“ข่าวลึกปมลับ”ออกอากาศทาง NEWS1 ล้วงปมลึก คลายปมลับ ตีแผ่ประเด็นร้อน กับ นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมือง และกระบวนการยุติธรรม วันจันทร์ที่ 27 กันยายน 2564 ตอน บิ๊กตู่ อยู่ยาวแค่ไหน ศาล รธน.คือคำตอบ
ถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีใครทราบแน่ชัดว่า สุดท้ายแล้ว พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะยังอยู่บนถนนการเมืองต่อไปหรือไม่ หากว่าอนาคตเกิดมีการยุบสภาฯ เกิดขึ้น จนทำให้รัฐบาลอยู่ไม่ครบเทอมในปี 2566 จนทำให้ต้องมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น
ถึงตอนนั้น พลเอกประยุทธ์จะยังคงให้พรรคการเมืองเสนอชื่อเป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีตอนเลือกตั้ง อีกรอบหรือไม่ เช่นเดียวกับกรณี หากอยู่ครบเทอม แล้วมีการเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้น พลเอกประยุทธ์ จะวางมือหรือไม่ เพราะหากเป็นนายกฯไปถึงปี 2566 ก็เท่ากับ พลเอกประยุทธ์ นั่งเป็นนายกฯ มายาวนานถึง9 ปี
ความไม่แน่ชัดดังกล่าว ว่าไปแล้ว ก็ไม่แปลก เพราะด้วยเงื่อนไข เวลาปฏิทินการเมือง ไม่ว่าจะมีการยุบสภา หรือรัฐบาลอยู่ครบเทอม นับจากปัจจุบัน มันก็ยังมีเวลาอีกนาน ทำให้ พลเอกประยุทธ์ ก็ไม่ต้องรีบร้อนอะไร ในการตัดสินใจ จนต้องประกาศออกมา ในเวลานี้
เพราะอย่างตอนเลือกตั้งปี 2562 กว่า พลเอกประยุทธ์ จะเซ็นชื่อให้พรรคพลังประชารัฐ เสนอชื่อตัวเองเป็นแคนดิเดทนายกฯ ก็ปาเข้าไปเกือบใกล้ๆ จะโค้งสุดท้ายของการยื่นรายชื่อต่อกรรมการการเลือกตั้งแล้ว
ด้วยเหตุนี้ คงไม่มีใครคาดได้ว่า พลเอกประยุทธ์ จะลงการเมืองต่อหรือไม่ คำตอบ ก็คงอยู่ในสายลม
แต่ระหว่างนี้ เกิดประเด็นทางข้อกฎหมายและบทบัญญัติทางรัฐธรรมนูญขึ้นมา หลังมีการโยนประเด็นออกมาจาก สุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้านจากพรรคเพื่อไทย ที่ตั้งข้อสังเกตุเรื่อง การอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พลเอกประยุทธ์หลังจากนี้ว่าจะอยู่ได้อีกนานแค่ไหน โดยยกรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน มาตรา 158 วรรคสี่ ที่บัญญัติว่า
“นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง”
ประธานวิปฝ่ายค้าน ชี้ประเด็นโดยยกวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯของ พลเอกประยุทธ์ ว่าหากนับจากวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ เข้ารับตำแหน่ง นายกฯ หลังที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติโหวตเห็นชอบ และต่อมามีการโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่ง ในวันที่25 สิงหาคม 2557
ดังนั้น พลเอกประยุทธ์ ก็จะต้องครบการเป็นนายกฯ 8 ปี ในเดือนสิงหาคม ปีหน้า 2565 ไม่สามารถเป็นได้นานเกินกว่านั้น
ถือเป็นประเด็นที่น่าสนใจ คาดว่าส.ส.ฝ่ายค้าน หรือสมาชิกรัฐสภา ทั้งส.ส.และสว. จะ เข้าชื่อกันยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ประเด็นนี้แน่ เพื่อคลายความคลุมเคลือและทำให้เกิดบรรทัดฐานทางข้อกฎหมาย
และมีทางที่ ศาลรัฐธรรมนูญ จะวินิจฉัยให้ การนับเวลาการเป็นนายกฯ ของพลเอกประยุทธ์ ให้นับจาก วันได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯ เมื่อสิงหาคมปี 2557 ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
โดยประเด็นนี้ แม้แต่ กุนซือใหญ่ด้านกฎหมายของพลังประชารัฐ อย่างนายไพบูลย์ นิติตะวัน ยังชี้ว่า เมื่อไม่เขียนไว้ชัดเจนในบทเฉพาะกาล จึงเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องใช้วิธีการตีความพิจารณา รัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง
คือ มาตรา 158 วรรค 4 นายกจะดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 8 ปีกับ มาตรา 170 เหตุให้รัฐมนตรีสิ้นสุดลง ภายใต้การพิจารณาเรื่อง เจตนารมณ์ของผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นสำคัญ
จึงต้องไปดูว่า ผู้ยกร่างรธน.ฉบับปัจจุบัน คือ กรรมการร่างรธน.ชุดมีชัย ฤชุพันธุ์ มีจุดมุ่งหมายอย่างใด ถึงเขียนล็อกไว้ว่าให้คนเป็นนายกฯ ได้ไม่เกินแปดปี ติดต่อกัน
และมาตราที่สำคัญ คือ มาตรา264 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ในมาตรา 264 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ด้วย
จึงมีความว่า ต้องนับต่อเนื่องรวมกันตลอดระยะเวลาที่มีความเป็นนายกรัฐมนตรี ครบ 8 ปีเมื่อไหร่ ก็จบ
ถ้ามองรัฐธรรมนูญตรงไปตรงมาแบบนี้ ก็จะสอดคล้องกับหลักนิติธรรมหรือ Rule of Law ที่เป็นมาตรฐานสากล และสอดคล้องกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะหรือประโยชน์ของประเทศชาติที่ไม่ควรต้องมารองรับความเสี่ยง ต่อการใช้อำนาจโดยมิชอบจากการยึดครองอำนาจนานเกินไป
ลำพังตามมาตรา 158 ยังไม่ใช่หมัดน๊อคพลเอก ประยุทธ์ เพราะตามหลักนิติธรรม กฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง ยกเว้นในทางเป็นคุณ ถึงจะมีผลย้อนหลังได้ แต่มาตรา264 กำหนดไว้ให้นับสถานะรัฐมนตรี รัฐบาล คสช. เป็นรัฐมนตรีที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ2560 ด้วย
เมื่อกำหนดรัฐธรรมนูญ ตาม มาตรา264 ไว้อย่างไรก็ต้องเป็นไปตามนั้น ก็เป็นสิทธิ์ที่จะตีความได้ แต่อีกฝ่ายกลับมองว่า มาครา264 เขียนไว้มี
วัตถุประสงค์ คือการรักษาการณ์เพื่อรอรัฐมนตรีใหม่ เป็นเรื่องปกติที่ต้องกำหนดให้เป็น รัฐมนตรีตาม รธน. นี้ เพื่อสืบต่อตำแหน่งที่มีที่มาต่างกัน
การนับวาระไม่ได้กำหนดให้นำมาใช้ได้ จะตีใช้กฎหมายให้เป็นผลร้ายไม่ได้ครับ
พลเอกประยุทธ์ จะอยู่ได้ยาวอีกแค่ไหน เรื่องนี้คำตอบต้องอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ จะตีความชี้ขาดอย่างไร