเฝ้าระวังเข้าไปในตอนกลางคืน แล้วใช้ความเชี่ยวชาญ ปีนป่ายโหนเชือกไปตามหน้าผา ลอบขโมยรังนกในความมืด
กรณีเกิดคดีรังนกถูกขโมยที่เกาะสี่เกาะห้า สิ่งที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการ นอกจากนำร่องย้าย 4 นายตำรวจไว้ก่อน ก็ยังสอบสวนหาเงื่อนงำไปด้วย
ด้วยการเรียกบรรดาพนักงานของบริษัท สยามเนสท์ มาสอบปากคำประมาณ 60 คน
เนื่องจากสยามเนสท์ อ้างว่า ตอนหมดอายุสัมปทานเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้ทิ้งรังนกไว้กับถ้ำจำนวนมาก ไม่ได้ “แทง” เก็บรังรอบที่ 3 ของปีแต่อย่างใด ให้เหตุผลเพื่ออนุรักษ์พันธุ์นกไว้
แต่พอได้สัมปทานกลับมาอีกหน ในเดือน ก.ย. กลับพบร่องรอยการเผารมควันเพื่อขับไล่นกแอ่นออกไปจากถ้ำ ระบุเป็นความเสียหายใหญ่หลวงต่อสมบัติชาติ มีมูลค่าสูงถึง 5 พันล้านบาท
ผลจากการสอบปากคำคนของบริษัท ตำรวจกลับพบพิรุธเงื่อนงำอย่างจัง จากคำให้การที่ไม่ตรงกัน
กล่าวคือ ระดับหัวหน้างาน จะยืนยันปีนี้ บริษัทแทงเก็บรังไปแค่ 2 ครั้ง ไม่มีครั้งที่ 3 ตรงตามที่บริษัทให้ข่าว
แต่พนักงานระดับล่าง กลับบอกว่า มีการแทงรังครั้งที่ 3 บางคนระบุว่า แทงรังครั้งที่ 4 ด้วยซ้ำ
อีกขั้นตอนสำคัญ คือการตรวจดีเอ็นเอตามอุปกรณ์เผาไล่นกทั้งหลายที่ทิ้งไว้ตามถ้ำ อาจได้คำตอบที่ชัดเจนว่า งานนี้มีคนชั่วทำลายสมบัติชาติจริง
หรือโอละพ่อ เป็นของปลอมที่ถูกจัดฉากขึ้นมา?
จากคำให้การของพนักงานระดับล่าง นำมาสู่ข้อสันนิษฐานว่า จริงๆ แล้ว มีการแทงเก็บรังครั้งที่ 3 ด้วย ไม่ได้ปล่อยรังไว้เฉยๆ ในช่วงเดือนสุดท้ายก่อนหมดอายุสัมปทาน
โดยทั่วไปแล้ว การแทงเก็บรังนก จะกระทำ 3 ครั้งต่อปี ครั้งที่ 1 ประมาณต้นเดือน ก.พ. จะได้รังนกที่มีสีขาวสวยงามที่สุด ครั้งที่ 2 ประมาณเดือน พ.ค. รังจะมีสีคล้ำกว่าครั้งที่ 1
ทั้งนี้ การแทงรัง 2 ครั้งแรก จะชิงแทงตอนที่นกเพิ่งทำรังเสร็จ แต่ยังไม่ออกไข่ เพื่อบังคับให้นกต้องทำรังใหม่อีก ตามสัญชาตญาณของพวกมัน เมื่อพบว่ารังถูกทำลายไป
ครั้งที่ 3 ประมาณเดือน มิ.ย. ซึ่งครั้งนี้ จะมีการรอให้นกออกจากไข่ไปเรียบร้อย จึงค่อยแทงรัง เพื่อเป็นการอนุรักษ์และเพิ่มจำนวนประชากรของนกแอ่น แต่รังนกที่ได้ก็จะมีคุณภาพต่ำที่สุด
ส่วนช่วงหลังจากเดือน มิ.ย.เป็นต้นมา ตลอดฤดูฝน ถ้ำรังนกจะมีรังนกเหลืออยู่น้อยมาก ตามธรรมชาติ
มีคำถามว่า เป็นไปได้อย่างไร ที่บริษัทจะยอมทิ้งสินค้าล้ำค่าไว้คาถ้ำ ไม่แทงเก็บรังครั้งที่ 3 ก่อนจะหมดอายุสัมปทานในปีนี้ ทั้งที่ตัวเองจ่ายค่าประมูลไปถึง 450 ล้านบาท (2559-2564)
สมมติว่า มีการแทงเก็บรังนก ในช่วงเดือนสุดท้ายก่อนสิ้นสัมปทานดังกล่าว รังนกทั้งหมด จะไม่ต้องเสียภาษีให้กับทางราชการ เนื่องจากอยู่ในช่วงเวลาที่บริษัทแจ้งว่า ไม่มีการแทงรังนกแล้ว
เรื่องนี้จึงน่าติดตามยิ่งนัก เงื่อนงำซับซ้อนของคดีรังนก จะคลี่คลายออกมาแบบไหน
ขณะที่เก้าอี้ของพ่อเมืองพัทลุง ที่เป็นเป้าหมายเขย่าให้คลอน โดยการจุดพลุคดีรังนก จนบัดนี้ก็ยังมั่นคงเหมือนเดิม
สำหรับนกแอ่น ขุมทรัพย์กลางทะเลนี้ มีชื่อเป็นทางการว่า นกแอ่นกินรัง ถิ่นอาศัยอยู่ตามเกาะกลางทะเล รวมถึงตามแนวชายฝั่งทะเล
พฤติกรรมทำรังวางไข่ตามถ้ำ หรือแม้แต่ตึกที่มนุษย์สร้างขึ้นเลียนแบบถ้ำ รังที่ทำขึ้นจากน้ำลายนก มีมูลค่าสูงดังทองคำ ตามค่านิยมของคนจีน ที่เชื่อว่ารังนกแอ่นกินรัง เป็นยาชูกำลังชั้นยอด
แต่จากการวิจัยในแล็บของนักวิชาการไทย พบว่า รังนกแอ่นกินรัง 100 กรัม ประกอบด้วยโปรตีน ร้อยละ 54.0 คาร์โบไฮเดรต ร้อยละ 23.3 น้ำ ร้อยละ 16.8 ไขมัน ร้อยละ 0.3 และอื่นๆ เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส ร้อยละ 5.6
จะเห็นว่ารังนกไม่ได้มีตัวยาวิเศษใดๆ เป็นส่วนผสม
แต่กลับเป็นอาวุธหนัก มีฤทธิ์ทำลายล้าง ใช้ฟาดฟันกันทางการเมือง อย่างโคตรดุเดือด