xs
xsm
sm
md
lg

ศาลฎีกายกฟ้องวิศวกร คดีแก๊สระเบิดชั้นใต้ดินตึก SCB คนงานตาย 8 เมื่อปี 59 ชี้ไม่เป็นการกระทำโดยประมาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



ศาลฎีกาพิพากษา ยกฟ้องวิศวกรคดีแก๊สระเบิด ที่ชั้นใต้ดิน สำนักงานใหญ่แบงก์ไทยพาณิชย์ คนงานตาย 8 เมื่อปี 59 ชี้ ไม่เป็นการกระทำโดยประมาท

เมื่อเวลา 09.00 น.วันนี้ (23 ก ย.) ที่ห้องพิจารณา 811 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา คดีสารเคมีระบบดับเพลิง ไพโรเจนฟุ้งกระจายจนมีผู้เสียชีวิต ที่สำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เมื่อคืนวันที่ 13 มี.ค. 2559 จนมีผู้เสียชีวิต 8 ราย และบาดเจ็บ คดีหมายเลขดำ อ.1764/2559 ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญา 7 และครอบครัวของนายวิรัช ดีดพิณ, นายพีรพัฒน์ กอยประโคน, น.ส.กรรณิการ์ ประจิตร์ หรือ สินศิริ คนงานที่เสียชีวิตระหว่างติดตั้งระบบป้องกันอัคคีภัย ร่วมกันเป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นาย ณ พงษ์ สุขสงวน อายุ 49 ปี ประธานกรรมการบริษัท เมก้า แพลนเน็ต จำกัด, นายอดิศร โฟดา อายุ 55 ปี ผู้บริหาร บจก.เมก้า แพลนเน็ต, นายจิระวัฒน์ เปรมปรีดิ์ อายุ 34 ปี วิศวกรโครงการปรับปรุงระบบป้องกันอัคคีภัยของ บจก.เมก้าฯ, นายสมคิด ตันงาม อายุ 63 ปี กก.บจก.โจนส์ แลงฯ, นายสมคิด จันทร์หอม อายุ 40 ปี หัวหน้าช่าง บจก.โจนส์ แลงฯ, นายตรีภพ ยังประเสริฐกุล อายุ 41 ปี ผู้จัดการดูแลอาคาร บจก.โจนส์ แลงฯ, น.ส.ขจรจิตร พรหมดีราช อายุ 49 ปี พนักงานบริษัท เอบิต มัลติซิสเต็ม จำกัด ที่รับช่วงต่อจาก บจก.เมก้า แพลนเน็ต ควบคุมดูแลการวางท่อระบบดับเพลิงภายในอาคาร, นายบุญเสริม กระจาด อายุ 40 ปี วิศวกร บจก.เอบิต มัลติซิสเต็ม ที่คุมคนงาน, บริษัท เมก้า แพลนเน็ต จำกัด โดย นาย ณ พงษ์ สุขสงวน และ นายอดิสร โฟดา กรรมการผู้มีอำนาจ, บริษัท โจนส์ แลง ลาซาลล์ แมนเนจเม้นท์ จำกัด โดย นายสมคิด ตันงาม กรรมการผู้มีอำนาจ เป็นจำเลยที่ 1-10 ในความผิดฐานร่วมกันกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และได้รับอันตรายแก่กายและอันตรายสาหัส ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300, 390

คดีนี้ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2560 เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1-2 ซึ่งเป็นผู้บริหาร บจก.เมก้าฯ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง แต่มีหน้าที่กำกับดูแล ให้ บจก.เมก้าฯ จำเลยที่ 9 รักษาความปลอดภัย ขณะที่ “นายจิระวัฒน์” วิศวกรโครงการปรับปรุงระบบป้องกันอัคคีภัยของ บจก.เมก้าฯ จำเลยที่ 3 เป็นหัวหน้างานมีหน้าที่ต้องควบคุมดูแลความปลอดภัย แต่กระทำโดยประมาทไม่ปิดระบบดับเพลิงเดิม ไม่ควบคุมในที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 1, 2, 3, 9 จึงมีความประมาทร่วมด้วย ทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตขึ้น ให้ลงโทษฐานร่วมกันกระทำประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ได้รับอันตรายแก่กายและอันตรายสาหัส ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นบทหนักสุด จำคุกจำเลยที่ 1-3 คนละ 2 ปี และปรับคนละ 20,000 บาท แต่เนื่องจากจำเลยที่ 1-3 ไม่เคยต้องโทษมาก่อน อีกทั้งความประมาทที่เกิดขึ้นในการปิดระบบดับเพลิงเดิม ก็นอกเหนือจากความสามารถของจำเลย จึงเห็นควรให้โอกาสจำเลยโดยโทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้คนละ 2 ปี

ส่วน บจก.เมก้าฯ จำเลยที่ 9 ให้ปรับ 20,000 บาท และจำเลยที่ 1-3, 9 ร่วมกันชดใช้เงินญาติผู้ตายที่เป็นโจทก์ร่วมด้วย 5 คน รวม 2.1 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันเกิดเหตุ 13 มี.ค. 2559 ส่วนจำเลยที่ 4-8 และ 10 พิพากษายกฟ้อง

ต่อมาอัยการโจทก์ ยื่นอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ พิพากษาแก้ เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2562 เป็นว่า ให้ยกฟ้อง นาย ณ พงษ์ และ นายอดิศร จำเลยที่ 1-2 และยกคำร้องที่บังคับให้จำเลยที่ 1-2 ชดเชยค่าสินไหมทดแทนด้วย ให้ นายจิระวัฒน์ จำเลยที่ 3 และบริษัท เมก้าฯ จำเลยที่ 9 ชำระดอกเบี้ย แก่โจทก์ร่วมที่ 1 นับจากวันฟ้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

พนักงานอัยการโจทก์-โจทก์ร่วม และ จำเลยที่ 3, 9 ยื่นฎีกา

โดยในวันนี้ นายจิระวัฒน์ จำเลยที่ 3 และผู้บริหาร บริษัท เมก้า แพลนเน็ต จำกัด จำนวน 2 คน ที่เป็นจำเลยที่ 9 เดินทางมาฟังคำพิพากษา พร้อมญาติและบุคคลใกล้ชิดที่เดินทางมาร่วมให้กำลังใจ

ศาลฎีกาตรวจสำนวนปรึกษาหารือกันแล้ว เห็นว่า ตามรายงานกองพิสูจน์หลักฐาน สันนิษฐานว่า ระบบทำงานเนื่องจาก Smoke Detector ตรวจจับฝุ่นควันได้ แต่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าการทำงานเกิดจากการตรวจจับฝุ่นควันได้จริงหรือไม่ ไม่มีข้อมูลว่าก่อนเกิดเหตุธนาคารจะมีการปิดระบบไพโรเจนหรือไม่ จากคำเบิกความของพยานแสดงให้เห็นว่าระบบดับเพลิงเดิมมีปัญหาในการทำงาน ไม่ได้มีการตรวจสอบให้แน่ชัดว่าเหตุที่เกิดขึ้น เกิดด้วยสาเหตุใดแน่ น่าสงสัยว่า มีการปิดสวิตช์ระบบดับเพลิงตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุหรือไม่ เนื่องจากพบว่าสวิตช์ปิดอยู่ แต่ไม่มีพยานผู้ใดเบิกความว่ามีการปิดสวิตช์ภายหลังเกิดเหตุแล้วพยานหลักฐานที่โจทก์ร่วมนำสืบมา จึงยังไม่อาจรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า ในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 3 มิได้มีการแจ้งให้มีการปิดระบบดับเพลิงเดิมอันเป็นการกระทำโดยประมาทของจำเลยที่ 3 ตามฟ้องตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 3 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 227 วรรคสอง เมื่อได้ความดังกล่าวแล้วถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 9 กระทำการโดยประมาทด้วยเหตุดังกล่าวเช่นเดียวกันกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ดังนี้ จำเลยที่ 3 และที่ 9 จึงไม่ต้องชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมที่ 1 ที่ 2 ที่ 6 ที่ 10 และที่ 11 ฎีกาของจำเลยที่ 3 และที่ 9 ฟังขึ้นส่วนฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 9 เสียด้วย ยกคำร้องขอให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ร่วมที่ 1 ที่ 2 ที่ 6 ที่ 10 และที่ 11 ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาสอุทธรณ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังศาลอ่านคำพิพากษายกฟ้อง นายจิระวัฒน์ จำเลยที่ 3 และผู้บริหาร บริษัท เมก้า แพลนเน็ต จำกัด จำเลยที่ 9 ต่างมีใบหน้ายิ้มแย้มดีใจ เสร็จแล้วจึงพากันขึ้นรถเดินทางกลับไปโดยไม่ให้สัมภาษณ์แต่อย่างใด




กำลังโหลดความคิดเห็น